การใส่เสื้อผ้าตามสีประจำวัน

คนไทยนิยมการใส่เสื้อผ้าตามสีประจำวันเกิดมาตั้งแต่อดีต เพื่อให้ถูกกาลเทศะและถูกโฉลก โดยมีความเชื่อว่า “สีประจำวัน” มีพลังอย่างหนึ่งในการกำหนดความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตมนุษย์ ในงานประพันธ์สำคัญเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อ และการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสมในสังคมไทยก็มีการกล่าวถึงเรื่องการใส่เสื้อผ้าตามสีประจำวัน

“สวัสดิรักษา” เป็นบทประพันธ์ที่สุนทรภู่ใช้ถวายการสอนสมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์พระเจ้าลูกยาเธอ ในรัชกาลที่ 2 โดยกล่าวถึง สีของเสื้อผ้าที่จะทรงในโอกาสออกไปรบทัพจับศึกษา กล่าวว่า

อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ ให้ครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี

วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล

เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว จะยืนยาวชันษาสถาผล

อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี

เครื่องวันพุทธสุดสีด้วยสีแสด กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี

วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม

วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม

หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม ให้ต้องตามสีสรรพ์จึงกันภัย ฯ

การที่สุนทรภู่ประพันธ์ธรรมเนียมของสีเสื้อประจำวันได้ แสดงว่า ในสมัยนั้นได้มีธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งแม้แต่ตำราพิชัยสงครามยังมีการกำหนดสีของเสื้อผ้าด้วย การกำหนดสีเหล่านี้มีที่มาจากสีประจำกายของเทพยดานพเคราะห์ ได้แก่ กายสีแดงของพระอาทิตย์ กายสีนวลของพระจันทร์ กายสีม่วงครามของพระอังคาร กายสีเขียวหรือสีเลื่อมแสดของพระพุทธ กายสีเลื่อมเขียวของพระพฤหัส กายสีเมฆหมอกของพระศุกร์ และกายสีดำของพระเสาร์ ซึ่งสีประจำวันเหล่านี้ไม่เหมือนกับปัจจุบัน

การเปลี่ยนสีประจำวันมาเป็นสีสันที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ วันอาทิตย์สีแดง วันจันทร์สีเหลือง วันอังคารสีชมพู วันพุธสีเขียว วันพฤหัสบดีสีแสด วันศุกร์สีฟ้า วันเสาร์สีม่วง สันนิษฐานว่า เริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการรับธรรมเนียมตะวันตกเข้ามา มีบางสีไม่ต้องด้วยความนิยมตามคติตะวันตก อย่างสีดำที่เป็นมงคลสำหรับชาวตะวันตก หรือมีบางสีที่ไม่ชัดเจนหรือมีความซ้ำซ้อน อย่างสีเลื่อมแสด สีเลื่อมเขียวเหลือง สีเมฆหมอกจึงได้เทียบเคียงหรือเปลี่ยนมาใช้สีที่เป็นโทนสีสากลแทน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังได้เริ่มประเพณีในราชสำนักที่นำธรรมเนียมการใช้สีประจำวันมากำหนด เช่น การใช้สีประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ จะกำหนดตามวันพระราชสมภพหรือวันประสูติของพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายแต่ละพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพในวันอังคาร สีประจำพระองค์จึงเป็นสีชมพู  เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระจุลจอมเกล้าก็มีสายสะพานและแปรแถบของเครื่องราชฯ เป็นสีชมพูเช่นกัน ธรรมเนียมยังสืบทอดมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชสมภพวันจันทร์ ในพระบรมนามาภิไธยย่อจะมีพื้นของดวงตราเป็นสีเหลือง สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงพระราชสมภพในวันศุกร์ ก็ทรงใช้สีฟ้าหรือสีน้ำเงินโทนเดียวกันเป็นสีประจำพระองค์

ความเปลี่ยนแปลงของโทนสีประจำวัน มาได้รับการเน้นย้ำความสำคัญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งมีพระราชนิยมกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ตลอดจนสุภาพชนแต่กายด้วยสีตามวัน โดยมีการสอนเรื่องสีประจำวันในโรงเรียนให้ท่องจำมาตั้งแต่เด็กเล็ก ซึ่งยังคงมีผลในทางวัฒนธรรมและวัตรปฏิบัติของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน จึงยังมีความนิยมการใส่เสื้อผ้าหรือเลือกใช้สิ่งของต่าง ๆ ตามสีปัจจุบันวันในสังคมให้เห็นอยู่ทั่วไป

ที่มาบทความ http://www.thaistudies.chula.ac.th/document/radio/%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *