กินและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย

ประเทศไทยมีการพัฒนารูปแบบการบริโภคอาหาร เพื่อให้คนไทยนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อการดูแลสุขภาพ โดยจัดทำข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อการสุขภาพที่ดีของคนไทยขึ้น เพื่อการสุขภาพดีในหนึ่งวันข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย หรือที่เรียกว่า “โภชนบัญญัติ 9 ประการ” ที่ผู้บริโภคสามารถปฏิบัติได้เองทั้งในมุมมองของการปฏิบัติและการประเมินภาวะสุขภาพ ใช้สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีจนถึงผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รายละเอียด “โภชนบัญญัติ 9 ประการ” มีดังนี้

  1. กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายและหมั่นดูแลน้ำหนักตัว ไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป การชั่งน้ำหนักทุกวันจะทำให้เราทราบความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว อันเนื่องมาจากการกินอาหารมากหรือน้อยในแต่ละวันได้ สำหรับประเด็นหรือผอมนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่า ตนเองอ้วนหรือผอม ไม่สามารถใช้ตัวชี้วัดทางสุขภาพตัวใดตัวหนึ่งแทนได้ต้องพิจารณาจากปัจจัยที่เหมาะสม เช่น อายุ เพศ ตัวอย่างเช่น กรณีที่เด็กมีอายุ 0 – 18 ปี สามารถใช้กราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตโดยพิจารณาน้ำหนักและส่วนสูงที่จำแนกตามกลุ่มอายุ และเพศ โดยมีค่าตั้งแต่ +2 S.D. เป็นต้นไป แต่หากมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ค่าดัชนีมวลกายสำหรับคนเอเชียโดยคำนวณจากน้ำหนัก นำมาหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง โดยผู้มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมีค่าตั้งแต่ 23 กิโลกรัม/ตารางเมตรขึ้นไป
  2. กินข้าวเป็นอาหารสลับกับอาหารประเภทเป็นบางมื้อ แค่ควรเลือกกินข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ เพราะมีสารอาหารและใยอาหารมากกว่าข้าวขัดสีขาว ซึ่งใยอาหารจากข้าวมีประโยชน์ต่อร่างกายสามารถบรรเทาอาการท้องผูก ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ มีงานวิจัยเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของข้าวโดยนำมาทำให้งอกหรือที่เรียกว่า ข้าวกล้องงอกว่ามีสารกาบาที่ช่วยในการบำรุงประสาทได้ รักษาสมดุลในสมองทำให้สามารถต้านทานคลื่นกระตุ้นประสาทได้ดี ช่วยทำให้สมองผ่อนคลายนอนหลับสบายและยังเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคภายใต้ความเครียดได้อีกด้วย
  3. กินพืชผักให้มากและกินผลไม้เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพราะผักผลไม้มีวิตามินและแร่ธาตุ ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ดีและมีภูมิคุ้มกันโรคและต้านโรคมะเร็งได้ มีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย แต่ควรกินให้หลากหลายชนิดและตามฤดูกาล โดยรับประทานผลไม้ทั้งเปลือก เช่น แอปเปิ้ล องุ่น ฝรั่ง ควรกินในรูปผลสดมากกว่ารับประทานในรูปแบบคั้นน้ำ ในกรณีกินผักควรกินทั้งต้นและก้าน เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง เพื่อเพิ่มปริมาณได้รับใยอาหารให้มากยิ่งขึ้น แต่มีข้อควรระวัง คือ หากได้รับใยอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการโดยปกติร่างกายต้องการใยอาหารวันละ 25 – 30 กรัม จะทำให้ท้องอืดและมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหารใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำโดยเฉพาะเส้นใยที่ไม่ได้ผ่านการแปรรูป เช่น รำข้าวสาลีและข้าวกล้องจะมีกรดไฟติกอยู่สูง สารชนิดนี้จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมและธาตุเหล็กในร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดธาตุเหล็กในผู้หญิงหรืออาการขาดแคลเซียมในเด็กได้
  4. กินปลา กินเนื้อไม่ติดมัน ไข่ ถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่ร่างกายต้องได้รับเพียงพอทั้งคุณภาพและปริมาณ เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโตและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสื่อมสลาย
  5. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัยเพื่อร่างกายที่เจริญเติบโต เพราะนมมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง สำหรับเด็กและหญิงตั้งครรภ์ควรดื่มวันละ 2 – 3 แก้ว ผู้สูงอายุวันละ 1 – 2 แก้ว
  6. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควรและออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ 2 – 3 ครั้ง/สัปดาห์ เพราะไขมันให้พลังงาน และช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยดูดซึมวิตามินเอ วิตามินอี วิตามินดี และวิตามินเค ได้ดีแต่ควรจำกัดให้พลังงานที่ได้จากการกินไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานจากอาหารทั้งหมด
  7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสหวานจัดและเค็มจัดซึ่งการกินอาหารรสจัดจนเป็นนิสัย โดยเฉพาะรสหวานจัดและเค็มจัด จะก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกาย และเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน
  8. กินอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน ควรเลือกซื้อและกินอาหารที่ผลิตจากแหล่งที่เชื่อถือได้ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุกใหม่ ๆ บรรจุอยู่ในภาชนะที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อราและสารเคมี เช่น สารบอแรกซ์ สารเร่งสี สีสังเคราะห์ สารกันเชื้อรา สารฟอกขาว สารเมลามีน สารฆ่าแมลงและฟอร์มาลิน ซึ่งทำให้เกิดโรคได้ ข้อมูลจากการสำรวจสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร พบมีการปนเปื้อนด้วย สารเคีมีปนเปื้อนในอาหารในทุกปี โดยพบทั้งในผัก ผลไม้ อาหารพร้อมบริโภค อาหารกึ่งบริโภค เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สารปนเปื้อนที่ตรวจพบนั้นมีทั้งในรูปสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฟอร์มาลดีไฮด์ บอแรกซ์ สารกันรา สารฟอกขาว สารเร่งเนื้อแดงและสารโพลาร์ โดยพบมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดอาหาร
  9. งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำลายผนังหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น เกิดโรคแทรกซ้อนทางไต หัวใจและสมอง นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม อุบัติเหตุ นำมาซึ่งความทุพพลภาพ สูญเสียเงินทองและทรัพย์สินได้อีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *