การหมั้น สินสอด

ในชีวิตของคนเราทุกคนนั้น ย่อมจะต้องเกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นอยู่มาก คงไม่มีใครที่จะเก่งกาจขนาดที่ว่าเกิดไม่ต้องพึ่งพาใคร เป็นเด็กก็ต้องมีพ่อแม่เลี้ยงดู โตมาหน่อยก็มีเพื่อน พอเข้าวัยรุ่นก็เริ่มมีแฟน อายุมากขึ้นอีกหน่อยก็แต่งงานมีครอบครัว มีครอบครัวแล้วก็มีลูก แล้วก็วนเวียนกันแบบนี้เรื่อยไป เรื่องที่จะพูดวันนี้เป็นเรื่องของการหมั้น สาว ๆ หลายคนอาจจะรอคอยให้ถึงวันที่แฟนของตนจะมาหมั้น มาขอแต่งงาน วันนี้ลองมาดูกันในกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เค้าว่าไว้อย่างไรบ้าง

การแต่งงานหรือการสมรสนั้นจะมีการหมั้นหรือไม่ก็ได้ หมายความว่า จะแต่งงานจดทะเบียนเลย โดยไม่ต้องหมั้นก็ได้ แต่ถ้าจะมีการหมั้น กฎหมายระบุว่า การหมั้นจะต้องมีของหมั้น โดยเป็นของที่ฝ่ายชายมอบให้แก่ฝ่ายหญิง เพราะการหมั้น คือ สัญญาที่ฝ่ายชายได้ทำกับหญิง (ว่าจะมาแต่งงานด้วย) โดยชอบด้วยกฎหมาย

การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อ

  1. ชายและหญิง (ไม่มีเพศเดียวกัน) มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ หากฝ่าฝืนข้อนี้ ถือว่า การหมั้นนั้นเป็นโมฆะเหมือนว่าไม่เคยมีการหมั้นนั้นเกิดขึ้นเลย
  2. ผู้เยาว์ (ที่อายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์) จะทำการหมั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังต่อไปนี้ คือ
    1. บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดา และมารดา
    2. บิดาหรือมารดา ในกรณีที่บิดาหรือมารดาตายและหรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่ได้อยู่ในสภาพ และหรือฐานะที่จะให้ความยินยอมได้ หรือมีเหตุการณ์ที่ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากบิดาหรือมารดาได้
    3. ผู้รับบุตรธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญบุญธรรม
    4. ผู้ปกครองในกรณีที่ไม่มีบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือ มีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้ว

การให้ความยินยอมดังกล่าว อาจให้ด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ซึ่งหากว่า บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังกล่าว ไม่ให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์โดยไม่มีเหตุผล ผู้เยาว์นั้นอาจขอให้ญาติ หรือพนักงานอัยการร้องต่อศาลให้ถอนอำนาจปกครอง แล้วจัดให้มีผู้ปกครองใหม่ จากนั้น ผู้เยาว์ก็มาขอความยินยอมจากผู้ปกครองคนใหม่ ทั้งนี้ หากไม่มีบุคคลอื่นใดที่จะให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ได้ ผู้เยาว์จะต้องร้องขอให้ญาติ หรือพนักงานอัยการร้องต่อศาลเพื่อตั้งผู้ปกครองให้ แล้วขออนุญาตจากผู้ปกครองนั้น เพราะผู้เยาว์จะไปร้องต่อศาลด้วยตนเองเพื่อให้ศาลอนุญาตให้ตนทำการหมั้นไม่ได้

บุคคลที่จะทำการหมั้นไม่ได้

บุคคลต่อไปนี้จะทำการหมั้นไม่ได้ หากฝ่าฝืนการหมั้นนั้นเป็นโมฆะ

  1. ชายและหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์
  2. ชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริต
  3. ชายและหรือหญิงที่เป็นญาติสืบสายเลือดกันโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา และหรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา และหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน พูดง่าย ๆ ว่า คือ ญาติสนิทนั้นเอง

“การหมั้น” หรือ “สัญญาหมั้น” หมายถึง สัญญาว่าจะสมรส

การหมั้น หรือสัญญาหมั้นเป็นสัญญาว่า จะสมรสในอนาคต แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า จะต้องมีการหมั้นก่อนที่จะทำการสมรสทุกกรณี อาจจะมีการสมรสโดยไม่มีการหมั้นเกิดขึ้นก่อนก็ได้ การหมั้น หรือสัญญาหมั้นนั้นแต่ต่างจากสัญญาอื่น ๆ ประการที่ไม่สามารถบังคับให้มีการปฏิบัติตามสัญญาได้ หรือบังคับให้สมรสกันได้ (ม.1438)

เงื่อนไขการหมั้น

การหมั้นจะมีผลสมบูรณ์หรือไม่จะต้องพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ การหมั้นซึ่งไม่ผ่านเงื่อนไขในข้อหนึ่งข้อใดจะมีผลต่อความสมบูรณ์ของการหมั้น

1.เงื่อนไขในเรื่องอายุ (ม.1435)

การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ การหมั้นได้ทำขึ้นในขณะที่ชายหญิงคู่หมั้นมีอายุไม่ครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ แม้ว่า บิดามารดาจะให้ความยินยอมให้ทำการหมั้น การหมั้นนั้นก็ยังมีผลเป็นโมฆะเสมือนหนึ่งว่า ไม่มีการหมั้นเกิดขึ้นเลย ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใด ๆ ต่อกันได้ถ้าต่อมาไม่มีการสมรสเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิในการเรียกของหมั้นคืนในฐานลาภมิควรได้ อนึ่ง แม้ว่า การหมั้นจะตกเป็นโมฆะเพราะเหตุที่ชายหญิงคู่หมั้นอายุไม่ถึงสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ แต่กฎหมายก็มิได้ห้ามมิให้ชายหญิงสมรสกันเมื่อมีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์เป็นต้นไป หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ชายหญิงจึงสามารถทำการสมรสกันได้ แม้ว่า การหมั้นจะตกเป็นโมฆะหากชายหญิงได้ทำถูกต้องในเรื่องการสมรส

2.เงื่อนไขในเรื่องความยินยอม (ม.1436)

การหมั้นหากได้กระทำในขณะที่ชายและหญิงคู่หมั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ การหมั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังต่อไปนี้ มิเช่นนั้นการหมั้นนั้นจะมีผลเป็นโมฆียะ ส่วนการหมั้นถ้าได้กระทำในขณะที่ชายหญิงบรรลุนิติภาวะแล้วไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลใดอีก

  1. บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
  2. บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจ ปกครอง หรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
  3. ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
  4. ผู้ปกครองในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม 1 2 และ 3 หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง

3.เงื่อนไขในเรื่องของหมั้น (ม.1437)

การหมั้นจะต้องมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงคู่หมั้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรส โดยของหมั้นจะมีมูลค่าเท่าใดก็ได้กฎหมายไม่ได้กำหนดเพียงแต่ให้มีการส่งมอบให้แก่หญิงคู่หมั้นก็เพียงพอ หากไม่มีการให้ของหมั้นแก่หญิงคู่หมั้น แม้ว่า จะมีพิธีหมั้นหรือมีการเจรจาสู่ขอ การหมั้นนั้นกฎหมายกำหนดว่า มีผลไม่สมบูรณ์

ของหมั้น

ของหมั้น (ม.1437 ว.1)

1.การหมั้นต้องมีการส่งมอบของหมั้นแก่หญิงคู่หมั้น

การหมั้นจะใช้บังคับได้ต่อเมื่อมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิง ถ้าไม่มีการส่งมอบของหมั้น แม้จะมีการหมั้นตามจารีตประเพณีของการหมั้น การหมั้นก็ไม่สมบูรณ์จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ (นำคดีไปฟ้องศาลเพื่อเรียกของหมั้นหรือค่าทดแทนไม่ได้) ซึ่งของหมั้นนั้นจะมีมูลค่าเท่าใดก็ได้ขอเพียงให้มีการให้ของหมั้นแก่หญิงคู่หมั้นก็เป็นการเพียงพอ

การฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ หมายความว่า จะฟ้องร้องให้ฝ่ายชายส่งมอบของหมั้นไม่ได้ หรือจะเรียกค่าทดแทนในกรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นไม่ได้ (ฎีกาที่ 1034/2535)

2.ของหมั้น

ของหมั้น ได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่ผู้หญิงคู่หมั้น เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่า จะสมรสกับหญิงนั้น ผู้ที่ทำการหมั้นมิได้จำกัดเฉพาะผู้ที่เป็นคู่หมั้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงบุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับชายหรือหญิงคู่หมั้นด้วย เช่น บิดามารดา ผู้ปกครอง หากบุคคลผู้ทำการหมั้นมิใช่ชายหญิงคู่หมั้นแล้ว การหมั้นจะผูกพันเฉพาะผู้ที่ทำการหมั้นเท่านั้น จะผูกพันชายหรือหญิงต่อเมื่อชายหญิงคู่หมั้นได้ตกลงยินยอมในการหมั้นนั้นด้วย

ตัวอย่าง นายแดง อายุ 22 ปี รักนางสาวอ้อ ซึ่งมีอายุ 18 ปี เป็นอันมาก แต่นางสาวอ้อ ไม่ชอบตน นายแดง จึงไปขอหมั้น นางสาวอ้อกับนางเงิน มารดาของนางสาวอ้อ โดยที่นางสาวอ้อ ไม่ได้รู้เห็นยินยอมแต่อย่างใด นางเงินได้ตกลงรับหมั้นนายแดง และนายแดงได้ส่งมอบแหวนเพชรให้เป็นของหมั้นในวันนั้น หากนางสาวอ้อไม่ยอมทำการสมรสกับนายแดงไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ นายแดงจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนางสาวอ้อไม่ได้เพราะสัญญาหมั้นรายนี้นางสาวอ้อไม่ได้เป็นคู่สัญญาแต่อย่างใด

ขอหมั้นเมื่อมีการให้แก่หญิงแล้วย่อมตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที นอกจากนี้ ของหมั้นก็ไม่ถือว่าเป็นสินสมรสด้วย (ม.1437) ของหมั้นถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ จะต้องส่งมอบให้หญิงทันที ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์จะต้องจดทะเบียนโอนด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1852/2506 จำเลยขอหมั้นน้องสาวโจทก์เพื่อให้แต่งงานกับบุตรจำเลยแต่จำเลยไม่มีเงิน จึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ยึดถือไว้ ต่อมาบุตรจำเลยไม่ยอมแต่งงานกับน้องสาวโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินตาม สัญญากู้ ศาลฎีกาวินิจฉันว่า สัญญากู้ดังกล่าวนี้ เป็นเพียงสัญญาที่จะให้ทรัพย์สินในวันข้างหน้า ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันอย่างแท้จริง เจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาก็มิได้มุ่งต่อการให้สัญญากู้ตกเป็นของอีกฝ่ายหนึ่ง ในสภาพของหมั้น และไม่มีความประสงค์ให้ตกเป็นสิทธิของหญิงเมื่อได้ทำการสมรสแล้ว ในกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่า ได้มีการให้ของหมั้นกันตามกฎหมายแล้วโจทก์จะฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ไม่ได้ เพราะสัญญากู้รายนี้ไม่ได้หนี้เดิมต่อกัน

ผลของการหมั้น

การหมั้นที่สมบูรณ์ย่อมนำไปสู่การสมรส แต่ในกรณีที่การสมรสไม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรจะบังคับให้มีการสมรสไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้เป็นสิ่งที่การหมั้นหรือสัญญาหมั้นแต่ต่างจากสัญญาอื่น ๆ ซึ่งสามารถบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ แม้ว่าจะไม่สามารถบังคับให้สมรสไม่ได้ แต่ยังมีผลต่อของหมั้นซึ่งฝ่ายชายได้ให้แก่หญิงคู่หมั้นด้วยว่าหญิงนั้นจะต้องคืนของหมั้นให้แก่ชายหรือไม่ ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้

ในกรณีที่การสมรสไม่อาจเกิดขึ้นได้อันเนื่องมาจากสาเหตุดังต่อนี้ หญิงคู่หมั้นต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย

  1. หญิงคู่หมั้นไม่ย่อมสมรสโดยไม่มีเหตุอันสมควร (เท่ากับผิดสัญญาหมั้น)
  2. ชายคู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เพราะมีเหตุสำคัญอันเกิดจากหญิง

แต่ในกรณีดังต่อไปนี้หญิงคู่หมั้นไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชาย (เพราะไม่ได้เกิดจาความผิดของหญิง)

  1. ชายคู่หมั้นผิดสัญญาหมั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร
  2. ชายหรือหญิงคู่หมั้นตายก่อนสมรส
  3. หญิงคู่หมั้นบอกเลิกการหมั้นกรณีมีเหตุสำคัญเกิดจาชายคู่หมั้น
  4. ต่างฝ่ายต่างละเลยไม่นำพาต่อการจดทะเบียน จะถือว่าหญิงคู่หมั้นผิดสัญญาไม่ได้

สินสอด

สินสอด หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส (ม.1437) โดยสินสอดนั้นจะส่งมอบเมื่อใดก็ได้ หากว่าเป็นทรัพย์สินที่ให้เพื่อขอขมาบิดามารดาของฝ่ายหญิงที่ตนล่วงเกินลูกสาวของเขา ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมา ภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎมหายไม่ถือว่า เป็นสินสอด

ในกรณีดังต่อไปนี้ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

  1. ถ้าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง เหตุที่ว่าทำให้ชายไม่สมควร หรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น หรือ
  2. ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ

การผิดสัญญาหมั้น

ถ้าชายหรือหญิงคู่หมั้นไม่ทำการสมรสกัน โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ถือว่า คู่หมั้นนั้นผิดสัญญาหมั้นฝ่ายคู่หมั้นที่ผิดสัญญาต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทน (ม.1439) คู่สัญญาหมั้น ไม่ใช่แค่ชายและหญิงคู่หมั้น

การผิดสัญญาหมั้น

ถ้าชายหรือหญิงคู่หมั้นไม่ทำการสมรสกัน โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ถือว่า คู่หมั้นนั้นผิดสัญญาหมั้นฝ่ายคู่หมั้นที่ผิดสัญญาต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทน (ม.1439) คู่สัญญาหมั้น ไม่ใช่แค่ชายและหญิงคู่หมั้น

ค่าทดแทนในการผิดสัญญาหมั้น ได้แก่ (ม.1440)

  1. ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายของอีกฝ่ายหนึ่ง
  2. ค่าทดแทนความเสียหายต่อชื่อเสียงของอีกฝ่ายหนึ่ง
  3. ค่าทดแทนความเสียหายในการที่ได้ใช้จ่าย หรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
  4. ค่าทดแทนความเสียหายในกรณีที่ได้จัดการทรัพย์สินด้วยความคาดหมายว่าจะได้สมรส
  5. ค่าทดแทนความเสียหายในการที่ได้จัดการด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับ อาชีพ หรือทางทำมาหาได้ ด้วยความคาดหมายว่าจะได้สมรส

กรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้น แก่ฝ่ายชายด้วย

ค่าทดแทนในกรณีเสมือนผิดสัญญาหมั้น

ในกรณีบอกเลิกเพราะคู่หมั้นกระทำชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งได้กระทำภายหลังจากการหมั้น

ค่าทดแทนในกรณีที่มีเหตุอื่นใดในทางประเวณีเกิดขึ้นกับหญิงคู่หมั้น (ม.1445)

  1. ชายคู่หมั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นซึ่งร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้นโดยรู้หรือควรรู้ว่า หญิงนั้นได้หมั้นแล้วกับตน ชายคู่หมั้นจะเรียกค่าทดแทนได้ต่อเมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้น
  2. ชายคู่หมั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นที่ได้ข่มขืน หรือพยายามข่มขืนกระทำชำเรากับหญิงคู่หมั้น หากชายอื่นได้รู้หรือควรรู้แล้วว่า หญิงนั้นได้หมั้นแล้ว โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น

ความระงับสิ้นแห่งสัญญาหมั้น

  1. ความตายของคู่หมั้น
  2. การเลิกสัญญาหาหมั้นโดยสมัครใจ

ภายหลังการหมั้นคู่หมั้นอาจตกลงเลิกสัญญาหมั้นต่อกันได้โดยตกลงเลิกสัญญาหาหมั้นด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งเมื่อเลิกสัญญาต่อกันแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับสู่ฐานเดิมเหมือนไม่เคยได้ทำการหมั้นต่อกัน โดยฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่ฝ่ายชาย ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น

3.บอกเลิกสัญญาหมั้นโดยอ้างเหตุตามกฎหมาย

1. เหตุสำคัญอันเกิดแก่คู่หมั้น (ไม่ถือว่า ผิดสัญญาหมั้น)

เหตุสำคัญต้องถึงขนาดที่ชายหรือหญิงไม่สมควรสมรสกับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่คำนึงว่าจะเกิดจากการกระทำของฝ่ายใด ไม่คำนึงว่าเหตุสำคัญจะเกิดก่อนหรือหลังการหมั้น

2.เหตุอันเกิดเพราะคู่หมั้นกระทำชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งได้กระทำภายหลังจากการหมั้น โดยกฎหมายถือเสมือนว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น

3.กรณีเหตุอื่นใดในทางประเวณีกับหญิงคู่หมั้น

การเรียกค่าทดแทนของหมั้นและสินสอดและอายุความ

กรณีคู่หมั้นตาย

ถ้าคู่หมั้นฝ่ายใดตายก่อนสมรสไม่ว่ากรณีใดจะไม่ถือว่าผิดสัญญาหมั้น ดังนั้น คู่หมั้นอีกฝ่ายไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทน นอกจากนี้ หากบุคคลที่ตายนั้นเป็นหญิงคู่หมั้น คู่สัญญาหมั้นฝ่ายชายไม่มีสิทธิเรียกของหมั้นและสินสอดคืน

กรณีผิดสัญญาหรือเสมือนว่าผิดสัญญาหมั้น

การเรียกค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาหมั้น หรือเสมือนว่า ผิดสัญญาหมั้นมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันผิดสัญญา

อายุความในการที่การเรียกร้องของหมั้นคืนมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันผิดสัญญา ส่วนการเรียกคืนสินสอดมีอายุความ 10 ปีนับวันผิดสัญญา

กรณีบอกเลิกสัญญาหาหมั้นโดยกฎหมาย

ในกรณีที่สัญญาหมั้นระงับโดยการบอกเลิกสัญญาหมั้นอายุความในการเรียกค่าทดแทนมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันรู้เหตุแห่งการบอกเลิก แต่อย่างไรแล้วไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันเกิดเหตุ

ในกรณีที่การบอกเลิกสัญญาหมั้นเกิดจากเหตุสำคัญอันเกิดจากหญิงคู่หมั้น อายุความในการเรียกคืนของหมั้นมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันเลิกสัญญาและการเรียกคืนสินสอดมีอายุความ 10 ปีนับวันเลิกสัญญา

พิธีหมั้น

เมื่อได้ฤกษ์ยามวันมงคลแล้ว ต่อไปก็จะต้องเตรียมพิธีการหมั้นและพิธีมงคลแต่งงานกันต่อไป พิธีหมั้นนั้นเปรียบเหมือนการตีตราหรือการจับจองกันและกัน ก่อนที่จะจูงมือเข้าสู่พิธีวิวาห์ การหมั้นก็คล้ายธรรมเนียมอยู่ก่อนแต่งของฝรั่ง ซึ่งจุดประสงค์ก็อยู่ที่การเปิดโอกาสให้คนทั้งคู่ได้ศึกษาอุปนิสัยใจคอกันมากขึ้น รู้จักเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลดีต่อชีวิตคู่ในอนาคต พิธีหมั้นอาจจัดควบคู่กับพิธีสู่ขอหรืออาจจัดในช่วงเช้าของวันแต่งงานเลยก็ได้ แต่พิธีหมั้นที่นิยมก็คือ การหมั้นแล้วแต่งเลยในวันเดียวกัน เพราะถือเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดในการเตรียมงานคู่กันไป

การเตรียมพิธีการหมั้น

ในธรรมเนียมการหมั้นนั้น เท่ากับเป็นการวางมัดจำไว้ว่า หญิงที่ถูกหมั้นหมายแล้วจะไปชอบพอกับใครไม่ได้อีก หรือผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะยกให้ใครอีกไม่ได้เด็ดขาด

การแต่งงานของลูกสาวนั้น มักถือเป็นงานออกหน้าออกตาใหญ่โต ทางฝ่ายหญิงจึงพยายามเรียกร้องของหมั้นที่มีราคาแพง โดยที่มักจะเรียกเป็น “ทองคำ” และจะเรียกเป็นน้ำหนัก เลยทำให้เป็นคำติดปากมาจนทุกวันนี้กันว่า “ทองหมั้น” ซึ่งตามประเพณีนี้ ถือเป็นของที่เจ้าสาวจะนำไปเป็นเครื่องแต่งตัวในวันแต่งงานนั่นเอง

ส่วน “สินสอด” นั้น คือ เงินสินสอดและผ้าไหว้ที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้กำหนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อแม่ แต่มักจะเรียกกันเป็นพิธีตามโบราณ คือ ไม่เกิน 40 บาท เป็นค่าน้ำนม ถ้าเกินกว่านั้นจะถือเป็นการขายลูกสาว ทั้งสินสอดและทองหมั้นจะต้องใส่พานห่อไว้รวมกันเรียกว่า “ขันหมากหมั้น”

อีกหนึ่งในความสนุกในขบวนขันหมากนั้นอยู่ที่ การกั้นประตูเงินประตูทองของทางฝ่ายหญิง ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นลูกหลานของฝ่ายหญิง โดยนำเอาเข็มขัดหรือสร้อยเงินมากั้นขบวนไว้ไม่ให้ผ่านเข้าไปได้ง่าย ๆ เถ้าแก่ฝ่ายชายจะต้องควักห่อเงินที่เตรียมไว้ให้เป็นรางวัลก่อนจึงจะผ่านได้ โดยประตูท้าย ๆ มักจะใช้ทองหรือเพชรกั้น ค่าผ่านทางจึงต้องเพิ่มสูงตามลำดับขั้นตอนตรงนี้อาจมีการหยอกล้อระหว่างญาติฝ่ายหญิงและขบวนของฝ่ายชายสร้างความครึกครื้นเป็นยิ่งนัก

การเตรียมขันหมาก

ขันหมากเป็นสิ่งจำเป็นในพิธีการแต่งงาน ซึ่งฝ่ายชายจะต้องเตรียมมาโดยจัดเป็นขบวนแห่มาบ้านฝ่ายหญิงในวันพิธีที่จัดงานในช่วงเช้า แล้วแต่ฤกษ์จะเป็นเวลาใด หรืออาจจะใช้ฤกษ์สะดวก ซึ่งปัจจุบันจะไม่เคร่งครัดนักขันหมากที่ฝ่ายชายจะเตรียมมาแห่ขันหมากนั้น ประกอบไปด้วย สิ่งต่อไปนี้

ขันหมากเอก

จะจัดเป็นขันเดี่ยวหรือขันคู่แล้วแต่ประเพณีนิยมของแต่ละท้องถิ่นส่วนใหญ่จะมีขันใส่หมากพลู ขันใส่เงินทองหรือสินสอด และขันใส่สิ่งของอันเป็นมงคล เช่น ถั่ว งา ข้าวเปลือก ใบเงิน ใบทอง ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะดูความหมายที่เป็นมงคล และนิยมจัดเป็นคู่ จะทำให้ดูสวยงาม และเป็นมงคลโดยถือเคล็ดจากคำว่า “คู่” นั่นเอง

ขันหมากโท

ได้แก่ พวกของที่ใช้เป็นอาหารของขนม รวมทั้งบริวารขันหมากอื่น ได้แก่ ต้นกล้วน ต้นอ้อย หมู ไก่ เหล้า มะพร้าว ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง และยังมีขนมนานาชนิด เป็นจำนวน 10 คู่ขึ้นไป เช่น ขนมเปียก ขนมกวน กาละเม ข้าวเหนียวแดง ฯลฯ แต่ละถาดต้องมีกระดาษสีแดงแผ่นเล็ก ๆ วางปะหน้าไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลขณะที่แห่ขบวนขันหมาก จะมีการโห่ร้องไชโย ขบวนขันหมากต้องหยุดอยู่นอกรั้วบ้าน มีการกั้นประตูทางเข้าบ้าน เจ้าบ่าวต้องเตรียมซองค่าผ่านทาง มีการต่อรองราคาค่าผ่านประตู จะเรียกค่าผ่านทางเท่าไรก็แล้วแต่ตกลงกัน เมื่อขบวนขันหมากเข้าบ้าน จากนั้นต้องนำต้นกล้วยและต้นอ้อยไปปลูก พร้อมทั้งพูดเป็นเคล็ดว่า นำกล้วยอ้อยมาปลูกให้ และรดน้ำให้อย่างดี จะได้มีลูกดกมากมาย ในการนี้ผู้ปลูกจะขอรางวัลจากเจ้าภาพ เช่น เหล้า เป็นต้น ๆ แต่ประเพณีบางแห่งก็จะไม่เอาอาหารซึ่งอาจจะเป็นหมูสามชั้น และขนมที่ใช้งานแต่งงาน เพราะเอาความสะดวกจะไม่ค่อยเคร่งนัก แต่ที่ขาดไม่ได้ คือ เหล้า ต้นกล้วย และต้นอ้อย

ในวันแต่ง เจ้าบ่าว และเพื่อนพร้อมขบวนขันหมากจะไปถึงบ้านเจ้าสาว เมื่อไปถึงจะพบกับการกั้นประตูตามประเพณี โดยฝ่ายหญิงจะจัดญาติ ลูกหลาน หรือเพื่อนเจ้าสาว มากั้นเป็นด่านประตู 4 ด่าน มีประตูเงิน ประตูทองอย่างละคู่ หรือจะใช้เพียง 2 ประตูก็ได้ โดยใช้เข็ดขัดเงินและสายสร้อยทองคำกั้น จะมีผู้กล่าวนำซักถามกันตามประเพณี จึงจะปล่อยเจ้าบ่าว และขบวนขันหมากให้ผ่านด่านประตูเข้าไป สุดท้ายก่อนจะเข้าไปในบ้านหรือขึ้นบันไดบ้านก็จะมีเด็ก 2 คนที่ฝ่ายหญิงจัดไว้ให้พรมน้ำที่เท้าเจ้าบ่าว แล้วเจ้าบ่าวจะต้องจ่ายเงินให้ด่านประตูทุกด่าน จนกระทั่งถึงการพรมน้ำที่เท้าเป็นอันเสร็จพิธีขบวนการแห่ขันหมาก เมื่อเข้าไปในบ้านเจ้าสาวก็จะมีการรับขันหมากตามประเพณี ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องจ่ายให้คนที่อุ้มขันหมากเอกและขันหมากโทด้วย แต่เน้นให้เงินขันหมากเอกมากกว่า

ตอนเช้าทำบุญเลี้ยงพระ เจ้าบ่าวเจ้าสาวร่วมกันประเคนอาหารถวายพระ เมื่อพระฉันเสร็จและถวายของแล้วจึงกรวดน้ำร่วมกัน จากนั้นคู่บ่าวสาวจะไหว้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย เพื่อแสดงความคารวะนบนอบต่อบิดามารดาและบรรดาญาติผุ้ใหญ่ โดยเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะกราบลงพร้อมกันที่หมอนสามครั้งถ้าผู้รับไหว้เป็นบิดามารดาหรือผู้หลักผู้ใหญ่ แต่หากเป็นญาติคนอื่น ๆ ก็จะกราบหนึ่งครั้งโดยไม่ต้องแบมือ จากนั้น จึงส่งพานดอกไม้ ธูปเทียนให้ พ่อแม่ก็จะรับไหว้และให้ศีลให้พรแก่คนทั้งคู่ หลังจากรับไหว้ผู้ใหญ่ก็จะส่งเงินในพานให้บ่าวสาวเพื่อเป็นเงินทุนขั้นตอนนี้ญาติพี่น้องอาจจะสมทบทุนเพิ่มให้ด้วยตามอัธยาศัย ต่อจากนั้นก็ช่วยกันนำถั่วงาและแป้งมาประพรมอวยพร

ขันของหมั้นบรรจุของหมั้นต่าง ๆ

เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง เงินสดค่าสินสอด ตามด้วยพานผ้าไหว้ และของขวัญสำหรับพ่อแม่ฝ่ายหญิง

พิธีรดน้ำ

ถือเป็นการอวยพรความสุขให้คู่บ่าวสาว โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะรดให้เจ้าสาวก่อนแล้วจึงรดให้เจ้าบ่าว หลังจากเสร็จพิธีแล้วหากฝ่ายใดลุกขึ้นยืนก่อนก็จะสามารถอยู่เหนือกว่าคู่ของตน เหมือนดังความเชื่อในเรื่องตัดบาตรของบ่าวสาวนั่นเอง

พิธีรดน้ำจะต้องมีโต๊ะหมู่บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ปกติจอยู่ทางขวาของเจ้าบ่าว เมื่อถึงฤกษ์ที่กำหนด คู่บ่าวสาวจะเข้าไปในห้องพิธีพร้อมเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวฝ่ายละ 2 คน จะมีญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าสาวนำคู่บ่าวสาวไปจุดเทียนชัย ปักธูปและกราบพระที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วญาติผู้ใหญ่จะพาคู่บ่าวสาวไปนั่งบนตั่งที่จัดไว้ วางแขนลงบนหมอน ยื่นมืออกไปพนมตรงขันรองน้ำโดยหญิงนั่งทางซ้าย ชายนั่งทางขวา ก้มศีรษะลงเล็กน้อย เชิญผู้ใหญ่ที่เป็นประธานมาประกอบพิธีรดน้ำ ประธานสวมพวงมาลัยให้คู่บ่าวสาว รับมงคลคู่มาจบเสร็จแล้วสวมที่ศีรษะของคู่บ่าวสาวคนละข้างและรับโถแป้งกระแจ เอานิ้วหัวแม่มือขวาแตะแป้งที่ผสมน้ำหอมและน้ำมนต์ เจิมลงหน้าบ่าวสาวคนละ 1 แต้มหรือ 3 แต้มก็ได้ พร้อมทั้งอวยพร ต่อจากนั้น ก็เชิญแขกเข้ารดน้ำตามลำดับ

เสร็จจากการรดน้ำสังข์แล้ว เจ้าภาพจะปลดมงคลคู่เอง หรือจะเชิญประธานหรือผู้อาวุโสคนใดปลดก็ได้ แล้วมอบให้คู่บ่าวสาวเพื่อนำไปเก็บไว้บนหัวเตียงนอนของตน หลังจากเสร็จพิธีรดน้ำสังข์หรือหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพรแล้วก็มีการเลี้ยงฉลองพิธีแต่งงาน สำหรับญาติและแขกที่มาร่วมในงานก็เสร็จพิธี แล้วรอฤกษ์ส่งตัวเจ้าสาวให้เจ้าบ่าว ทั้งนี้ก็จะมีพิธีบ้างเล็กน้อยตามประเพณีของตน เพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือพาเจ้าสาวให้แก่เจ้าบ่าว พร้อมกับอบรมเจ้าสาวให้เคารพนับถือยำเกรง ซื่อสัตย์ต่อสามี และอบรมเจ้าบ่าวให้รักใคร่ เลี้ยงดูซื่อสัตย์ต่อภรรยา และปฏิบัติต่อภรรยาอย่างเหมาะสมกับหน้าที่ของสามีที่ดี แล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะกราบผู้ใหญ่ อาจจมีพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายให้โอวาทต่อไป เจ้าบ่าวก็จะกราบพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ก็เสร็จพิธีทุกคนจะออกจากห้องหอให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวอยู่กันตามลำพัง จะได้พักผ่อนเพราะเหนื่อยใจงานพิธีมามากแล้ว

พิธีรดน้ำ อาจจะทำได้หลายกรณีแล้วแต่ความสะดวกและความเหมาะสมของทั้งสองฝ่าย จะทำพิธีรดน้ำในตอนเช้าหลังจากทพิธีทางศาสนาแล้ว โดยรดเฉพาะญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือจริง ๆ จะมีจำนวนไม่มากนัก หลังจากนั้น ก็เลี้ยงฉลองพิธีแต่งงานสำหรับแขกที่มาในงานก็เสร็จพิธี หรือจะทำพิธีรดน้ำในตอนเย็นเพื่อเป็นการให้ความสะดวกแก่แขกที่มาในงาน แล้วจึงฉลองพิธีแต่งงานก็ได้ คู่บ่าวสาวควรจะไปถึงสถานที่ประกอบพิธีก่อนเวลาพอสมควร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *