คติความเชื่อเรื่อง “ผี”

มนุษย์ยังมีความเชื่อเรื่อง “ผี” แสดงว่า มนุษย์เชื่อว่า “ผี” ยังมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย คติความเชื่อมนุษย์ที่มีต่อผีเป็นความเชื่อที่มนุษย์ต้องการความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะมนุษย์เชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ผี) มีอำนาจเหนือกว่ามนุษย์ ซึ่งสามารถดลบันดาลให้มนุษย์ได้รับสิ่งดี หรือสิ่งไม่ดี (ชั่วร้าย) ได้ ดังนั้น คำว่า “ผี” ในคติที่มนุษย์จินตนาการ ซึ่งจะมีความหมายแตกต่างกัน

ความหมายของคำว่า “ผี”

คำว่า “ผี” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542[i] ได้อธิบายว่า “ผี” คือ สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่า เป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจจะปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ อาจให้คุณ หรือให้โทษได้ มีทั้งดี และร้าย เช่น ผีปู่ ย่า ตา ยาย ผีเรือน ผีฟ้า สำหรับเรียกคนที่ตายไปแล้ว คำว่า “ผี” ในความหมายสำหรับคนที่ตายไปแล้ว มีหลายประเภท เช่น

  • ผีกองกอย หมายถึง ผีชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่า มีตีนเดียว ไม่มีสะบ้าหัวเข่าจึงเดินเขย่งเกงกอย ชอบออกมาดูดเลือดที่หัวแม่เท้าคนที่นอนหลับพักแรมในป่า
  • ผีเรือน หมายถึง ผีที่อยู่ประจำเรือน
  • ผีโป่ง หมายถึง ผีที่อยู่ในป่าโป่ง

สำหรับคำว่า “ผี” สามารถนำไปประสมกับคำหรือวลีอื่น ทำให้เกิดความหมายใหม่ เช่น

  • ผีตากผ้าอ้อม หมายถึง แสงแดดที่สะท้อนกลับมาสว่างในเวลาจวนพลบในบางคราว
  • ผีพุ่งใต้ หมายถึง เทหวัตถุแข็งจากอวกาศ มี 2 ชนิด ชนิดหนึ่งประกอบด้วยหินเป็นส่วนใหญ่ อีกชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยเหล็กเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเคลื่อนที่ผ่านบรรยากาศสู่ผิวโลก จะลุกไหม้ให้แสงสว่างจ้า เนื่องจาก เสียดสีกับอวกาศ ถ้ามีขนาดเล็กก็จะไหม้หมดก่อนถึงผิวโลก ถ้ามีขนาดใหญ่ก็จะตกถึงผิวโลก และเรียกว่า อุกกาบาต หรือดาวตก

อีกประการหนึ่งมีสำนวนที่นิยมนำมาใช้เกี่ยวข้องกับคำว่า “ผี” ดังเช่น

  • ผีเข้าผีออก หมายถึง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ไม่คงที่
  • ผีซ้ำด้ำพลอย หมายถึง ถูกซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งหรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย
  • ผีถึงป่าช้า หมายถึง ต้องยอมด้วยความจำใจหรือไม่มีทางเลือก
  • ผีเรือนไม่ดี ผีป่าก็พลอย หมายถึง คนในบ้านเป็นใจช่วยให้คนนอกบ้านเข้ามาทำความเสียหายได้
  • ผีไม่มีศาล หมายถึง ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

จะเห็นได้ว่า “ผี” มีการให้คำนิยามแตกต่างกัน เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว คำว่า “ผี” เป็นสิ่งที่น่าเกลียดหรือน่ากลัว เมื่อมนุษย์เกิดความกลัวจะสร้างจินตนาการขึ้นมา เรียกว่า “ผี” เริ่มต้นมาจากความกลัวต่อภัยพิบัติต่าง ๆ คำว่า “ผี” ในหนังสือศาสนาเปรียบเทียบ (เสถียร โกเศศ)[ii] ได้กล่าวว่า “ผี” หมายถึง สิ่งที่มีสภาพเกินคน หรือเหนือคน คนจึงกลัว เพราะให้ดีให้ร้าย หรือให้คุณให้โทษแก่คนไ ผีนั้นถ้าเป็นผีชั้นดีเรียกว่า “เทวดา” (เรไร ไพรวรรณ์)[iii]

คติความเชื่อและการนับถือ “ผี” ทางอีสานตอนล่าง

คติความเชื่อและการนับถือผีทางอีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นประเพณีในการนับถือ “ผีโดนตา” ในภาษาถิ่นอีสานตอนล่างเรียกว่า “แซนโดนตา” คำว่า “แซน” หมายถึง การเซ่นไหว้ “โดน” หมายถึง ย่า ยาย และ “ตา” หมายถึง ปู่ ตา ดังนั้น “แซนโดนตา” หมายถึง การเซ่นผีบรรพบุรุษตามสายเลือด สายตระกูลของผีปู่ย่าตายาย ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นประเพณีของถิ่นอีสานใต้ หรือเผ่าชาวเขมรที่นับถือการบูชาผีในช่วงเดือนสิบ เรียกว่า “ไถงเบ็น” ตามความเชื่อผีของชาวเขมรจะมีความเชื่อว่า เมื่อผู้ตายไปแล้ว จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ทำดีจะได้ไปสวรรค์ กลุ่มที่ทำชั่วก็จะตกนรก พวกนี้จะได้รับทัณฑ์ทรมานมากน้อยต่างกัน เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 พระยายมจะอนุญาตให้ผีเหล่านั้นเดินทางมาเยี่ยมลูกหลานได้ ผีจะพักอยู่ที่วัด และคอยดูทางว่า ลูกหลานของตนจะมาทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศลให้ตนหรือไม่ ถ้าลูกหลานมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลผลนี้พวกตนก็จะได้รับและเมื่อได้อิ่มหนำสำราญก็จะพากันอวยพรให้ลูกหลายอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้ารอแล้วไม่เห็นลูกหลานมาทำบุญก็จะสาปแช่งไม่ให้มีความสุข ความเจริญ ซึ่งช่วงของเบ็นตูจ (เป็นวันสาร์ทเล็ก) ไปหาเบ็นทม (วันสารทใหญ่) มีระยะ 15 วัน หลังจากนั้น ก็จะต้องกลับไปรับกรรมในนรกภูมิตามเดิม

ความเชื่อและการนับถือ “ผีเนียะตา” หมายถึง ผีปู่ย่าและผีตายายประจำหมู่บ้าน ในภาษาเขมร “เนียะ” หมายถึง ย่า และยาย “ตา” หมายถึง ปู่และตา ตามความเชื่อและการนับถือผีเนียะตา หรือผีปู่เจ้าตา หรือผีปู่ตาของชาวเขมรเป็นประเพณีการทำบุญหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ชาวบ้านทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข มีความสามัคคีปรองดองกัน และพลังแห่งความสามัคคีนี้จะทำให้หมู่บ้านหลุดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง เนียะตา หรือผีปู่ตา ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษของหมู่บ้าน คอยคุ้มครอง และให้ความช่วยเหลือ

คติความเชื่อหรือศรัทธาเกี่ยวกับ “ผี” ยังฝั่งรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน ถึงแม้ว่า ปัจจุบันจะเป็นยุคสมัยใหม่ ซึ่งเรียกว่า “ยุคดิจิตอล” แต่บุคคลทั่วไปก็ยังมีคติความเชื่อเรื่องผีอยู่ แต่เดิมจะเห็นว่า ถ้ากล่าวถึง “ผี” จะไม่มีใครอยากจะพิสูจน์อะไร พยายามที่ออกห่างจากคติความกลัวเหล่านั้น ไม่อยากกล่าวถึง หรือเข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เพราะในยุคก่อนนั้น มีความเชื่อว่า “ผี” เป็นสิ่งชั่วร้าย ส่วนปัจจุบันจะเป็นยุคที่เรียกว่า ทันสมัยทางเทคโนโลยี จึงได้มีการพยายามที่หาข้อพิสูจน์เรื่องผี มีรายการทางทีวีรายการหนึ่งได้มีการพยายามที่จะพิสูจน์เรื่องผีออกรายการทีวีว่า “ผีมีจริงหรือไม่” โดยมีการใช้เครื่องมือในการพยายามพิสูจน์เรื่อง “วิญญาณ” “ผี” ว่ามีจริงหรือไม่ โดยพยายามเข้าไปพิสูจน์ตามสถานที่ต่าง ๆ ว่ามีจริงหรือไม่ จากประเด็นนี้ จึงทำให้เห็นว่า คติความเรื่อง “ผี” ยังปรากฏทุกยุคทุกสมัย ถึงแม้ว่า โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่คติความเชื่อเรื่องผียังฝังรากลึกในวิถีชีวิตของมนุษย์อยู่ เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “ผี” จะมีคติความเชื่อเหมือนกันทุกชาติ ศาสนา แต่วิธีการเชื่อแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย และคำศัพท์เรียก “ผี” อาจแตกต่างกัน แต่ทุกชาติศาสนา จะถือว่า “ผี” เป็นสิ่งไม่ดี อีกประการหนึ่ง คำว่า “ผี” มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตกับความตาย มนุษย์อาจจะมองเห็นได้ว่า มนุษย์เกิดความกลัวต่อความตายเลยสร้างจินตนาการว่า ความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะฉะนั้น ชีวิตที่ตายเรียกว่า “ผี”   


[i]ราชบัณฑิตยสถาน (2542) พจนานุกรม ฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : บริษัท นานมีบุคส์พับลิเคชั่น

[ii] เสถียร โกเศศ. (2515) ศาสนาเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ : ศิลปานบรรณาการ.

[iii] เรไร ไพรวรรณ์. (มปป.). เรื่อง ผี ๆ (อัดสำเนา) มปป.

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/drawlab19

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *