ตรวจเช็คมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง

เมื่อเข้าสู่วัยทอง เต้านมเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ ก้อนเนื้องอกต่าง ๆ บริเวณเต้านมที่เคยมีในวัยเจริญพันธุ์อาจยุบหรือมีขนาดเล็กลงได้ และเนื้อเยื่อก็มีโอกาสเจริญกลายเป็นมะเร็งได้เช่นกัน หากสตรีวัยทองดูแลเอาใส่เต้านมของตนเองและตรวจค้นพบมะเร็งเต้านมได้เร็วในระยะก่อนลุกลามก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การสังเกตและการคลำเต้านมด้วยตนเองจึงมีความสำคัญกับสตรีวัยทองและวัยเจริญพันธุ์ทุกคน ลักษณะเต้านมที่ปกติ ตำแหน่งหัวนมจะอยู่ระดับเดียวกัน ชี้ออกไปด้านข้างเล็กน้อย สีผิวเหมือนกัน รูปร่างคล้ายกัน ไม่มีการถูกดึงรั้ง ไม่มีเลือดหรือน้ำเหลืองออกมาทางหัวนม ฐานหัวนมสีเสมอกัน ผิวเนียน ไม่มีรอยถลอก เมื่อคลำจะรู้สึกว่า เต้านมนุ่ม หยุ่น ๆ ไม่มีรอยขรุขระ บีบแล้วเจ็บเล็กน้อย มีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกัน ไม่ควรมีสีแดงคล้ำหรือเห็นเส้นเลือดฝอยเป็นร่างแห ไม่มีรอยแผลแตกมีเลือดหรือมีน้ำเหลืองไหล และลักษณะเต้านมที่ผิดปกติ เต้ามนมหรือเต้านมจะมีขนาดและรูปร่างต่างกัน ไม่อยู่ในระดับเดียวกัน หัวนมถูกดึงรั้งผิดปกติ มีน้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนมหรือมีแผล รอยถลอก หูดหรือติ่ง เนื้อที่ตาขึ้นอย่างผิดสังเกต ผิวหนังบริเวณเต้านม ฐานหัวนมมีรอยบุ๋ม รอยนูน และการดึงรั้งผิวหนังมีลักษณะกร้านเหมือนผิวส้ม ผิวหนังถลอก แตกเป็นริ้ว มีเลือดและน้ำเหลืองไหลออกมาเมื่อตรวจสัมผัสด้วยการคลำ จะคลำได้เป็นก้อนเป็นไตแข็ง อาจจะลื่นกลิ้งไปกลิ้งมาหรือยึดติดแน่นกับเนื้อเยื่อผิวหนัง ผิวก้อนอาจมีลักษณะเรียบหรือขรุขระก็ได้ การคลำนั้นควรคลำไปบริเวณใต้รักแร้หรือเหนือไหปลาร้า โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ ช่วง 7 วัน นับจากการมีประจำเดือนวันแรกของรอบเดือนนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่เต้านมนุ่ม ไม่คัดตึง ตรวจคลำได้ง่าย และไม่เจ็บเวลาตรวจ และการตรวจเต้านมด้วยตนเองสามารถตรวจไปในท่าต่าง ๆ ได้ 3 ท่า ท่ายืน ท่านั่ง และท่านอนหงาย มีวิธีการตรวจเต้ามนมด้วยตนเองดังนี้

การสังเกตเต้านมด้วยการดู

  1. ให้ถอดเสื้อผ้าส่วนบนออกเห็นเต้านมทั้งสองข้าง ตรวจด้วยท่านั่งเก้าอี้หรือยืนหน้ากระจก ปล่อยแขนแนบลำตัวทั้งสองข้าง สังเกตขนาดเต้านมทั้งสองข้างว่าเท่ากันหรือไม่ และหัวนมอยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่
  2. ในยกมือทั้งสองข้างขึ้นท้าวสะเอว สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงรอยบุ๋ม รอยนูน และการดึงรั้งของผิวหนัง ระดับของเต้านมและหัวนม
  3. ยกมือทั้งสองขึ้นประสานท้ายทอย สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงรอยบุ๋ม รอยนูน และการดึงรั้งของผิวหนัง ระดับของเต้านมและหัวนม
  4. ยกมือทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ รอยบุ๋ม รอยนูน และการดึงรั้งของผิวหนัง ระดับของเต้านมและหัวนม

การสังเกตเต้านมด้วยการคลำ

หลังจากที่สังเกตเต้านมดูแล้ว การตรวจด้วยการคลำสามารถทำได้ทั้งในท่านั่ง ท่ายืน และท่านอนหงาย โดยยกแขนข้างเดียวกับที่เต้านมที่ตรวจวางไว้ใต้ศีรษะหรือต้นคอหรือในท่านั่งอาจใช้ท่าท้าวสะเอว จากนั้น ใช้ปลายนิ้วมือ 3 นิ้ว นั่นคือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางข้างตรงข้ามกดและคลึงเบาๆ

  1. กดและคลึงเบา ๆ จากเต้านมด้านนอกวนหมุนไปโดยรอบเป็นก้นหอยเข้ามาที่ลานนม หัวนม และบีบหัวนมดูว่ามีเลือดหรือน้ำเหลืองออกมาหรือไม่
  2. กดและคลึงเบา ๆ ในแนวดิ่งขึ้นลงเหมือนสปริงประมาณ 3 – 4 แนวจากบนลงล่าง
  3. กดและคลึงเบา ๆ จากเต้านมด้านนอกเข้ามาที่ลานนมและหัวนมหรือเริ่มจากหัวนมออกไปด้านนอกของเต้านมเป็นรูปดาวกระจาย
ที่มาภาพ มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชะนี (2556)

จากนั้นต้องคลำดูบริเวณเหนือไหปลาร้าและบริเวณรักแร้ด้วย เมื่อพบก้อนหรือพบความผิดปกติ เช่น มีน้ำนมไหลออกมาทั้งที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ มีเลือด น้ำเหลืองออกจากเต้านม สตรีวัยทองต้องทำการตรวจยืนยันด้วยเครื่องเอกซเรย์ หรือเครื่องเสียงความถี่สูงอย่างน้อยละ 1 ครั้ง และแนะนำให้สตรีวัยทองผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม สตรีที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนต่อเนื่อง หรือใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันเกิน 5 ปี ทำการตรวจยืนยันด้วยเครื่องเอกซเรย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งด้วย

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แนะนำให้สตรีทั่วไปเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำเดือนละ 1 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป สตรีอายุ 40 – 69 ปี นอกจากตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำเดือนละ 1 ครั้งแล้ว ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมทุกปี ปีละ 1 ครั้ง และสตรีอายุ 70 ปีขึ้นไป การตรวจมะเร็งเต้านมให้พิจารณาในกลุ่มที่ความเป็นไปที่จะเกิดมะเร็งเต้านม ในสตรีที่มีความสมัครใจอายุ 20 ปีขึ้นไป นอกจากให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธี เป็นประจำทุกเดือนแล้ว ยังควรได้รับการตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างน้อย ทุก 3 ปี และเมื่ออายุ 40 – 69 ปี ไม่มีอาการผิดปกติของเต้านม นอกจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้ว ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมปีละ 1 ครั้ง และได้รับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ ทุก 1 – 2 ปี

ศูนย์ถันยรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช แนะนำให้สตรีอายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน ไม่จำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ สตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน และควรตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ ทุก 2 ปี สตรีอายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือนและควรตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ ทุก 1 ปี สตรีอายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน และควรตรวจด้วยเครื่องเอซเรย์ทุก 1 – 2 ปี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *