จักรราศี และเรือนชะตา

“จักรราศี” คือ ทางเดินของดาวเคราะห์ทั้งหลาย เนื่องจาก โหราศาสตร์ดวงดาวเป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ที่ใช้โลกทัศน์แบบโบราณ คือ “โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล” ตำแหน่งดาวเคราะห์ทั้งหลายที่เคลื่อนที่ไปจึงเป็นตำแหน่งที่เทียบกับโลก เส้นทางที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้าเรียกว่า “สุริยวิถี หรือ วริมรรค” ดาวเคราะห์ต่าง ๆ ก็เคลื่อนอยู่ในแถบบริเวณสุริยวิถีนี้ แถบสุริยวิถีมีฉากหลังเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ โบราณแบ่งแถบนี้ออกเป็น 12 ส่วนเรียกว่า “จักรราศี” โดยการอาศัยกลุ่มดาวฤกษ์นี้เป็นเครื่องบอกตำแหน่ง โหรจะสามารถกำหนดได้ว่า ดาวเคราะห์แต่ละดวงโคจรอยู่ที่ตำแหน่งใด หรืออยู่ในราศีใด จากการสังเกตและบันทึกมาตั้งแต่โบราณแต่ละราศีจะปรุงแต่งความหมายของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามลักษณะของราศีที่ดาวเคราะห์นั้นโคจรอยู่ ความหมายของราศีต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

  • ราศีเมษ หมายถึง กล้า รักการผจญภัย รักการเสี่ยง
  • ราศีพฤกษ หมายถึง ชอบสะสมบริโภค ชอบความมั่นคง ปฏิบัตินิยม
  • ราศีมิถุน หมายถึง มีเหตุผล คล่องแคล่งว่องไว
  • ราศีกรกฎ หมายถึง มีความรู้สึกไว รักบ้านและครอบครัว
  • ราศีสิงห์ หมายถึง รักการเป็นผู้นำ รักอิสระ
  • ราศีกันย์ หมายถึง มีความละเอียดรอบคอบ สนใจรายละเอียด ชอบบริการ
  • ราศีตุล หมายถึง ชอบความงาม ศิลปะ เข้ากับคนได้ง่าย
  • ราศีพิจิก หมายถึง มีอารมณ์สุดโต่ง รักจริงเกลียดแรง ชอบความลึกลับ
  • ราศีธนู หมายถึง ใจดี ใจกว้าง รักการเดินทาง สนใจด้านปรัชญา
  • ราศีมกร หมายถึง ระมัดระวัง ประหยัด ทะเยอทะยาน
  • ราศีกุมภ์ หมายถึง รักเพื่อนมนุษย์ เป็นตัวของตัวเอง
  • ราศีมีน หมายถึง อารมณ์อ่อนไหว มีจินตนาการ ชอบปลีกตัว

นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งจักรราศีออกเป็นเพศชาย (หยาง) กับเพศหญิง (หยิน) แบ่งตามธาตุทั้ง 4 คือ ไฟ ดิน ลม น้ำ และแบ่งตามคุณภาพ คือ จรราศี สถิรราศี และอุภยราศี ซึ่งมีความหมายตามลักษณะที่แบ่งดังนี้

  • ราศีเพศชาย ได้แก่ ราศีเมษ ราศีมิถุน ราศีสิงห์ ราศีตุล ราศีธนู ราศีกุมภ์ มีลักษณะชอบแสดงออก
  • ราศีเพศหญิง ได้แก่ ราศีพฤกษ ราศีกรกฎ ราศีกันย์ ราศีพิจิก ราศีมกร ราศีมีน มีลักษณะไม่แสดงออก
  • ราศีธาตุไฟ ได้แก่ ราศีเมษ ราศีสิงห์ ราศีธนู มีลักษณะกระฉับกระเฉง กระตือรือร้น ชอบการผจญภัย เข้ากับคนได้ง่าย และมองโลกในแง่ดี
  • ราศีธาตุดิน ได้แก่ ราศีพฤกษ ราศีกันย์ ราศีมกร มีลักษณะ แน่วแน่ ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง อยู่ในโลกของความจริง ชอบการปฏิบัติ
  • ราศีธาตุลม ได้แก่ ราศีมิถุน ราศีตุล ราศีกุมภ์ มีลักษณะชอบคิด สนใจกิจกรรมทางสติปัญญา สื่อสารและใช้ความคิดได้ดี
  • ราศีธาตุน้ำ ได้แก่ ราศีกรกฎ ราศีพิจิก ราศีมีน มีลักษณะรู้สึกไว อารมณ์อ่อนไหว เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความสร้างสรรค์และความสามารถทางจิต
  • จรราศี ได้แก่ ราศีเมษ ราศีตุล ราศีกรกฎ ราศีมกร มีลักษณะมีพลังสูง ชอบการริเริ่ม
  • สถิรราศี ได้แก่ ราศีพฤกษ ราศีสิงห์ ราศีพิจิก ราศีกุมภ์ มีลักษณะ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ตั้งใจมั่น และดื้อดึง
  • อุภยราศี ได้แก่ ราศีมิถุน ราศีกันย์ ราศีธนู ราศีมีน มีลักษณะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ง่าย และชอบการเปลี่ยนแปลง

เรือนชะตา

“เรือนชะตา” เกิดจากโลกหมุนรอบตัวเอง ทำให้ท้องฟ้าหมุนครบรอบในหนึ่งวัน จุดขอบฟ้าบนจักรราศีทางทิศตัวออกขณะที่บุคคลเกิดเรียกว่า “ลัคนา” จากจุดลัคนานี้แบ่งท้องฟ้า ออกเป็น 12 ส่วน ซึ่งมีการคำนวณหลายวิธี เรียกว่า “12 เรือนชะตา” ลัคนาเป็นจุดเริ่มของเรือนที่ 1 เมื่อดาวเคราะห์โคจรอยู่ในเรือนชะตาใด ความหมายของดาวจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเรือนชะตานั้น ซึ่งแต่ละเรือนชะตามีความหมายโดยสรุป ดังนี้

  • เรือนชะตาที่ 1 หมายถึง บุคลิกภาพ ร่างกาย สุขภาพโดยรวม
  • เรือนชะตาที่ 2 หมายถึง รายได้ การเงิน ทรัพย์สมบัติ
  • เรือนชะตาที่ 3 หมายถึง ญาติพี่น้อง ความสัมพันธ์ การติดต่อสื่อสาร
  • เรือนชะตาที่ 4 หมายถึง บ้าน ครอบครัว ชีวิตส่วนตัว
  • เรือนชะตาที่ 5 หมายถึง บุตรหลาน ความสนุกสนาน ความรัก
  • เรือนชะตาที่ 6 หมายถึง ลูกน้อง การบริการ สุขภาพ
  • เรือนชะตาที่ 7 หมายถึง คู่ครอง คู่สัญญา หุ้นส่วน
  • เรือนชะตาที่ 8 หมายถึง ความตาย การสูญเสีย
  • เรือนชะตาที่ 9 หมายถึง การเดินทางไกล การสำรวจ ความคิดเชิงปรัชญา
  • เรือนชะตาที่ 10 หมายถึง สถานะทางสังคม อาชีพ เป้าหมายชีวิต
  • เรือนชะตาที่ 11 หมายถึง ความหวัง เพื่อนฝูง สมาคม
  • เรือนชะตาที่ 12 หมายถึง การจำกัดขอบเขต ศัตรูลับ ความเจ็บไข้ได้ป่วย

ที่มาบทความ จักรเทพ รำพึงกิจ (2551) การศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทที่มีต่อโหราสาสตร์ในยุคปัจจุบัน.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *