การเหี่ยวฝ่อของระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ และผิวหนัง อาการทางจิตใจ “วัยทอง”

การเหี่ยวฝ่อของระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ของวัยทอง

การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน หลังหมดประจำเดือนทำให้เนื้อเยื่อบุช่องคลอดและท่อปัสสาวะเกิดการฝ่อ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะได้น้อยลง ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศบางลง ขนน้อยลง ปากช่องคลอดแคบ ช่องคลอดหดสั้นและแห้ง ซีด ผนังช่องคลอดบางอักเสบได้ง่าย หรือเจ็บปวดขณะร่วมเพศได้ง่าย ซึ่งทำให้ความต้องการทางเพศลดลงไป ปากมดลูกและมดลูกฝ่อลง มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทำให้กระบังลมหย่อน มดลูกเคลื่อนตัวต่ำ มีการเปลี่ยนแปลงของคอปัสสาวะและรอบท่อปัสสาวะ กล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะไม่แข็งแรง ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะเล็ด ตอนไอหรือจาม นอกจากนี้ ยังพบว่า เมื่อสตรีหมดประจำเดือนแล้วปริมาณไหลเวียนอาจเหลือเพียงร้อยละ 15 ของสตรี วัยก่อนหมดประจำเดือน และจำเพิ่มขึ้นได้ถึง 4 เท่า หากได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน

การเหี่ยวฝ่อของผิวหนังของวัยทอง

เมื่อเข้าสู่วัยทอง จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อผิวหนังอย่างเห็นได้ชัด โดยผิวหนังจะเหี่ยวแห้งและบางลง เกิดรอยช้ำได้ง่าย คัน เล็บเปราะ ผมร่วงและบางลง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผลมาจากการขาดคอลลาเจน หลังหมดประจำเดือนอาจมีการสูญเสียคอลลาเจนได้มากถึงร้อยละ 30 ในระยะ 10 ปีแรกของการหมดประจำเดือน นอกจากนี้ การขาดคอลลาเจนจะทำให้ผิวแห้งกร้าน หย่อนคล้อย โดยเฉพาะบริเวณลำคอ สันกราม และแก้ม สตรีวัยทองอาจเกิดความไม่มั่นใจในรูปลักษณ์ ความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ การรักษาโดยการให้เอสโตรเจนจะช่วยให้ระดับคอลลาเจนของผิวเพิ่มขึ้นจนเท่ากับระดับคอลลาเจนในวัยก่อนหมดประจำเดือนได้ในระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน

การดูแลผิวหนังที่เหมาะสมกับสตรีวัยทอง มีดังนี้

  1. การทำความสะอาดผิวหนัง โดยเฉพาะในส่วนของใบหน้าโดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับผิวแห้ง เพื่อคืนความชุ่มชื่นให้กับผิว
  2. เนื่องจาก วัยทองจะทำให้ผิวหนังแห้งมาก ไขมันใต้ผิวหนังน้อยลง ดังนั้น ควรเติมความชุ่มชื่นให้กับผิวหนังโดยการใช้โลชั่นที่มีมอยส์เจอไรเซอร์ เพื่อคืนความชุ่มชื่นให้กับผิว และควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำเป็นเวลานาน ๆ หรืออาบน้ำร้อน
  3. ทาครีมกันแดด เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการป้องกันผิวตามธรรมชาติจะน้อยลง ดังนั้น ควรทาครีมกันแดดที่มี SPF30 ขึ้นไป
  4. รับประทานถั่วเหลือง เนื่องจาก ถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวน ซึ่งเป็นสารประกอบในพืชที่ทำหน้าที่เหมือนฮอร์โมนเอสโตเจน ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาผิว และปัญหาอื่นในสตรีวัยทองได้
  5. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว เพื่อให้ผิวชุ่มชื่น
  6. จัดการความเครียด เพราะความเครียดจะส่งผลให้ผิวแห้งและบอบบางมากขึ้น
  7. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อตึง ลดความเครียด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจน
  8. นอนให้เพียงพอ การนอนพักผ่อนควรนอนให้ได้วันละ 7 – 9 ชั่วโมงต่อคืน

อาการทางจิตใจของวัยทอง

ภาวะซึมเศร้าและอาการกังวลที่พบมักเกี่ยวกับร่างกายที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยชรา และการสูญเสียความสวยงามทางร่างกาย ขาดสมาธิในการทำงาน กระวนกระวาย หงุดหงิด ซึ่งพบได้บ่อยในวัยใกล้หมดประจำเดือน และจะมีอาการมากขึ้นในระยะ 2 – 3 ปีก่อนหมดประจำเดือน ซึ่งเชื่อว่า อาการเหล่านี้เกิดจากการขาดหรือการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยการลดระดับของเอสโตรเจนอาจมีผลต่อ Dopamine receptor หรือลดระดับ Tryptophan ที่ใช้สำหรับสังเคราะห์ Serotonin ทำให้เกิดการลดลงของสารสื่อนำ (Transmitter) ในระบบประสาทส่วนกลาง ก่อให้เกิดการซึมเศร้าตามมา ความรุนแรงของอาการซึมเศร้านี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางครอบครัวและสังคมด้วย

อาการเกี่ยวกับความจำและโรคสมองเสื่อมของวัยทอง

การตรวจพบอาการเกี่ยวกับความจำและโรคสมองเสื่อมนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการประเมิน พบว่า มีการเสื่อมของสารสื่อนำประสาท และเซลล์ของระบบประสาทเอง โดยไม่สัมพันธ์กับการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน นอกจากนี้ ยังพบว่า การเกิดอาการร้อนวูบวาบมีส่วนทำให้เกิดภาวะนี้มากขึ้น โดยส่วนใหญ่พบภาวะบกพร่องของความจำเกี่ยวกับการพูดได้บ่อย มีการศึกษาพบว่า การให้เอสโตรเจนไม่สามารถป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้ ในกรณีที่มีภาวะนี้เกิดขึ้นแล้ว แต่พบว่า สามารถป้องกันได้ในระยะก่อนมีอาการ โดยการให้ฮอร์โมนทดแทนสามารถลดการเกิดได้ ร้อยละ 41 ดังนั้น การใช้ฮอร์โมนรักษาจะมีประโยชน์ในระยะก่อนมีอาการ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *