การดูดวงในสังคมไทย

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยมีการนำวิชาโหราศาสตร์มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมในสมัยสุโขทัย โดยมีการนำคัมภีร์สุริยสิทธานตะของอินเดียเข้ามาในรูปของภาษาบาลีซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการคำนวณดวงดาวในสมัยพญาลิไทย

พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่า คนไทยเริ่มรู้จักวิชาโหราศาสตร์อย่างจริงจังในพงศาวดาร สมัยสุโขทัยก็มีการบันทึกเกี่ยวกับการผูกดวงชะตาและเริ่มมีการยกย่องพราหมณ์ที่เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ขึ้นมาเป็นมหาราชครู โดยในราชสำนักจะมีตำแหน่งพระโหราธิบดี แบ่งเป็นโหราหน้า คือ โหรผู้ทำหน้าที่ในราชพิธีพยุหยาตรา พยากรณ์และวางดวงพิชัยสงคราม รวมทั้งทำหน้าที่พยากรณ์พระเคราะห์เจ้านาย

ต่อมาในสมัยอยุธยามีการมอบหมายให้พราหมณ์ในราชสำนักเป็นผู้ทำหน้าที่ทำนายดวงชะตาและคำนวณดูฤกษ์ยามต่าง ๆ ทางโหราศาสตร์โดยจะมีพราหมณ์โหรดา เป็นผู้ประกอบพิธีเกี่ยวกับการทำนายทายทักเรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงโชคลางและหาฤกษ์งามยามดีในพิธีกรรม

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็มี พราหมณ์ปุโรหิต ที่ทำหน้าที่คำนวณและถวายฤกษ์ยามที่ดีในการประกอบราชพิธีต่าง ๆ รวมทั้งถวายคำพยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมืองแด่พระเจ้าแผ่นดินอย่างสม่ำเสมอ เมื่อถึงยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการยุบกรมโหรหลวงเหลือเป็นเพียงกองโหรหลวง สืบเนื่องต่อมาในสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการยกเลิกตำแหน่งพระยาโหราธิบดีที่มีมาแต่โบราณ และลดฐานะกองโหรหลวงให้เป็นแผนกหนึ่งที่ขึ้นกับสำนักพระราชวัง ปัจจุบันสำนักพระราชวังก็ยังมีคณะโหรพราหมณ์ที่อยู่กองพระราชพิธี ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับงานพิธีและฤกษ์ยามอยู่

หลังจากที่เหล่าโหรในราชสำนักถูกลดความสำคัญลง ก็มีการนำความรู้ด้านวิชาโหราศาสตร์ออกมาเผยแพร่สู่ประชาชนมากขึ้น ผู้ที่เคยครอบครองตำราโหราศาสตร์ก็ได้นำมามอบให้เป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามายืมอ่านและคัดลอกตำรับตำราได้อย่างเสรี มีการดังสมาคมโหราศาสตร์ซึ่งทำให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องโหราศาสตร์ได้มากขึ้น จากเดิมที่ความรู้เรื่องโหราศาสตร์จำกัดอยู่แค่หมู่พราหมณ์ในราชสำนัก ก็ได้คลี่คลายเป็นลำดับและขยายลงมาสู่มวลชนมากขึ้น

อาจารย์สานิต ศิริศิษฐ์กุล นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องโหราศาสตร์กับสังคมไทยพบว่า ความเชื่อเรื่องดวงชะตาในไทยดำเนินควบคู่ไปกับความเชื่ออีกหลายอย่างที่ไทยได้รับมา สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเส้นทางที่ดำเนินคู่ขนานมากับดวงในไทย คือ ความเชื่อเรื่องศาสนาหรือเรื่องกรรม คนไทยบางส่วนเชื่อว่า กรรมสามารถดลบันดาลให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ การมีชีวิตในปัจจุบันเป็นผลมาจากอดีตชาติ ดวงจึงเข้ามาตอบความไม่รู้ชะตากรรมของชีวิต

ส่วนพิธีกรรมการแก้ดวงหรือแก้กรรมจะอาศัยวิธีการทางพุทธศาสนา เช่น การถวายสังฆทาน การทำบุญตักบาตร บางครั้งก็จะมีความเชื่อทางไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พิธีเสริมดวงสะเดาะเคราะห์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นความเชื่อในลัทธิพราหมณ์และผี คือ มีการผสมผสานระหว่างความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์ทั้งในภาคการพยากรณ์ลารแก้ไขดวงชะตา

นอกจากนี้ ยังมีการผสมผสานความเชื่อเรื่องดวงแบบจีนเข้ามา ความเชื่อเหล่านี้มาพร้อมกับการอพยพของคนจีนที่มีเข้ามาติดต่อค้าขายและตั้งรกรากในไทย เราจึงมักเห็นสะเดาะเคราะห์แบบจีน พิธีแก้ชง เซียมซีเสี่ยงทาย และการเสริมดวงสารพัดอย่างในคติจีนตามศาลเจ้า

ความเชื่อเรื่องดวงเกี่ยวพันอยู่กับคนไทยมาเป็นเวลานาน มีการเปลี่ยนแปลงและคลี่คลายไปในแต่ละช่วง สิ่งที่น่าสนใจ คือ ไทยเลือกรับวิชาความรู้และนำมาผสมผสานให้เข้ากับวัฒนธรรมของตน สังคมไทยจึงคล้ายกับเป็นเบ้าหลอมทางความเชื่อ หากความเชื่อไหนที่คิดว่า ดีและสามารถเป็นทางออกให้กับชีวิต ก็จะเลือกรับและนำมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตของตน

ดวงกลายเนเครื่องมือแก้ปัญหาชีวิตของคนไทยตั้งแต่ระดับชาวบ้านไปจนถึงปัญหาบ้านเมือง ดวงไม่เคยหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทยเลยตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ แม้ความเชื่อเรื่องดวงอาจเปลี่ยนรูปไปบ้าง อาจถูกเรียกด้วยชื่ออื่น ๆ หรือถูกห่อห้อมด้วยเปลือกที่ต่างกันไป แต่แก่นแท้และเนื้อในก็ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือ เป็นคำตอบให้กับความไม่รู้ ความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนของชีวิต ดวงเกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามเหล่านั้นและจะยังคงอยู่คู่สังคมไทยของเราไปอีกแสนนาน

ที่มาบทความ สิตานัน แผ้วสมบุญ และคณะ. (2560). การศึกษาสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้นแนวตลกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการดูดวงของสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตร์บัณฑิต วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. https://ir.swu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/15616/1/COSCI_2560_Sitanan_P.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *