ข้อแนะนำด้านอาหารเสริมสำหรับสตรีวัยทองที่ควรรับประทานเพิ่ม

แคลเซียม

ในแต่ละวันร่างกายจะหมุนเวียนแคลเซียมเข้าออกจากกระดูกวันละประมาณ 400 – 600 มิลลิกรัม ถ้าร่างกายมีการสลายแคลเซียมออกมาในปริมาณที่พอดีกับการรับเข้าไปในกระดูกก็จะมีความแข็งแรงดี แต่ในช่วงวัยทองการขาดฮอร์โมนเสโตรเจนจะส่งเสริมให้มีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว มีการสลายกระดูกเก่าและสร้างกระดูกใหม่ที่เร็วเกินไปจนทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม และสตรีวัยทองเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำให้สตรีวัยทองรับประทานต่อวัน คือ 1,000 – 1,500 มิลลิกรัม โดยจะต้องเสริมจากแหล่งอาหาร เช่น นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ผักสีเขียว ยาเม็ดแคลเซียม เป็นต้น นอกจากการรับประทานอาหารที่แคลเซียมสูงแล้ว ควรรับประทานวิตามินดีเพิ่ม หรือเลือกรับแสงแดดทางผิวกายอย่างน้อยวันละ 30 – 60 นาที เนื่องจาก การดูดซึมแคลเซียมของลำไส้เล็กขึ้นอยู่กับปริมาณวิตามินดีในร่างกายด้วย และในกรณีที่ร่างกายมีระดับแคลเซียมต่ำ ร่างกายจะเกิดอาการตะคริวกล้ามเนื้อกระตุก กล่องเสียงเกร็งตัวทำให้มีเสียงดังเวลาหายใจเข้า หากมีแคลเซียมมาก อาจส่งผลให้เกิดอาการชัก ภาวะร่างกายขาดแคลเซียมมักพบในผู้ที่ผ่าต่อมไทรอยด์ออก ภาวะขาดวิตามินดีพบในผู้ป่วยที่ภาวะไตวายเรื้อรัง ผู้ที่มีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง การขาดแคลเซียมยังส่งผลต่อการดูดซึมวิตามินบี 12 ของลำไส้ ทำให้ร่างกายเกิดภาวะโลหิตจางจากการวิตามินบี 12 ได้

วิตามินดี (Calciferol หรือ ergosterol)

วิตามินดีมีประโยชน์ต่อสตรีวัยทอง เนื่องจาก มีส่วนช่วยสร้างโปรตีนในการดูดซึมแคลเซียมและนำแคลเซียมไปสร้างกระดูก ควบคุมปริมาณแคลเซียมในเลือด โดยในแต่ละวันร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้เพียงร้อยละ 20 – 30 ของแคลเซียมในอาหารที่รับประทานเข้าไปเท่านั้น หากขาดวิตามินดีร่างกายจะยิ่งดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง ร่างกายขาดแคลเซียมมากขึ้น และมีผลงานวิจัยรายงานอย่างชัดเจนว่า วิตามินมีประโยชน์หลายประการ ทั้งช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูก ช่วยให้การทำงานของหลอดเลือดเป็นไปได้อย่างดี เป็นต้น สตรีวัยทองจึงควรได้รับวิตามินดีวันละ 600 – 800 I.U. แหล่งวิตามินดีได้มาจาก 2 แหล่ง คือ หนึ่งอาหารตามธรรมชาติ ได้แก่ ไขมันจากปลา เห็ด ไข่แดง นม และอาหารเสริมวิตามินดี สองรับจากแสงแดด โดยปริมาณวิตามินในอาหารแต่ละชนิด

การได้รับวิตามินดีจากแสงแดดนั้น ควรได้รับแสงแดดเป็นเวลา 1 – 30 นาทีเป็นประจำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่างกายจึงจะดูดซึมวิตามินดีได้อย่างพอเพียง โดยผิวหนังเมื่อได้รับแสงแดดจะเปลี่ยนโคเลสเตอรอลใต้ผิวหนังเป็นวิตามินดี เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้งช่วงเช้าก่อน 10.00 น. แต่ช่วงเย็นหลัง 16.00 น. ที่ยังมีแสงแดด และไม่ต้องทาครีมกันแดด และเนื่องจาก กลไกการเปลี่ยนวิตามินดีใต้ผิวหนังทำให้น้อยลงในสตรีวัยทอง จึงแนะนำให้รับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่มีวิตามินดีควบคู่ได้ด้วย

วิตามินบีรวม (Vitamin B complex)

วิตามินบีรวม มีความสำคัญกับสตรีวัยทอง โดยช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้อย่างสมดุลระบบประสาททำงานประสานกันได้ดี สตรีวัยทองหลายคนมีอาหารทางระบบประสาท เช่น อ่อนเพลีย ชาปลายมือปลายเท้า หลงลืม ปฏิกิริยาตอบสนองช้า โดยวิตามินบีรวม ได้แก่

  1. วิตามินบี 1 (Thiamine) มีส่วนช่วยในการเผาผลาญอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เพื่อให้ได้พลังงาน ป้องกันโรคเหน็บชา โลหิตจาง ถ้าร่างกายได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอจะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ความจำไม่ดี นอนไม่หลับ ชาปลายมือปลายเท้า กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ บางรายมีอาการตะคริวในเวลากลางคืน ในสตรีวัยทองควรได้รับวิตามินบี 1 วันละ 1.1 – 1.2 มิลลิกรัม แหล่งที่พบ พบมากนธัญพืช ข้าวซ้อมมือ ถั่วต่าง ๆ และตับ
  2. วิตามินบี 2 (Riboflavin) มีความจำเป็นต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตและไขมัน รวมทั้งเป็นโคเอนไซม์ในปฏิกิริยาการเปลี่ยนวิตามินบี 6 มีประโยชน์มากในการช่วยป้องกันไมเกรน ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น เล็บและเส้นผมสุขภาพดี สามารถลดการเกิดมะเร็งในหลอดอาหารได้ด้วย ในสตรีวัยทองต้องการวิตามินบี 2 วันละ 1.1 – 1.3 มิลลิกรัม แหล่งที่พบ พบมากในยีสต์ นมสด โยเกิร์ต ไข่ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว
  3. วิตามินบี 3 (Niacin) เป็นวิตามินตัวเดียวที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้จากกรดอะมิโน ช่วยในการเผาผลาญอาหารให้เกิดพลังงาน ลดการอ่อนล้าในสตรีวัยทอง และช่วยทำลายสารพิษจากมลพิษ ควันบุหรี่ รักษาอาการเครียด ไมเกรน และช่วยในการไหลเวียนของเลือด ถ้าร่างกายได้รับวิตามินบี 3 ไม่เพียงพอจะทำให้เกิดการอักเสบของลิ้น มีอาการร้อนวูบวาบ คันตามผิวหนัง อาหารไม่ย่อย ปลายประสาทอักเสบ ปวดศีรษะเรื้อรัง โดยสตรีต้องการวิตามินบี 3 วันละ 14 – 19 มิลลิกรัม พบมากในไข่ไก่ เนย ถั่ว จมูกข้าว โฮลวีต
  4. วิตามินบี 5 (Pantothenic acid) วิตามินบี 5 ใช้ในการทำงานของต่อมอะครีนอล โดยเปลี่ยนคอเรสเตอรอลเป็นฮอร์โมนที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยในการทำงานของสมอง เสริมการทำงานของวิตามินบี 2 บรรเทาอาการข้ออักเสบ อ่อนล้า ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย หากร่างกายได้รับวิตามินบี 5 ไม่เพียงพอ จะเกิดอาการเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ผมหงอกและร่วง หงุดหงิดได้ง่าย สตรีวัยทองต้องการวิตามินบี 5 วันละ 18 มิลลิกรัม แหล่งอาหารที่พบมาก ได้แก่ รำข้าว เนยแข็ง ถั่วลิสง เห็ด น้ำอ้อย อะโวคาโด เป็นต้น
  5. วิตามินบี 6 (Pyridoxine) จำเป็นต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท มีหน้าที่สำคัญในการเผาผลาญโปรตีนในร่างกาย ช่วยปรับสภาพผิวหนังให้เป็นปกติ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างเม็ดเลือด ป้องกันการตื่นและไม่สงบของประสาท การนอนไม่หลับ ถ้าร่างกายขาดวิตามินตัวนี้จะทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า โลหิตจางได้ ในสตรีวัยทองต้องการวิตามินบี 6 วันละ 2 มิลลิกรัม พบมากในเนื้อปลา ผักต่าง ๆ และยีสต์
  6. วิตามินบี 12 (Cobalamin) ช่วยเร่งปฏิกิริยาการสังเคราะห์ DNA (Deoxyribonucleic Acid) มีความจำเป็นในการสร้างเม็ดเลือด การทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และการดูดซึมของระบบทางเดินอาหาร ป้องกันการอ่อนเพลียจากโรคโลหิตจาง พบมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม เนย เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว รำข้าว ถั่วเมล็ดแห้ง

 ในหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี การดูดซึมวิตามินบีหลายชนิดลดน้อยลง โดยเฉพาะวิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 จึงควรรับประทานเพิ่มมากขึ้นกว่าวัยผู้ใหญ่ปกติ

วิตามินซี (Ascorbic acid)

วิตามินซีช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและเป็นตัวสำคัญในการสร้างคอลลาเจน เพิ่ม High – density lipoprotein (HDL) ในเลือด ลด Low- density lipoprotein (LDL) ในเลือด โดยเฉพาะเมื่อรับประทานวิตามินซีร่วมกับการออกกำลังกาย นอกจากนี้ วิตามินซียังช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดมะเร็ง เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กและเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายด้วย ผู้ที่ขาดวิตามินซีมักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดตามข้อของร่างกาย เจ็บกระดูก แผลหายช้า ภูมิต้านทานต่ำ หากได้รับวิตามินซีมากเกินความต้องการจะทำให้เกิดการสะสมธาตุเหล็กในร่างกาย รบกวนการดูดซึมทองแดงและซีลีเนียม ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ในสตรีวัยทองต้องการวิตามินซีวันละ 75 มิลลิกรัม พบมากในอาหารจำพวกผักใบเขียว บร็อคโคลี่ กระหล่ำปลี มะเขือเทศ และผลไม้หลายชนิด เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง เป็นต้น โดยวิตามินซีในอาหารชนิดต่าง ๆ

วิตามินอี (Tocopherol)

วิตามินอี มีหน้าที่ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ ชะลอความแก่ชรา และป้องกันหลอดเลือดแดงหัวใจแข็งตัว สตรีวัยทองควรได้รับวิตามินอี วันละ 22.5 มิลลิยูนิต หรือ 15 มิลลิกรัม อาหารที่มีวิตามินอีสูง ได้แก่ น้ำมันจากพืช ถั่ว ผักใบเขียว ธัญพืช

ข้อแนะนำด้านอาหารสำหรับสตรีที่เข้าสู่วัยทอง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิดที่มากเกินไป ที่ไปมีผลให้เซลล์ในลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง มีดังนี้

  1. อาหารที่มีแคลเซียมกับฟอสฟอรัสไม่สมดุลกัน จะทำให้การดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสไม่ดี ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์มากเกินไปและรับประทานผักน้อยจะทำให้การดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ต่ำ
  2. กรดไฟติก (Phytic acid) หรืออินโนซิทอลเฮกซาฟอสเฟต (Inositol hexa phosphoric) กรดนี้จะรวมตัวกับแคลเซียมอิออน เป็นแคลเซียมไฟเตทมีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ ไม่สามารถย่อยได้ในกระเพาะอาหาร ทำให้ลดการดูดซึมแคลเซียม พบมาในธัญพืชต่าง ๆ
  3. กรดออกซาเลต กรดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ภายในร่างกายจากกระบวนการ เมตาบอลิซึมของไกลออกซาลิก และแอสคอบิกแอซิค ถ้าร่างกายได้รับวิตามินซีมากเกินเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้กรดออกซาเลตมากขึ้น ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม อาหารที่กรดออกซาเลตสูงที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารจำพวกพืชยอดอ่อน ต้นอ่อน ใบชะพู ใบยอ ใบกระเจี๊ยบ ผักโขม หน่อไม้ เป็นต้น
  4. ได้รับกรดไขมันอิ่มตัวมากเกินไป จะจับกับแคลเซียมเกิดปฏิกิริยากลายเป็นสบู่ และถูกขับออกทางอุจจาระ ไขมันที่แนะนำให้รับประทาน คือ ไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันตับปลา อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารที่มีไขมันสูงโดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ เนย กะทิ และอาหารทะเล
  5. ยาบางชนิด มีผลให้แคลเซียมไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ได้แก่ ยากลุ่มสเตีรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคกระเพาะในกลุ่มยาลดกรด และยากันชัก
  6. ปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น อาหารหมักดอง ชา กาแฟ หรือถ้าจำเป็นให้รับประทานชา กาแฟ หลังอาหาร วันละไม่เกิน 2 แก้ว และผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย มีความเครียดสูง ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่เป็นประจำ ส่งผลให้ร่างกายเสื่อมเร็วกว่าคนปกติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *