medium-shot-couple-posing-together (1)

“วัยทอง” คือ วัยที่มีการหยุดผลิตไข่และมีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงลดลงอย่างมากของรังไ ฮอร์โมนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการตั้งครรภ์ การมีประจำเดือน และมีผลต่อการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ และระบบอื่น ๆ ทั่วร่างกาย เช่น ระบบประสาทอัตโนมัติ ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ฯลฯ

เมื่อเข้าสู่วัยทอง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และอาจเกิดอาการต่าง ๆ จากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน คุณผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลยหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการเพียงระยะสั้น ๆ ในขณะที่บางคน อาจมีอาการวัยทองที่รุนแรงจนรบกวนวิถีชีวิตประจำวัน หรือบางคนอาจมีอาการของการขาดฮอร์โมนอยู่นานหลายปีจนทำให้คุณภาพชีวิตเสียไป คุณผู้หญิงแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน การให้คำปรึกษาของแพทย์ถึงปัญหาและทางเลือกต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ และคุณภาพชีวิตในระยะยาว จึงมีความจำเป็นต่ออาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวัยทอง

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ ในวัยทอง อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของประจำเดือน ลักษณะของประจำเดือนในสตรีที่เข้าสู่วัยทองแตกต่างกัน โดยสตรีที่เข้าสู่วัยทองบางคนประจำเดือนขาดหายไปเลย ในขณะที่บางคนจะค่อย ๆ น้อยลง จนหมดไป บางคนจะมานานขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ จะถือว่า ปกติก็ต่อเมื่อประจำเดือนมาห่างออก หรือน้อยลง ถ้ามีเลือดออกนานขึ้น (เกิน 7 วัน) หรือออกกะปริดกะปรอย จะต้องถือว่า มีความผิดปกติ ต้องทำการตรวจหาสาเหตุให้ละเอียด และต้องนึกถึงโรคมะเร็งไว้ก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่า ไม่ใช่

การสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนในคุณผู้หญิงวัยทองนี้ บางคนก่อให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจาก ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีความเชื่อ ผิด ๆ หรือถูกหลอกโดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ เช่น ในบางคนที่เป็นมะเร็งระยะเริ่มแรกแล้ว มีเลือดออกกะปริดกะปรอย คุณผู้หญิงบางคน จะเข้าใจผิดว่า เป็นลักษณะที่ปกติของคุณผู้หญิงในวัยนี้ จึงปล่อยปละละเลยไม่ได้ทำการตรวจให้ละเอียด และมาพบแพทย์อีกครั้งเมื่อมะเร็งได้ลุกลามไปมากแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง คุณผู้หญิงที่ประจำเดือนมาห่างออกหรือน้อยลง ซึ่งควรถือว่า เป็นลักษณะที่ปกติในวัยนี้ กลับมีความคิวด่า จะมีเลือดเสียคั่งค้างในกระแสเลือด เนื่องจาก เข้าใจผิดว่า ประจำเดือนเป็นที่ขับถ่ายของเสียของร่างกาย จึงไปรับประทานยา ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ รวมทั้งสมุนไพรบางชนิด เพื่อขับถ่ายหรือกำจัดของเสียในร่างกาย จนเกิดภาวะแทรกซ้อนจากสิ่งที่รับประทานเข้าไป เช่น มีเลือดออกผิดปกติ หรือปวดท้องน้อย เป็นต้น

  • การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทอัตโนมัติ ได้แก่ มีอาการร้อนวูบวาบ และเหงื่อออกในตอนกลางคืน อาการร้อนวูบวาบมักเป็นความรู้สึกที่แผ่จากบริเวณหน้าอกขึ้นไปที่ลำคอ และใบหน้า มักเกิดร่วมกับอาการเหงื่อออก และตามมาด้วยอาการหนาวสั่น อาการเหล่านี้ อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันและถ้าเกิดในตอนกลางคืน อาจรบกวนการนอนหลับ
  • ผลต่ออารมณ์และจิตใจ การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจทำให้มีอาการหงุดหงิด อารมณ์ปรวนแปร ขาดสมาธิ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า และซึมเศร้า
  • ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น ช่องคลอดแห้ง การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เยื่อบุของช่องคลอดบางลง ขาดความยืดหยุ่น และความชุ่มชื้น ส่งผลให้ช่องคลอดแห้ง คัน อักเสบ อาจมีเลือดออก และบางคนมีอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ จนทำให้ความต้องการทางเพศลดลงได้
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะมีการฝ่อลีบ และหย่อนตัว เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ด ขณะ ไอ จาม หรือหัวเราะ รวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
  • โรคกระดูกพรุน โดยปกติร่างกายจะมีการสร้างกระดูกใหม่ โดย osteoblast และสลายกระดูกเก่าโดย osteoclast อยู่ตลอดเวลา โดยในวัยเด็กและวัยรุ่นการสร้างกระดูกจะเกิดขึ้นมากกว่าการสลายกระดูก จากการศึกษาในประเทศไทย พบว่า ความหนาแน่นของเนื้อเยื่อกระดูกของสตรีไทยจะสูงสุด ที่อายุ 30 – 34 ปี ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกนี้จะลดลงอย่างช้า ๆ ประมาณร้อยละ 0.3 – 0.5 ต่อปีหลังอายุ 35 ปีไปแล้ว เนื่องจาก การสลายกระดูกเริ่มมากกว่าการสร้างกระดูก และลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อสตรีเข้าสู่วัยทอง คือ ประมาณร้อยละ 5 – 10 ปี กระดูกจึงอาจบางลงจนอาจเกิดโรคกระดูกพรุนได้ในวัยนี้ ถ้าไม่มีการป้องกันใด ๆ และอาจทำให้กระดูกหักได้ แม้เพียงได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย คุณผู้หญิงที่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยทั่วไปจะไม่มีอาการใด ๆ จะปรากฏอาการเมื่อมีกระดูกหัดเกิดขึ้นแล้ว โรคกระดูกพรุนจึงถือว่า เป็นภัยเงียบ ซึ่งอยู่ใกล้ตัวคุณผู้หญิงวัยทอง
  • ผลต่อไขมันและระบบหลอดเลือด การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลทำให้ระดับของไขมัน คลอเลสเตอรอล และไขมันเลวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนไขมันดี จะลดต่ำลง ทำให้เกิดการสร้าง plaque ไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหลอดเลือดของหัวใจ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
  • Alzheimer disease เมื่อคุณผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง อาจมีอาการหลงลืมง่าย ความสามารถในการจำชื่อคน หรือข้อมูลที่สำคัญลดลง โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง พบเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุถึงร้อยละ 70 โรคนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังอายุ 65 ปี และพบมากในสตรี และจะเป็นมากในคนที่ไม่ค่อยได้ใช้สมองคิดบ่อย ๆ จึงแนะนำให้คุณผู้หญิงวัยทองไม่ปล่อยให้สมองอยู่นิ่ง ๆ ควรมีกิจกรรมให้สมองได้ทำงานบ่อย ๆ เช่น การเล่นไพ่ เป็นต้น

ขอขอบพระคุณบทความวิชาการ “สตรีวัยทอง” สุกรี สุนทราภา ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การประชุมวิชาการ ครั้งที่ 30 ประจำปี 2557

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *