ความหลากหลายทางเพศกับสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกัน

สังคมไทยแม้ว่า จะเปิดกว้างให้กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่การเปิดกว้างนั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข หรือได้รับสิทธิเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่น ๆ สังคมไทยต้องทำความเข้าใจว่าอัตลักษณ์ทางเพศนั้นมีความหลากหลาย และทุกคน ๆ ไม่ว่าจะหญิง ชาย เกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล หรือคนข้ามเพศ ก็ควรมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันนี้ คือ ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเป็นรอง และเพศที่สามเป็นสิ่งผิดปกติที่คนส่วนมากไม่ยอมรับ[1] การละเมิดสิทธิของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ได้แก่ การวิสามัญฆาตกรรม การทรมาน การทารุณ การทำร้ายทางเพศและการข่มขืน การล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การกักขังหน่วงเหนี่ยว การถูกปฏิเสธการจ้างงาน และโอกาสในการศึกษา ตลอดจนการเลือกปฏิบัติขั้นรุนแรงเพราะการได้รับสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ การละเมิดสิทธิเหล่านี้มักจะถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วย ความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ความจงเกลียดจงชัง การเลือกปฏิบัติ และการกีดกันเพราะเชื้อชาติ อายุ ศาสนา ความพิการ หรือสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม หรือสถานะอื่น ๆ[2]

ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้นได้ให้การยอมรับว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ดังจะเห็นได้ จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ได้วางหลักไว้ว่า

ข้อ 1. มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ

ข้อ 2. (1) ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพบรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใด ๆ ดังเช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่นเผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ

รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคลเอาไว้ในมาตรา 30 โดยมีหลักว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน”[3]

จากหลักกฎหมายที่ได้นำมากล่าวอ้างนี้ จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างทางเพศนั้นไม่เป็นข้ออ้างในการที่จะเลือกปฏิบัติกับบุคคลอื่น แม้ในปัจจุบันนี้ เหล่าบรรดารักเพศเดียวกันนั้นจะได้มีการยอมรับว่า มีตัวตนอยู่ในสังคม และมีสิทธิมากขึ้นมากกว่าเดิมแต่ก็ยังมีสิทธิบางประการที่กลุ่มคนเหล่านี้ยังคงถูกเลือกปฏิบัติจากคนในสังคมที่เห็นได้ชัด ก็คือ

สิทธิในร่างกาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 วางหลักว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิ เสรีภาพในชีวิต และร่างกาย” แต่เนื่องจาก บุคคลภายนอกมักจะมองคนกลุ่มนี้ว่า แตกต่างจากตน จึงมีผู้ที่นึกสนุกในการที่จะกลั่นแกล้งคนกลุ่มนี้ รวมถึงเหล่ากลุ่มคนรักเพศเดียวกันนี้มักถูกละเมิดทางเพศ ดังจะเห็นได้จากเทศกาลสงกรานต์ กลุ่มคนรักเพศเดียวกันไปเล่นน้ำกันแล้วก็มักจะถูกกลุ่มคนเพศชายไปรุมแกล้งต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกาย ซึ่งบางคนอาจถูกลวนลามโดยการจับหน้าอก โดยที่ผู้กระทำนั้นคิดว่า ไม่เป็นอะไรเพราะเป็นผู้ชายเหมือนกัน แต่ผู้ที่ถูกกระทำมักคิดว่า ตนถูกละเมิดทางเพศแต่ก็ไม่สามารถที่จะอะไรได้ แม้จะแจ้งตำรวจให้ดำเนินการก็มักจะถูกเพิกเฉย

สิทธิในการสมรส ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ระบุเรื่องสิทธิของการสมรส

ตามกฎหมายไทยในปัจจุบัน บทบัญญัติมาตรา 1448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 บัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์” (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448, 2535) ดังนั้น การสมรสจึงกระทำได้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ตามกฎหมายไทยตั้งแต่สมัยอดีตไม่ยอมรับการแต่งงานหรือการสมรสของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน โดยมีการออกกฎหมายกำหนดโทษบุคคลที่มีความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกันอันเป็นการต่อต้านกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ส่วนกฎหมายไทยในปัจจุบัน ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะถึงความผิดของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ว่า มีความผิดเหมือนในอดีต แต่อย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ก็ไม่บัญญัติรับรองการสมรสของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเพศตามมาตรา 1448 ให้การสมรสกระทำได้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น ดังนั้น กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจึงไม่มีสิทธิที่จะสมรส เช่นเดียวกับพวกต่างเพศ[4]

จะเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดไว้แค่ชายและหญิงเท่านั้น หากแม้เหล่าบรรดากลุ่มคนรักร่วมเพศ จะได้มีการจัดงานมงคลสมรสขึ้นมาดังที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มาตลอด แต่ก็เป็นเพียงการสมรสตามแบบพิธี เท่านั้นยังไม่ถือว่า การสมรสนั้นถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจาก กฎหมายไทยกำหนดให้การสมรสจะมีผลต่อเมื่อได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วเท่านั้น

กลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทยจึงได้มีการเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.คู่ชีวิตขึ้น ซึ่งเป็นเพราะ พ.ร.บ.ที่จะรับรองสิทธิให้กับคู่ที่จะจดทะเบียนภายใต้ พ.ร.บ.นี้ ซึ่งในการแบ่งสมบัติเมื่อเกิดการหย่าร้าง รับรองสิทธิในการเยี่ยมเยียนคู่ชีวิตของตนเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดการเจ็บป่วย หรือเป็นผู้รับสมบัติของคู่ชีวิตที่เสียชีวิตไป เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากพบว่า คู่รักร่วมเพศหลายคู่ที่กระนั้นแม้ว่า จะใช้ชีวิตร่วมกันมานานนับเป็นสิบปี แต่กลับไม่ได้รับสมบัติที่ได้ร่วมหามาด้วยกัน เมื่อครั้งตอนที่คู่ครองมีชีวิตอยู่ โดยสมบัติเหล่านั้นควรต้องตกทอดไปให้ญาติของผู้เสียชีวิต แต่เนื่องจากไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิและสถานภาพของคู่ชีวิต และบางคนไม่ได้รับอนุญาตให้เฝ้าไข้คู่ชีวิตของตน ซึ่งแม้จะพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ด้วยเนื่องจาก ไม่ใช่สามี ภรรยา หรือญาติ

สิทธิในการทำงานอย่างยุติธรรม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้วางหลักเกี่ยวกับสิทธิในการทำงานเอาไว้ว่า

ข้อ 23 (1) ทุกคนมีสิทธิในการงาน ในการเลืองงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรมและเป็นประโยชน์แห่งการงานและในการคุ้มครองต่อการว่างงาน (2) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ (3) ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับสินจ้างที่ยุติธรรมและเป็นประโยชน์ที่จะให้ประกันแก่ตนเองและครอบครัวแห่งตน ซึ่งความเป็นอยู่อันคู่ควรแก่เกียรติศักดิ์ของมนุษย์และถ้าจำเป็นก็จะต้องได้รับวิถีทาง คุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย (4) ทุกคนมีสิทธิที่จะจัดตั้ง และที่จะเข้าร่วมสหพันธ์กรรมกร เพื่อความคุ้มครองแห่งผลประโยชน์ของตน

แต่ในความเป็นจริงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมักถูกกีดกันหรือถูกห้ามไม่ให้ทำงานบางประเภทหรือแม้กระทั่ง ได้รับเงินค่าจ้างน้อยกว่าคนอื่น ปัญหานี้เกิดจากการไม่ยอมรับในความเป็นเพศที่ผิดปกติ ทำให้สถานที่ทำงานหลายแห่งปฏิเสธการรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางนี้เข้าทำงานถึง แม้ว่าจะมีความสามารถเทียบเท่าหรือมากกว่าเพศปกติ ดังจะเห็นได้จากข่าวที่มีกำหนดคุณสมบัติของนักศึกษาแพทย์ว่าไม่รับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเข้าเรียน ห้ามไม่ให้เหล่าบรรดาครูกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางสอนเด็กนักเรียน เนื่องจาก กลัวเด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบสาวประเทศสอง ถูกยกเลิกสัญญาจ้างงานโดยบริษัทอ้างว่า เพราะแต่งกายเป็นหญิง เป็นต้น

สิทธิในการได้รับโอกาสและการปฏิบัติที่เท่าเทียมนั้นเป็นพลังให้กลุ่มรักเพศเดียวกันได้พัฒนาตัวอย่างมีศักยภาพ และได้ค่าตอบแทนตามกำลังความสามารถของตนเพื่อมาเลี้ยงตน และครอบครัวการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคมีเหตุผลที่ดีในทางธุรกิจ กล่าวคือ การปลดปล่อยแนวปฏิบัติในการจ้างงานจากอคติจะเปิดทางให้บริษัทได้พัฒนาและเข้าถึงแหล่งแรงงานที่ความสามารถและพรสวรรค์โดยเต็มที่ และยกระดับการเข้าถึงตลาดที่ให้ผลประโยชน์ในโลกปัจจุบัน เศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ คือ เศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่เต็มศักยภาพ และการขจัดการเลือกปฏิบัติในโลกแห่งการทำงาน ถือเป็นหนึ่งในกติกาขั้นพื้นฐาน

สิทธิต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิทธิที่ขาดหายไปของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน รวมถึงได้มีการเรียกร้องสิทธิทั้งหลายนี้ของกลุ่มรักเพศเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ รวมถึงได้มีการเรียกร้องสิทธิทั้งหลายนี้ของกลุ่มรักเพศเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ แม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้ที่เสียภาษีให้แก่รัฐเหมือนกับคนอื่น ๆ รวมถึงการไม่ได้รับการยอมรับในบางสังคม เพียงเพราะคนในสังคมนั้นมองว่า คนเหล่านี้เป็นพวกผิดปกติ เป็นที่น่ารังเกียจ โดยลืมนึกไปว่า คนเหล่านี้ก็เป็น มนุษย์คนหนึ่งอย่างไรก็ตามเราก็ควรเคารพสิทธิมนุษยชนของพวกเขาเหล่านั้นในฐานะมนุษย์เหมือนเราเช่นกัน จะเห็นได้ว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกจำกัดสิทธิทางกฎหมายในหลาย ๆ ด้าน เสียภาษีเหมือนกันแต่ทำไมไม่ได้รับสิทธิเหมือนคนอื่น และการที่เรามีคู่ครองเป็นเพศเดียวกันมันก็ไม่ใช่ความผิดกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางจะมุมานะทำงานเพื่อให้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี เพราะต้องการการยอมรับจากสังคม เมื่อตำแหน่งสูงขึ้น เงินเดือนมากขึ้น จ่ายภาษีมากขึ้น แต่กลับไม่มีสิทธิรับสวัสดิการต่าง ๆ เหมือนชายหญิงทั่วไป


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ ความไม่เท่าเทียมในสิทธิกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ. โดยสิริวิมล พยัฆษี มหาวิทยาลัยนเรศวร

[1] อดิศา เหล่ารักวงษ์, 2560. เท่าเทียมทางเพศ ช่องว่างที่ยังห่างในสังคมไทย. จาก http://www.ictsilpakorn.com/ictmedia/detail.php?news_id=131#.WLln-o9OLIU Jackson,P.A. (1997) . Male Homosexuality in Thailand : An interpretation of contemporary Thai sources. New York : Global Academic Published .

[2] หลักการยอกยาการ์ตาและการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลว่าด้วยวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ, 2556.จาก : http://www.yokyakartaprinciples. org/principles_en.pdf, หน้า 6

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. 2550. ราชกิจจานุเบกษา. มาตรา 30. เล่มที่ 124 ตอน 47 ก. หน้า 8.

[4] ณนุช คำทอง, 2546. การสมรสของพวกรักร่วมเพศ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *