ความรักเป็นธรรมชาติที่งดงาม

โดยเนื้อแท้แล้วความรักเป็นธรรมชาติที่งดงาม เนื่องจาก เป็นความรักที่บริสุทธิ์ แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังให้ดี โดยเฉพาะความรักที่ผลักดันมาจากอกุศลจิตที่อาจนำไปสู่ปัญหาที่ส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้านได้ อกุศลจิตที่เป็นแรงขับฝ่ายต่ำที่สนับสนุนความรักประเภทนี้ให้กลายเป็นอกุศลมีหลายประการ ขอยกตัวอย่างไว้เป็นกรณีศึกษา 3 เรื่อง คือ

1. โมหะ

โมหะ หมายถึง ความหลง ความเขลา ขาดปัญญาในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน ส่งผลให้คนที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความรักทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้แก่ชายหรือหญิงคนรักอย่างสุดกำลังที่เรียกว่า “รักจนหลง” “รักแบบไม่ลืมหูลืมตา” เช่น หลงเมีย หลงผัวจนลืมพ่อแม่ของตน สะท้อนถึงผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของโมหะจนทำให้มองไม่เห็นว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควร อะไรไม่ควร แม้บางครั้งจะรู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว แต่ด้วยอำนาจของความรักที่ถูกโมหะครอบงำก็ยังฝืนทำ เหมือนบทเพลงตอนหนึ่งของคุณศิรินทรา นิยากรที่ว่า “รู้เขาหลอก แต่เต็มใจให้หลอก” นับว่า เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังให้ดี

2. ตัณหา

ตัณหา หมายถึง ความหยากเป็นตัวการสนับสนุนให้บุคคลที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความรักที่มีตัณหาเป็นแรงขับนั้นพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้บุคคลที่ต้องการมาครอบครอง โดยมีกระบวนการหรือลำดับของตัณหา 3 ประการ คือ ความอยาก ความพึงพอใจ ความติดใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของฝ่ายตรงกันข้าม (กามตัณหา) ความอยากเข้าครอบครองเป็นเจ้าของ (ภวตัณหา) และความอยากจะทำลายล้างบุคคลที่เข้ามาเป็นคู่แข่งหรือความอยากจะหนีให้ห่างไกลเมื่อไม่ต้องการบุคคลนั้นอีกต่อไป เป็นลักษณะของความเบื่อหน่ายประการหนึ่ง ที่ต้องการหนีไปให้พ้นเพื่อไปหาคนอื่นต่อไป หรือเมื่อความรักไม่สมหวังก็ฆ่าคนที่ตนรักตาย และฆ่าตัวเองตายตาม ตัวอย่าง เช่น หยิงสาวคนหนึ่งได้ลวงเด็กหญิงที่มาพัวพันกับสามีของตนไปฆ่าทิ้ง (วิภวตัณหา)

3.ราคะ

ราคะ หมายถึง ความกำหนัด เป็นแรงขับที่ผลักดันให้ความรักประเภทนี้เป็นความรักที่เห็นแก่ตัว ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของแรงขับข้อนี้ มักจะหาวิถีทางเพื่อให้ได้ครอบครองฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่มีความจริงใจ ประเภทที่ชอบล่าพรหมจรรย์หรือพรหมจารีของฝ่ายตรงกันข้าม ได้แล้วทิ้ง ไม่ยอมรับผิดชอบ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น การฆ่าตัวตาย เพราะชายหรือหญิงคนรักตีตัวออกห่าง การทำแท้ง เนื่องจาก ฝ่ายชายไม่ยอมรับผิดชอบลูกในครรภ์ เป็นต้น

จากแรงขับที่สนับสนุนความรักทั้ง 3 ประการนี้ นับว่า เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจาก อาจก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างใหญ่หลวง เหมือนสำนวนไทยที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั้นมีทุกข์” หรือ “ความรักทำให้คนตาบอด” เนื่องจาก เป็นแรงขับที่มุ่งให้คนแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวเป็นสำคัญ จัดเป็นความรักที่ไม่จีรังยั่งยืนที่ทุกคนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และเมื่อกล่าวถึงความรักจากหลักการที่กล่าวมาทั้งหมดอาจสรุปได้ 2 ลักษณะ คือ

1. ความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว

ความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว เป็นความรักที่มีพื้นฐานมาจากเมตตา ความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน กรุณา ความสงสาร เห็นอกเห็นใจกัน ช่วยเหลือกัน การทำตัวให้เป็นที่รักต่อกนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย โดยเฉพาะความรักระหว่างชายหนุ่มหญิงสาวจะต้องยึดหลัก “จาคะ” หมายถึง การเสียสละ เป็นความรักที่เสียสละ ไม่ใช่ความรักที่มุ่งผลประโยชน์ตอบแทนเป็นสำคัญ

2. ความรักที่เห็นแก่ตัว

ความรักที่เห็นแก่ตัว เป็นความรักที่แฝงเร้นด้วยกิเลส อันเป็นสาเหตุของความทุกข์หรือความรักที่ผิดหวัง ไม่สมหวัง ความรักที่ไม่ลงตัว ความรักที่ต่างฝ่ายต่างหาประโยชน์ให้แก่ตัวเอง เนื่องจาก เป็นความรักที่ถูกผลักดันด้วยอำนาจของโมหะ ความยินดีในกามารมณ์ ตัณหาและราคะ ทำให้คนขาดปัญญา มองไม่เห็นคุณและโทษของความรัก ซึ่งเราจะเห็นปรากฏการณ์ทางสังคมอยู่บ่อยครั้งที่หญิงสาวชายหนุ่มพากันฆ่าตัวตายหรือฆ่าชายหรือหญิงคนรักตาย เพราะผิดหวังในความรักหรือมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตีตัวออกห่างไปมีสัมพันธ์กับชายหรือหญิงคนใหม่

จะเห็นว่า ความรักแม้จะเป็นธรรมชาติประการหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เพื่อหาทางป้องกัน ความรักที่เป็นอกุศล และพัฒนาความรักที่เป็นกุศล เพื่อความเจริญมั่นคงของความรักที่สร้างสีสันให้แก่ชีวิตและสังคมอย่างถูกต้อง การขาดการศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้อย่างถูกต้องก็เท่ากับเรากำลังเล่นกับไฟ ที่อาจเผาผลาญผู้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของความรักที่มีโมหะเป็นพื้นฐานจนเกิดโศกนาฏกรรมกับชีวิตได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็นับว่า น่าเสียดายยิ่งที่ความรักของคนน่าจะสดใส หวานซึ้งเหมือนกับน้ำผึ้งเดือนห้า หรือเป็นความรักที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชีวิตและสังคม แต่กลับกลายเป็นยาพิษที่ปลิดชีพและจิตวิญญาณของคนอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *