การจำแนกพฤติกรรมเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง

ในการปรับปรุงรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมและการควบคุมภาวะโภชนาการได้มีการดำเนินการวิจัยจนสามารถจำแนกกลุ่มคนที่มีปัญหาโรคอ้วนและอ้วนลงพุงได้จากพฤติกรรมการออกกำลังกายและการบริโภคอาหารทั้งหมด 5 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1

เป็นกลุ่มที่เน้นรับประทานอาหารที่ให้พลังงานจากน้ำตาลมาก โดยรับประทานอาหารจำพวกข้าวแป้ง น้ำตาล และผลไม้ที่มีรสหวาน รวมทั้งมีพฤติกรรมในการรับประทานอาหารแบบกินจุกจิก กินปริมาณมากและมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย รวมทั้งขาดการออกกำลังกายหรือในบางคนออกกำลังกายแต่ในระดับเบา

กลุ่มเสี่ยง : แม่บ้าน พนักงานบริษัท ผู้สูงอายุ

กลุ่มที่ 2

เป็นกลุ่มที่เน้นรับประทานอาหารที่ให้พลังงานจากไขมันเป็นหลัก หรืออาหารไขมันสูง ได้แก่ อาหารประเภททอดหรือชุบแป้งทอด เนื้อสัตว์ติดมันอาหารที่มีส่วนผสมของกะทิในปริมาณมาก รวมกับมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารตามโฆษณาชวนเชื่อ ทานอาหารในรูปแบบบุฟเฟ่ต์ ซึ่งจะเน้นรับประทานอาหารในปริมาณมากเพื่อให้คุ้มค่า แต่ไม่มีความหลากหลายเนื่องจากมักรับประทานในสิ่งที่ตนเองชอบในปริมาณเยอะเพียงเท่านั้น ด้านพฤติกรรมการออกกำลังกาย มีการออกกำลังกายในระดับเบา และมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันในระดับปานกลาง

กลุ่มเสี่ยง : ได้แก่ เพศชาย และเพศหญิงวัยทำงาน นักศึกษา

กลุ่มที่ 3

เป็นกลุ่มที่เน้นรับประทานเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ชา กาแฟ ช็อคโกแลต โกโก้ ชาเขียว นมสด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ มีพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มดังกล่าวในปริมาณมาก รวมทั้งการรับประทานซ้ำเป็นกิจวัตรประจำวัน ร่วมกับการมีพฤติกรรมชอบสังสรรค์ในช่วงเวลาว่าง ด้านพฤติกรรมการออกกำลังกาย มีกิจกรรมทางกายในการดำเนินชีวิตประจำวันในระดับเบา ในบางคนมีพฤติกรรมกินเสร็จแล้วนอนเฉย

กลุ่มเสี่ยง : นักศึกษา พนักงานบริษัท ผู้บริหารระดับต่าง ๆ

กลุ่มที่ 4

เป็นกลุ่มที่เน้นรับประทานอาหารประเภทจานด่วนหรืออาหารขยะในปริมาณมาก และมีการเติมเครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ เพิ่มเติมในอาหารจานหลักร่วมกับมีพฤติกรรมขาดการออกกำลังกาย และมีกิจกรรมทางกายในการดำเนินกิจวัตรประจำวันในระดับปานกลาง

กลุ่มเสี่ยง : มีโอกาสเป็นได้ทุกกลุ่ม อาทิ เด็ก วัยทำงาน ผู้สูงอายุ แม่บ้าน

กลุ่มที่ 5

เป็นกลุ่มที่เน้นรับประทานขนมกรุบกรอบ ขนมหวานต่าง ๆ ขนมชนิดถั่ว โดยมีพฤติกรรมการรับประทานขนมชนิดต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความหิวหรือรองท้อง หรือเป็นอาหารว่างหลังอาหารมื้อหลัก โดยมีพฤติกรรมการออกกำลังกายในระดับเบา และมีกิจกรรมทางกายในการดำเนินกิจวัตรประจำวันในระดับที่เบา เช่น นั่งหน้าคอมพิวเตอร์โดยไม่มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย

กลุ่มเสี่ยง : พนักงานบริษัทชายและหญิง เด็กวัยเรียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *