การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากับเด็กต้องให้เรื่องอะไรบ้าง

การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากับเด็กต้องให้เรื่องอะไรบ้าง

การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาต้องให้อย่างครอบคลุม มีวิธีการสื่อสาร การอธิบายของผู้ใหญ่จะต้องเหมาะสมกับระดับการพัฒนาด้านสติปัญญาของเด็ก มีหัวข้อในการให้ความรู้เรื่องเพศดังต่อไปนี้

1. การเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามวัยต่าง ๆ

ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเจริญเติบโต พัฒนาการทางเพศตามวัยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมที่สัมพันธ์กัน

2. การสร้างสัมพันธ์ภาพกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม

การสร้างและการรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลในสังคม การสร้าง และรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนเพศวัยเดียวกันกับและต่างเพศ การเลือกคู่ การเตรียมตัวก่อนสมรสและสร้างครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างสามี – ภรรยา – พ่อแม่ลูก

3. ทักษะส่วนบุคคลในการจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ

ทักษะการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์ และควบคุมความสัมพันธ์ให้อยู่ในความถูกต้อง เหมาะสม ทักษะการปฏิเสธ ทักษะการขอความช่วยเหลือ ทักษะการจัดการกับอารมณ์ ทักษะการตัดสินใจ และแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ

4. พฤติกรรมการแสดงออก และบทบาททางเพศที่เหมาะสม

การแสดงออกที่เหมาะสมกับเพศและวัย เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เกิดความเสี่ยงทางเพศ เช่น เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิดหรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การสร้างเอกลักษณ์ทางเพศที่เหมาะสม ความเสมอภาคทางเพศ และบทบาททางเพศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมอย่างสมดุล

5. สุขอนามัยทางเพศตามวัย

ความรู้ ความเข้าใจ และสามารถดูแลสุขอนามัยทางเพศได้ตามวัย เช่น การดูแลอวัยวะในระบบสืบพันธ์ อนามัยการเจริญพันธ์ สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และความผิดปกติในลักษณะและหน้าที่ของอวัยวะเพศ การหลีกเลี่ยงอันตรายจากการบอกช้ำ บาดเจ็บ ติดเชื้อ รวมถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

6. ค่านิยมด้านสังคมวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับบริบทในประเทศไทย

การให้เกียรติเพศตรงข้าม การรักนวลสงวนตัว ไม่ปล่อยใจให้เกิดเพศสัมพันธ์โดยง่าย การปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะจากสื่อที่ยั่วยุทางเพศต่าง ๆ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ

เด็กเริ่มเรียนรู้เรื่องเพศตั้งแต่อายุเท่าไร

ผู้ใหญ่มักจะเข้าใจว่า เด็กไม่มีความสนใจหรือเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่ข้อเท็จจริง คือ เด็กเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเพศได้ตั้งแต่แรกเกิด และเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต โดยช่องทางที่เด็กเรียนรู้เรื่องเพศมีได้หลากหลาย ไม่ได้จำกัดแค่การที่ผู้ใหญ่พูดคุยเรื่องเพศกับเด็กโดยตรง เช่น การที่เด็กสังเกตว่าคนรอบข้างปฏิบัติกับตัวเขาอย่างไร เช่น คำพูดที่ใช้กับเด็กชายหรือเด็กหญิงมีความแตกต่างกัน การสัมผัสหรือถูกสัมผัสในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย การสังเกตปฏิสัมพันธ์ของคนรอบข้าง เช่น พ่อหอมแก้มแม่

สิ่งที่ต้องคำนึงในการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากับเด็กแต่ละคน คือ

1. ช่วงอายุและพัฒนาการของเด็ก

เนื่องจาก เด็กในวัยต่างกันมีข้อจำกัดเรื่องการรับรู้และเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น เด็กวัยอนุบาลเป็นวัยที่เข้าใจโลกแค่เฉพาะในมุมมองของตนเอง มีความคิดจินตนาการมาก แตกต่างจากเด็กวัยประถมที่เริ่มจะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงแบบรูปธรรม เมื่อเขาสู่ช่วงวัยรุ่นเด็กจะเรียนรู้สิ่งที่เป็นนามธรรมได้มากขึ้น ดังนั้น ข้อมูลและวิธีการสอนที่ให้กับเด็กแต่ละวัยจะมีความแตกต่างกัน ผู้ใหญ่ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องพัฒนาการปกติตามวัยของเด็กด้วย

2. สิ่งที่เด็กสังเกตเห็นจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสอนเรื่องเพศศึกษา คือ การสอดแทรกความรู้เรื่องนี้ในชีวิตประจำวันไปเรื่อย ๆ โดยที่เด็กเป็นฝ่ายถามหรือผู้ใหญ่เป็นคนเริ่มอธิบายให้เด็กฟัง เช่น ตอนอาบน้ำให้เด็กหญิงอายุ 2 ปี ผู้ใหญ่สามารถสอนการเรียกชื่ออวัยวะส่วนต่าง ๆ และสอนเรื่องความเหมาะสมในการเปลือยกายว่า เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเปิดเผยในที่สาธารณะ การที่มีผู้ใหญ่ในครอบครัวตั้งครรภ์ สามารถสอนเรื่องคนเราเกิดมาจากไหนให้กับเด็กได้ โดยเนื้อหาที่สอนต้องเหมาะสมกับระดับพัฒนาการความคิดของเด็ก

3. ค่านิยม ศาสนา และบทบาททางเพศที่เหมาะสมในสังคมที่อาศัยอยู่

แต่ละสังคมมีความคิดเห็นและการยอมรับเรื่องเพศแตกต่างกันไป เช่น บางศาสนามีพิธีกรรมให้เด็กชายขลิบอวัยวะเพศ สังคมตะวันตกยอมรับเรื่องการเปลือยกาย (นู้ด) ในที่ที่จัดไว้เฉพาะ ชาวญี่ปุ่นเปลือยกายเสื้อผ้าลงแช่ออนเซ็น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *