การรับรองสิทธิในการสมรสระหว่างเพศเดียวกันในประเทศไทย

การสมรสเป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยย่อยพื้นฐานของสังคม สถานะความเป็นครอบครัวจึงเริ่มต้นเมื่อชายและหญิงทำการสมรสกัน ในประเทศไทยย้อนหลังไปในสมัยสุโขทัยที่มีการรวบรวมชนชาติไทยตั้งตัวเป็นอิสระนั้น กฎหมายครอบครัวของประเทศไทยในสมัยนั้นได้รับอิทธิพลโดยตรงจากขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของประเทศอินเดีย และได้รับอิทธิพลโดยอ้อมจากชนชาติขอมและมอญ ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้กล่าวถึงระบบครอบครัวโดยเน้นที่บิดามารดา พี่และน้องมากกว่าการสมรส บิดาเป็นใหญ่ในครอบครัว สตรีไม่มีบทบาทในครอบครัวหรือสังคม ทรัพย์มรดกทอดแก่บุตร และไม่มีการแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยา

ในสมัยอยุยาความสัมพันธ์ทางครอบครัวก็ยังคงเป็นไปเช่นเดียวกับในสมัยสุโขทัย ต่อมา เมื่ออาณาจักรขยายตัวกว้างขวางมากขึ้น ชุมชนก็ขยายตัวมากขึ้น ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีประชาในการก่อความสัมพันธ์ทางครอบครัวจึงไม่อาจใช้เป็นกฎเกณฑ์ได้เช่นเดิม จึงมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายครอบครัวออกมาใช้บังคับในสังคม ซึ่งในสมัยอยุธยาก็ได้มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะผัวเมีย พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการผิดเมีย พ.ศ. 1905 พระราชบัญญัติเพิ่มเติมว่าด้วยการแบ่งปันสินบริคณห์ระหว่างผัวเมีย พ.ศ. 1905 กฎหมายลักษณะมูลคดีวิวาท กฎมหายลักษณะลักพา ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของประเทศอินเดียผ่านทางชนชาติมอญนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายยินยอมให้ชายมีภริยาได้หลายคน ซึ่งเป็นประเพณีนิยมของชาวฮินดูที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น ประเทศไทยยังคงใช้กฎหมายเก่าที่ใช้มากันตั้งแต่สมัยอยุธยา และต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงได้โปรดให้มีการชำระกฎหมายในสมัยอยุธยาให้ถูกต้อง ยุติธรรม และได้จัดเป็นหมวดหมู่ปิดตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว จึงได้เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งได้มีกฎหมายลักษณะผัวเมียที่เกี่ยวกับการสมรสและครอบครัว และต่อมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชนั้น ประเทศไทยได้มีการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และได้มีการประกาศให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2478 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นการยกเลิกกฎหมายลักษณะผัวเมียทั้งหมด และให้การรับรองสถานะของคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงคู่เดียวเท่านั้น แต่ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรส และสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวซึ่งก็มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้

ประเทศไทยมีการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการสมรสมาเป็นลำดับ แต่ยังคงรับรองสิทธิของคู่สมรสระหว่างชายและหญิงเท่านั้น ปัจจุบันมีคู่รักเพศเดียวกันจำนวนมากที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัว ซึ่งหลายประเทศทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกามีการออกกฎหมายรับรองสถานะของคู่สมรสเพศเดียวกันแล้ว ประเทศไทยเองก็มีแนวคิดในการผลักดันให้มีการออกกฎหมายรับรองการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน เมื่อปี พ.ศ. 2556 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต เพื่อคุ้มครองสิทธิคู่รักเพศเดียวกัน หลังได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มหลากหลายทางเพศว่า ถูกนายทะเบียนปฏิเสธการจดทะเบียนสมรส ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านการประชาพิจารณ์ และเตรียมเสนอวุฒิสภา แต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ ปี พ.ศ. 2557 ทำให้กระบวนการเสนอพระราชบัญญัติดังกล่าวยุติลง ต่อมา คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุง และพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลวิจัยทางวิชาการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนและหน่วยงานของรัฐ เรื่องแนวทางการจัดทำร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ….. ซึ่งรับรองสถานะคู่สมรสแพศเดียวกันให้เป็นคู่สมรสที่สิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ตามกฎหมาย ซึ่งรอเสนอพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภาที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป

ครอบครัวเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม จุดเริ่มต้นของครอบครัวเกิดจากการสมรสเพื่ออยู่กินด้วยกัน เกิดความสัมพันธ์ในเรื่องสิทธิ หน้าที่ และทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และระหว่างบิดามารดากับบุตรต่อไป ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสมาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัยและมีการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการสมรสเรื่อยมาตามยุคสมัย เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของสังคม การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือการรับเอาแนวคิดอันเป็นหลักสากลมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่กฎหมายเกี่ยวกับการสมรสของประเทศไทยยังคงรับรองสิทธิของคู่สมรสระหว่างชายและหญิงเท่านั้น ส่วนการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันยังไม่มีกฎหมายรับรอง

ในช่วงหกปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดที่จะออกกฎหมายรับรองสิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกัน โดยเมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และสภาผู้แทนราษฎรได้เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต เพื่อคุ้มครองสิทธิคู่รักเพศเดียวกัน แต่หลังได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มหลากหลายทางเพศว่า ถูกนายทะเบียนปฏิเสธการจดทะเบียนสมรส ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ผ่านการประชาพิจารณ์และเตรียมเสนอวุฒิสภา แต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 ทำให้กระบวนการเสนอพระราชบัญญัติดังกล่าวยุติลง ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ คือ ต้องการให้เกิดมามาตรการป้องกันการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศอย่างชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณ๊ระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี และส่งผลให้เกิดการสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายรับรองสิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกัน

ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลวิจัยทางวิชาการ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนและหน่วยงานของรัฐเรื่องแนวทางการจัดทำร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ….. ซึ่งรับรองสถานะคู่สมรสเพศเดียวกันให้เป็นคู่สมรสที่สิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ตามกฎหมาย ซึ่งรอเสนอพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภาที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป ในระหว่างนี้ก็มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้มีความครอบคลุมและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย และเป็นประโยชน์แก่คู่สมรสเพศเดียวกันมากที่สุด

หากร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ…. ได้รับการพิจารณาและประกาศใช้ จะเป็นก้าวสำคัญแห่งการพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและหลักสากล ส่งเสริมความเท่าเทียมกันของบุคคล และลดการเลือกปฏิบัติในทางเพศ ทั้งยังช่วยลดปัญหาในการปรับใช้กฎหมายในเรื่องการสมรสและสิทธิในครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย  

ขอขอบคุณที่มาบทความ การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการสมรสและการรับรองสิทธิในการสมรสระหว่างเพศเดียวกันในประเทศไทย โดยสุภธิดา สุกใส มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *