การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภาวะทุพพลภาพ

การดูแล (caregiving) เป็นกระบวนการช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะพร่องความสามารถทางร่างกาย และจิตใจตามความต้องการ โดยครอบคลุมทุกด้านไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ซึ่งต้องมีกิจกรรมการดูแล (caregiving activities) กลวิธี และเทคนิคต่าง ๆ ตามลักษณะของงานดูแลที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความต้องการการดูแล (caregiving demands) ของผู้รับการดูแล (care recipient) กล่าวคือ กิจกรรมการดูแลขึ้นอยู่กับข้อจำกัด หรือระดับความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น[i] (Gaugler, Kane, & Langlois, 2000, p. 321) การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภาวะทุพพลภาพต้องมีกระบวนทัศน์ที่ครอบคลุม ทั้งการดูแลแบบองค์รวม (holistic care) การดูแลแบบต่อเนื่อง (continuing care) การดูแลแบบเบ็ดเสร็จ (comprehensive care) การดูแลแบบบูรณาการ (integrative care) ที่เป็นผลมาจากการประสานความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยไม่คำนึงถึงขอบเขตขององค์กร สถาบัน หรือเขตปกครอง แบบไร้รอยต่อจากมุมมองของผู้มีภาวะเรื้อรังและครอบครัว และที่สำคัญต้องเป็นการดูแลโดยใช้ครอบครัว และชุมชนเป็นฐาน (family and community based care) ที่สร้างความตระหนัก และพัฒนาศักยภาพบุคคลให้สามารถอยู่ร่วมกับประชากรอื่นในสังคมได้ตามปกติ ภายใต้บริบทความร่วมมือ และสนับสนุนจากบุคคลรอบตัว ทั้งสมาชิกในครอบครัว และชุมชน[ii] (วรรณรัตน์ ลาวัง, 2561)

การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภาวะทุพพลภาพนั้น เป็นแนวทางการดูแลที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งพบปัญหาในการให้บริการผู้ป่วยได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการรักษาในโรงพยาบาล หรือสถานบริการทางการแพทย์เป็นแรงผลักดันให้ผู้ป่วยทั้งหลายต้องกลับไปรักษาตนเองที่บ้าน ซึ่งผู้ป่วยเหล่านั้นยังต้องการการพึ่งพาผู้อื่น หรือ “ผู้ดูแล” ในการดูแลตนเอง ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ดูแลจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการรักษาในสถานการณ์ปัจจุบันนี้

การดูแลของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภาวะทุพพลภาพ

การดูแลตนเองเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้บุคคลมีสุขภาพดี เจ็บป่วย หรือตาย การดูแลสุขภาพตนเองที่จำเป็น ตามแนวคิดของโอเร็ม (Orem, 2001) ประกอบไปด้วย การดูแลตนเองที่จำเป็นโดยทั่วไปการดูแลตนเองที่จำเป็นตามระยะพัฒนาการ และการดูแลตนเองที่จำเป็นเมื่อมีปัญหาทางด้านสุขภาพ ดังนั้น หากบุคคลมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ถูกต้อง บุคคลจะมีภาวะสุขภาพที่ดีตามความหมายของภาวะสุขภาพดังที่องค์การอนามัยโลกได้กล่าวไว้ว่า “ภาวะสุขภาพที่ดี” คือ มีความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ดังนั้น การดูแลตนเอง หมายถึง การปฏิบัติในกิจกรรมที่บุคคลริเริ่ม และกระทำเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งชีวิต สุขภาพ และสวัสดิภาพของตน การดูแลเป็นการกระทำที่จงใจ และมีเป้าหมาย (Deliberate action) และเมื่อกระทำอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีส่วนช่วยให้โครงสร้าง หน้าที่ และพัฒนาการของแต่ละบุคคลดำเนินไปถึงขีดสูงสุด กิจกรรมการดูแลตนเองรวมทั้งการมุ่งจัดการ หรือแก้ไขปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นการกระทำที่ผู้อื่นสังเกตเห็นได้ และการปรับความรู้สึกนึกคิด และอารมณ์ของตนเอง การดูแลตนเองเป็นพฤติกรรมที่เรียนรู้ภายได้ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของชนแต่ละกลุ่ม[iii]

ความต้องการการดูแลตนเองตามการเบี่ยงเบนของภาวะสุขภาพ (Health deviation self – care requisite) เป็นความต้องการการดูแลที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บ ซึ่งพยาธิสภาพหรือพิการ และรวมถึงบุคคลที่อยู่ภายใต้การรักษา เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในบุคคลจนนำมา ซึ่งภาระที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดบุคคลเปลี่ยนแปลงสถานะจากผู้ที่ดูแลตนเองไปเป็นผู้รับการดูแล ซึ่งโอเร็ม (Orem, 2001) แบ่งความต้องการด้านนี้ เป็น 6 ประเภท ได้แก่

  1. ค้นหาและไว้ซึ่งความช่วยเหลือทางสุขภาพอนามัยที่เหมาะสม
  2. ตระหนักและเอาใจใส่ต่อผล และพยาธิสภาพที่เกิดขึ้น ตลอดจนผลกระทบที่มีผลต่อพัฒนาการของมนุษย์
  3. การปฏิบัติตามแผนการวินิจฉัยปฏิบัติตามแผนการรักษา การวินิจฉัย การฟื้นฟูสภาพ และการป้องกันพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีปัญหาสุขภาพจากสาเหตุต่าง ๆ เมื่อบุคคลได้รับการดูแลช่วยเหลือจากบุคคลในทีมสุขภาพ ซึ่งกิจกรรมการช่วยเหลือต่าง ๆ ต้องการความร่วมมือของบุคคลที่เป็นผู้ป่วย และ/หรือผู้เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วย
  4. รับรู้และสนใจ ในการป้องกันความไม่สบายจากผลข้างเคียงจากการรักษาหรือจากโรค ซึ่งผลข้างเคียงต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เฉพาะในผู้ป่วยแต่ละคน ปรับตัวในการที่จะยอมรับภาวะสุขภาพ และความต้องการการดูแลทางสุขภาพที่เฉพาะเจาะจง ผลจากภาวะเบี่ยงเบนทางด้านสุขภาพ อาจทำให้บุคคลมีการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ความรุนแรงขึ้นกับการรับรู้ของบุคคล อย่างไรก็ตาม บุคคลมีความต้องการการคงไว้ซึ่งมโนทัศน์ต่อตนเองในทางบวก และยอมรับสภาพของตนเอง ตลอดจนยอมรับว่า ตนเองต้องการการดูแลด้านสุขภาพที่เฉพาะเจาะจงตามภาวะสุขภาพของตน
  5. ดัดแปลงอัตมโนทัศน์ และภาพลักษณ์ในการที่จะยอมรับภาวะสุขภาพของตนเอง ตลอดจนความจำเป็นที่ตนเองต้องการความช่วยเหลือเฉพาะจากระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งการปรับบทบาทหน้าที่และการพึ่งพาบุคคลอื่น การพัฒนาและคงไว้ซึ่งความมีคุณค่าของตนเอง
  6. เรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่กับผลของพยาธิสภาพ ภาวะสุขภาพและผลจากการวินิจฉัยโรค และการรักษาเพื่อส่งเสริมพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

[i] Gaugler JE, Kane RA, Langlois J. Assessment of family caregivers of older adults. In: Kane RA, Kane RL, editors. (2000). Assessing older persons: Measures, meaning and practical applications. New York: Oxford University Press; 2000. pp. 320–359.

[ii] วรรณรัตน์ ลาวัง. (2561). ญาติผู้ดูแล: เส้นทางการดูแลผู้มีภาวะเรื้อรัง. กรุงเทพฯ: บริษัท แดเน็กซ์ อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด.

[iii] Orem, D. E., Taylor, S. G., & Renpenning, K. M. (2001). Nursing: Concepts of practice (6th ed.). St. Louis: Mosby.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *