การเลือกปฏิบัติและการตีตราจากสังคม “คนชายขอบ” “คนข้ามเพศ”

การตีตราเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีก เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมว่าด้วยเครื่องหมายที่ปรากฏบนร่างกาย อันเนื่องมาจากบุคคลมีการกระทำบางสิ่งบางอย่างผิดไปจากปกติ เช่น นักโทษอาชญากรรมอาจตีตราประทับไว้ที่แขน เป็นตัวบ่งบอกคนทั่วไปว่า บุคคลนี้ เป็นคนไม่ดี ทำผิดกฎ ผิดศีลธรรม คนที่ถูกตีตราจะถูกแบ่งแยกให้โดดเดี่ยวไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม สังคมจะจำกัดสิทธิของเขาเหล่านั้น การตีตราจึงเปรียบเสมือนการติดป้ายบอกให้รู้ว่า บุคคลนี้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในแง่ลบ (stigmatisation) ทำให้บุคคลที่ถูกตีตราเปลี่ยนจากบุคคล “ปกติ ธรรมดา” กลายเป็นบุคคล “ผิดปกติ” เป็นคนที่ไม่บริสุทธิ์ ด่างพร้อย มีรอยมลทิน ไร้คุณค่า แตกต่างไปจากบุคคลอื่น ๆ จึงกล่าวได้ว่า เป็น “การตีตรา” นั้นทำให้เกิด “การเลือกปฏิบัติ” ซึ่งเปรียบเสมือนหรือเท่ากับเป็น “การละเมิด สิทธิมนุษยชน” โดยไม่รู้ตัว[1]

การตีตราถือว่า เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างความเป็น “คนชายขอบ” เบียดขับสร้างความเป็นอื่น (otherness) แบ่งแยกคนส่วนน้อยให้ออกไปจากกระแสหลักของสังคม ดังนั้น คนชายขอบจึงเปรียบได้กับบุคคลหรือกลุ่มคนที่สังคมไม่สนใจ ไม่รับรู้ ถูกมองข้าม ถูกทำให้เป็นคนที่ไร้ค่า ถูกทำให้มีชีวิตอยู่ตามริมขอบเขตของพื้นที่ ทางภูมิศาสตร์ พื้นที่สังคม พื้นที่ทางความคิด และถูกปฏิเสธจากสังคมกระแสหลัก ทำให้คนเหล่านี้ขาดโอกาส ขาดการศึกษา ขาดอำนาจในการต่อรอง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร บริการ สวัสดิการต่าง ๆ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ และยังถูกมองว่า เป็นตัวปัญหาเป็นเพียงแหล่งทรัพยากรและแรงงานราคาถูก ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ และรับผลกระทบจากการพัฒนาและเป็นความรู้ความจริงที่คนในสังคมสร้างขึ้นมามองเขา แทนตัวเขา ความรู้ความจริงเหล่านี้กลายเป็นจิตใจสำนึก ที่รับรู้เข้าใจกันได้ในสังคมโดยไม่ต้องตั้งคำถาม เช่น ชาวเขา ชนกลุ่มน้อย ผู้หญิงขายบริการ กลุ่มรักเพศเดียวกัน กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ หรือคนพิการ เป็นต้น[2]

กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ได้รับผลกระทบอย่างมากจากกระบวนการหลอมสร้างวิธีคิดเรื่องเพศกระแสหลักที่ปลูกฝัง และถ่ายทอดชุดความรู้เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ว่า ที่ถูกต้องเหมาะสม ดีงามมีเพียงชุดเดียว นั่นคือ การมีเพศสัมพันธ์ที่นอกเหนือไปจากนี้ คนในสังคมจะถือว่า เป็นสิ่งที่ผิดปกติ ผิดศีลธรรมจรรยาบรรณ เสื่อมเสีย ชื่อเสียงต่อตนเอง ญาติพี่น้อง รวมไปถึงสังคมรอบ ๆ ตัว กล่าวได้ว่า เป็นการใช้บรรทัดฐานเรื่องเพศภาวะและเพศวิถี แบบตายตัวเพียงแบบเดียว โดยการถ่ายทอดชุดความรู้มักเสนอให้เห็นภาพวิธีคิดเรื่องเพศสัมพันธ์เพียงแค่สองด้าน ตรงข้าม เช่น “ขาวกับดำ” “ดีกับเลว” และ “ปกติกับผิดปกติ” และมักมุ่งใช้ความรู้ และความเชื่อของตนเองไปเพื่อตัดสินคุณค่าของคนอื่น ๆ เสมอ[3] การหลอมสร้างวิธีคนเรื่องเพศกระแสหลักนี้เป็นการชี้นำตัดสินว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำในเรื่องเพศ โดยการพยายามนำเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และธรรมเนียมปฏิบัติในเรื่องเพศวิถีในสังคมไทย เพื่อนำมาใช้ควบคุม กดยี่ หรือครอบงำจนเป็นการประกอบสร้าง ให้เกิดอคติ มายาคติ (ความรู้ความเข้าใจผิด ๆ) ทำให้เกิดการปลูกฝัง และถ่ายทอดเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ดีงาม ตามวัฒนธรรมไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศไทยเผชิญกับการตีตรา และการเลือกปฏิบัติในหลายรูปแบบในการจ้างงาน และการศึกษา หญิงรักหญิง และชายรักชายได้รับการจำทนโดยสังคม หากประพฤติตนในบทบาทตามบรรทัดฐานรักต่างเพศที่สังคมคาดหวัง แต่บุคคลที่แสดงออกทางเพศแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคนข้ามเพศรวมถึงคนที่มีเพศกำกวมซึ่งมักจะถูกเหมารวมว่า เป็นกลุ่มเดียวกันกับคนข้ามเพศ ต้องประสบกับอุปสรรคอย่างหนักในการที่จะได้รับความเท่าเทียม และงานที่มีคุณค่าบ่อยครั้งที่พวกเขาต้องถูกกีดกันออกไปอยู่ชายขอบ และไม่มีโอกาสได้ใช้ความสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้อย่างเต็ม[4]


[1] สุทธิดา มะลิแก้ว, 2553. รายงานการวิเคราะห์นโยบายการตอบสนองต่อปัญหาเอดส์ของประเทศไทย ในมุมมองของภาคประชาสังคม ปี พ.ศ. 2552. เชียงใหม่ : ดาราวรรณการพิมพ์.

[2] สุริชัย หวันแก้ว. 2550. คนชายขอบ จากความคิดสู่ความจริง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[3] สุชาดา ทวีสิทธิ์. 2554. เพศวิถีมีชีวิต การเปลี่ยนแปลงจากภายใน. วารสารเพศวิถีศึกษา.

[4] บุษกร สุริยสาร, 2557. อัตลักษณ์และวิถีทางเพศในประเทศไทย / บุษกร สุรยิสาร ; องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ; โครงการส่งเสริมสิทธิ ความหลากหลาย และความเท่าเทียมในโลกของการทำงาน (PRIDE). กรุงเทพฯ : องค์การแรงงานระหว่างประเทศ.

[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ ความไม่เท่าเทียมในสิทธิกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ. โดยสิริวิมล พยัฆษี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *