คติความเชื่อเรื่อง “พระศิวะ” ในประเทศไทย

“พระศิวะ” เป็นเทพสำคัญองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู มีพัฒนาการมาจากเทพรุทรในยุคพระเวท (ราว 3,500 – 3,000 ปีก่อน) เป็นเทพเจ้าที่พวกมิจฉาชีพสักการะ และเทพเจ้าแห่งฝูงสัตว์ป่า จนถึงยุคมหากาพย์ (ราว 2,500 ปีมาแล้ว) พระศิวะได้กลายเป็นหนึ่งในพระตรีมูรติ (3 เทพสูงสุดของศาสนาฮินดู) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่า พระศิวะเป็นเทพแห่งการทำลาย มีทั้งรูปแบบที่ดุร้ายและไม่ดุร้าย โดยในปรัชญาฮินดูกล่าวว่า การทำลายล้างนี้ไม่ถือเป็นการสิ้นสุด แต่ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ พระศิวะจึงได้รับการตีความว่า เป็นสัญลักษณ์ของผู้สร้างให้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง

คติความเชื่อเกี่ยวกับพระศิวะในประเทศไทย เริ่มปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีราวพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 เช่น การค้นพบศิวลึงค์ที่สถานีรถไฟ หนองหวาย อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ ยังปรากฏจารึกที่เกี่ยวกับพระศิวะ เช่น ศิลาจารึกบ้านตาดทอง กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 15 อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร พบที่ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ข้อความในจารึกเริ่มด้วยการกล่าวนอบน้อมพระศิวะ

ในสมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1792 – 1981) การนับถือพระศิวะเริ่มปรากฏขึ้นอีกครั้ง ในสมัยพระมหาธรรมราชที่ 1 (ลิไท) โดยปรากฏข้อความในจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาเขมรจารใน พ.ศ. 1904 กล่าวว่า ใน พ.ศ. 1892 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อเทวรูปต่าง ๆ เพื่อประดิษฐานในหอเทวาลัยมหาเกษตร ในสมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893 – 2310) ศาสนาฮินดูมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตต่อผู้คนทั้งในระดับราชสำนักและนอกราชสำนัก ซึ่งบทบาทและคุณสมบัติของเทพเจ้าฮินดูแต่ละองค์มีอิทธิพลต่อสังคมอยุธยามากยิ่งกว่าปรัชญาทางศาสนา นอกจากนี้ ในสมัยอยุธยายังปรากฏพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทพฮินดู ซึ่งพระศิวะก็ถือเป็นเทพที่สำคัญองค์หนึ่งที่ปรากฏในการประกอบพิธีกรรมด้วย

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คติความเชื่อเกี่ยวกับพระศิวะได้ปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมและพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยตามคติพราหมณ์เชื่อว่า พระอิศวรจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้งหนึ่งกำหนด 10 วัน วันขึ้น 7 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ แรม 1 ค่ำ เป็นวันเสด็จกลับ และในระหว่างที่เสด็จอยู่ในโลกนี้ พราหมณ์จึงทำพิธีตรียัมปวายต้นรับพระอิศวร จนถึงปัจจุบัน คติความเชื่อพระศิวะยังคงปรากฏอยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด ซึ่งปรากฏในรูปแบบของศาลเทวรูป รวมถึงวัดในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ที่จัดเทศกาลบูชาพระศิวะโดยพราหมณ์จากประเทศอินเดีย และผู้คนทั่วไปก็สามารถเข้าร่วมในเทศกาลหรือพิธีกรรมดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ความเชื่อเรื่องพระศิวะยังปรากฏอยู่ในพิธีกรรมต่าง ๆ ของไทย ทั้งในระดับราชสำนักและระดับประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ดี การศึกษาเกี่ยวกับพระศิวะที่ผ่านมา มักจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติ รูปแบบ และคติความเชื่อพระศิวะในอดีต และยังไม่ได้วิเคราะห์ถึงอิทธิพลของพิธีกรรมและคติความเชื่อเรื่องพระศิวะที่มีต่อผู้ประกอบพิธีและผู้เข้าร่วมพิธีในปัจจุบัน[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ คติความเชื่อเรื่องพระศิวะในกรุงเทพมหานคร. โดยธีระนันท์ วิชัยดิษฐ และปรีดี พิศภูมิวิถี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *