ความรัก สันติภาพหรือความรุนแรง

หากผู้ใดสามารถนิยามความหมายของคำว่า “รัก” ออกมาได้ ท่านว่า ผู้นั้นยังไม่เข้าใจความรักเลยแม้ซักนิดเดียว ซึ่งเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพราะความรักนั้น ไร้นิยาม ไร้เจ้าของ ไร้สีกลิ่นรส และไร้ขอบเขต ในขณะที่เรามนุษย์ทั้งหลายต่างก็ยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า ความรักนั้นดำรงอยู่สามารถสัมผัสแลเข้าถึงได้ แต่ทำไม? เราถึงยังไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับความรักเลย ทั้งนี้ เพราะว่า ความเป็นจริงแล้วความรักไม่ได้อาศัยหรือดำรงอยู่ได้เพราะมนุษย์ หากแต่มนุษย์เองที่ต้องพึ่งพาความรักในการดำรงอยู่ หรืออาจจะกล่าวอย่างง่าย ๆ ว่า ความรักนั้นมีอยู่มนุษย์ มีอยู่ในธรรมชาติ บริสุทธิ์และสวยงามอยู่แล้ว มนุษย์เองต่างหากที่จะต้องพยายามเข้าถึงอย่างเคารพต่อความรัก

เมื่อช่วงเทศกาลวันแห่งความรักมาถึงทีไร มักมีผู้หลักผู้ใหญ่หรือมีผลการวิจัยออกมาตีแผ่สังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนอยู่เสมอว่า มีการแสดงออกซึ่งความรักอย่างไม่เหมาะสม หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมจริยธรรม ยังผลให้เกิดปัญหาสังคมในรูปแบบอื่น ๆ ตามมาเช่น การแต่งงานก่อนวัยอันควร การทำแท้ง การฆาตกรรม การข่มขืน การทำร้ายร่างกาย เป็นต้น ซึ่งเป็นความรุนแรงที่ถือว่า เป็นการมองข้ามเหตุแต่กลับไประบุที่ผลมากกว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความรัก อันจะนำไปสู่การผสานความรักเข้ากับชีวิตเพื่อสันตาภพของมวลมนุษย์

เมื่อสังคมบิดงอความรักอย่างรุนแรงเช่นนี้ เราน่าจะถือโอกาสเอาวันแห่งความรักนี้สร้างเข้าใจร่วมหรือเปิดพื้นที่ให้กับความรัก ถือเป็นการนำวิกฤติมาสร้างโอกาส เพื่อพลิกฟื้นอคติเชิงลบมาเป็นบวก เพื่อปรับเปลี่ยนจากความรุนแรงมาสู่การสร้างสันติภาพและหยิบยื่นความรักที่ดีงามให้แก่กันและกัน

ความรักนั้นหากจะกล่าวอย่างกว้าง ๆ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ความรักต่อตนเองหนึ่ง และความรักต่อคนอื่นหรือสิ่งรอบข้างอีกหนึ่ง แต่ละคนต่างก็มีความรักทั้ง 2 แบบนี้ ตามแบบฉบับของตนเองอยู่แล้ว ซึ่ง ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ท่านได้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งไว้ว่า “หากเรารักตัวเอง แน่นอนว่า เรานั้นกำลังรักในสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำที่มีอยู่ถึง 3 ใน 4 ส่วนของร่างกายเรา ดังนั้น เมื่อเรารักตัวเองก็แสดงว่า เรารักน้ำในตัวเอง เมื่อเป็นดังนี้ เราก็จะต้องรักน้ำในแม่น้ำลำคลอง น้ำในทะเลในมหาสมุทร น้ำที่กลายเป็นไอเป็นความชื้น เป็นหมอกเป็นเมฆ และน้ำในร่างกายของบุคคลอื่นด้วยเช่นกัน”

นอกจากนั้น ความรักแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1) ระดับปัจเจกชน หมายถึง ความรักของบุคคลที่เป็นพื้นฐานของชีวิต เช่น รักพ่อรักแม่ ญาติพี่น้อง รักเพื่อน รักเพศตรงข้าม รักสัตว์เลี้ยง รักต้นไม้ ฯลฯ ถือเป็นความรักในระดับชั้นของกิเลส ที่มีการปรุงแต่งของอารมณ์ ซึ่งเราทุกคนสัมผัสอยู่ในทุกเวลา 2) ระดับสากล เป็นความรักที่กว้างขึ้น ปลดปล่อยจากความเป็นตัวตนมากขึ้น ถือเป็นความรักขั้นสูงสุดที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม ซึ่งถือได้ว่า เป็นความรักในจินตนาการที่ต้องอ้อนวอนร้องขอ เกิดขึ้นจากการปลุกฝังความเชื่อและความศรัทธา ที่ทุกคนถือว่า เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เป็นหน้าที่และความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติในการเข้าถึงความรักนั้น

จากความรักทั้ง 3 ระดับนั้น จะเห็นว่า ในระดับต้นนั้น เป็นระดับที่มีการผสมผสานความต้องการของกิเลส ทำให้ความรักในระดับนี้มีความคลุมเครือหลากหลาย และไวต่อความรู้สึก สามารถจะพลิกผันตัวเองไปสู่ความดีงามหรือความเลวร้ายได้ในบัดดล เส้นขีดแบ่งคุณค่าเป็นเพียงมุมมองของความรู้สึกที่มีต่อความรักเท่านั้น ซึ่งความรักระดับนี้ในปัจจุบันกำลังถูกบิดให้เบี้ยวและถูกนำไปใช้อย่างขาดสติปัญญาความรู้เท่าทัน มักใช้อารมณ์เข้าไปตัดสินจึงเป็นที่มาของความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ในสังคมดังที่เป็นข่าวตามสื่อมวลชน เช่น การฆ่าภรรยาตัวเองเพราะกลัวนอกใจ การลักพาตัวแฟนสาวไปกักขัง การทำร้ายอีกฝ่ายเพราะความหึงหวง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการแสดงออกแบบหลงผิด โดยอิงแอบอ้างถึงความรัก เช่น การเลี้ยงลูกแบบตามใจจนลุกทำอะไรไม่เป็น เป็นบุคคลเอาแต่ใจอยู่หรือทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้ เมื่อโตขึ้นกลายเป็นปัญหาสังคม เป็นต้น

ในขณะที่ความรัก 2 ประเภทหลังนั้น เป็นความรักที่เปิดกว้าง เข้าถึงตัวตนอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี ถือเป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดของบุคคลในการเข้าถึงความสุขและสุนทรียภาพของชีวิต เป็นความรักสากลที่มุ่งไปสู่สันติภาพของสังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักในระดับสูงสุดที่อยู่เหนือหลักเหตุและผล เหนือปัญญา เหนือประสบการณ์ เหนือชีวิต เหนือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งศาสนธรรมถือว่า เป็นจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของมนุษย์ทุกคน

เมื่อเป็นดังนี้ เราจะเห็นว่าความรักนั้นมีลักษณะหมิ่นเหม่สองแง่สองง่ามมีผลต่อมนุษย์ทั้งที่เป็นสันติภาพและความรุนแรง เพราะคนเรานั้นยังเข้าถึงความรักในระดับที่น้อยกว่า “หน้าที่ที่ยิ่งใหญ่” แต่เรียกร้องผลประโยชน์จากความรักจนเกินงาม ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า “พระเจ้า” ในสายตาของมนุษย์นั้นเปลี่ยนไป จากสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อ ความเคารพศรัทธาจากจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ กลายมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เห็นผลเร็ว และสนองตอบต่อความต้องการขั้นพื้นฐานแบบทันทีทันใด ด้วยอิทธิพลของความทันสมัย ความเจริญก้าวหน้าขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ชั่วชีวิตคนเราหลงวนเวียนอยู่กับความรักในระดับปัจเจกชนที่เต็มเปื้อนไปด้วยกิเลสเท่านั้น และนับวันความรักยิ่งจะถูกบิดเบือนมุมมองให้สนองตอบต่อข้อเรียกร้องของมนุษย์มากขึ้น ซึ่งหากความรักในระดับปัจเจกชนนี้ฝังรากลึกในตัวบุคคลมากขึ้น สิ่งที่ความรักจะนำพามาย่อมมีแต่ความทุกข์ความรุนแรงทั้งต่อตนเองและสิ่งรอบข้าง นั่นหมายถึง ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจริยธรรมมีมากขึ้น สังคมจะก้าวไปสู่หนทางแห่งความล่มสลายทางจิตวิญญาณในที่สุด

ปัจจุบัน ผลของความรักในระดับปัจเจกชนได้แสดงออกมาเป็นความรุนแรง ซึ่งกลายเป็นปัญหาของสังคม ส่งผลให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองออกมาแสดงความห่วงใย รวมทั้งงานวิจัยก็ชี้ชัดผลไปในทางลบเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น สังคมควรถือเอาโอกาสปีใหม่นี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการปลูกฝังความรักในระดับสากลและระดับสูงสุด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนในสังคมว่า ความรักนั้นมีมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเนื้อแท้ของความรักล้วนนำมาซึ่งความสุขสันติของคนทุกคนในสังคม

ในวันแห่งความรักนี้ เราทั้งหลายไม่ควรแสดงออกซึ่งความรักตามแรงปรารถนาของตนเองเท่านั้น แต่ควรหยิบยื่นเผื่อแผ่ความรักไปสู่บุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ ผู้อยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และจะเป็นการดีอย่างยิ่งหากเราจะเจือจานความรักที่มีแก่เพื่อนมนุษย์ในทุกวันอย่างเป็นนิสัยที่ดีงาม เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงแล้วหันกลับมาสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจิตใจทุกดวง

ที่มาบทความ ความรัก : สันติภาพ หรือความรุนแรง โดย ธวัชชัย เพ็งพินิจ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *