fresh-mixed-seafood-salad-spicy-thai-food (1)

อาการ “วัยทอง” ควรมีการป้องกันตั้งแต่ก่อนอายุ 45 ปี เพราะนอกจาก จะเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแล้ว ยังเป็นการดูแลรักษาสุขภาพตั้งแต่เบื้องต้น และยังสามารถป้องกันโรคอื่น ๆ อันเป็นปัญหาสุขภาพระยะยาว เช่น ภาวะกระดูกพรุน น้ำหนักเกินหรืออ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง และเบาหวาน ซึ่งนับว่า มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้น การจัดการอาการไม่พึงประสงค์ด้วยตนเอง โดยมีแนวทางในการดูแลตนเองของคุณผู้หญิงวัยทองเพื่อส่งเสริมสุขภาพตามวัย และบรรเทาอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น ในส่วนนี้ จะแนะนำการดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพในวัยทองในเรื่องการดูแลด้านอาหารมีคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว ดังนี้

การดูแลด้านอาหาร คุณผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน การทำงานของระบบทางเดินอาหารกระเพาะอาหารและลำไส้ มีน้ำย่อยอาหารลดลง ทำให้การย่อยและการดูดซึมไม่ดี อาหารที่ย่อยไม่ได้เมื่อผ่านลำไส้จะถูกแบคทีเรียในลำไส้ย่อยแทน จึงปล่อยก๊าซออกมาทำให้เกิดอาการแน่นท้องและท้องอืดได้ นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของลำไส้มีน้อย จึงทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ คุณผู้หญิงวัยทองจึงควรมีหลักในการรับประทานอาหาร ดังนี้

  1. การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน และมีสัดส่วนที่เหมาะสม หลากหลายชนิดจะช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
  2. ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เป็นโรคอ้วน หรือมีไขมันในเลือดสูงกว่า 220 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จำเป็นต้องมีการจัดการตนเองเพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร รวมไปถึงการออกกำลังกายเพื่อควบคุมภาวะอ้วนลงพุง โดยเปลี่ยนแปลงแผนการบริโภคเพื่อลดคลอเลสเตอรอลในเลือด งดอาหารที่มีคลอเลสเตอรอล และกรดไขมันอิ่มตัวสูง จำกัดพลังงานจากไขมันให้อยู่ระหว่างร้อยละ 20 – 25 ของพลังงานทั้งหมด ใช้น้ำมันพืช เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว งดใช้น้ำมันสัตว์และกะทิ รับประทานปลาทะเลเพิ่ม เนื่องจาก มีไขมันไม่อิ่มตัว และอาร์จินีนสูง เพื่อไปกระตุ้นการสร้าง HDL-C
  3. ควรรับประทานอาหารประเภทที่ให้สารโปรตีนที่มีกรดอมิโนอาร์จินิน เพื่อกระตุ้นให้มีการหลั่ง growth hormone ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์และใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยให้หลับสบาย เช่น ถั่วเหลือง งาขาว กุ้งแห้ง ปลาป่น ปลาทะเล ถั่วแดง ถั่วเขียว ไข่ นม เป็นต้น
  4. รับประทานอาหารประเภทผักผลไม้ และข้าวไม่ขัดสีเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้เส้นใยอาหารมาก ช่วยดูดซับสารอาหารไขมันและน้ำดีไว้ในลำไส้ ทำให้ได้รับสารอาหารไขมันลดลง และช่วยป้องกันท้องผูก ทำให้ผิวพรรณผ่องใส ลดการเกิดมะเร็งลำไส้ ป้องกันท้องอืด วันหนึ่งควรรับประทานอาหารที่มีกากใย 25 – 35 กรัม อาหารที่มีเส้นใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ที่ไม่หวาน ธัญพืชต่าง ๆ เป็นต้น
  5. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อเก็บรักษาระดับแคลเซียมและการสูญเสียแคลเซียมของร่างกาย เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน โดยรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอในปริมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวันในคุณผู้หญิงระยะหลังหมดประจำเดือน อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็กตัวน้อย นม โยเกิร์ต ผักใบเขียว เมล็ดงา สาหร่ายทะเล กุ้งฝอย กุ้งแห้งตัวเล็ก กะปิ ใบชะพลู ใบยอ เห็ดหอม มะขามฝักสด เป็นต้น และควรได้รับวิตามินดี 400 IU ต่อวันในคุณผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี และ 800 IU ต่อวันในคุณผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยวิตามินดีสามารถได้จากการรับประทานอาหาร หรือจากแสดงแดดวันละ 15 – 20 นาที
  6. รับประทานอาหารจำพวกพืชที่ให้ไฟโตเอสโตรเจนสูง ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้สามารถใช้แทนฮอร์โมนที่สังเคราะห์ แม้ว่า ความสามารถอาจไม่ดีเท่า โดยเฉพาะกับคุณผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งมดลูก สารไฟโตเอสโตรเจนจะมีในถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วดำ งา ฟักทอง กะหล่ำปลี บล็อกโคลี แครอท ข้าวโพด มะละกอ มันฝรั่ง ข้าวกล้อง เป็นต้น โดยถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลือจะมีสารไอโซฟาลวอน ซึ่งมีอนุพันธ์หนึ่งของไฟโตเอสโตรเจน ที่มีลักษณะคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิง ไฟโตเอสโตรเจนจะทำให้เยื่อบุของทางเดินปัสสาวะไม่เสื่อมง่าย อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจ ภาวะกระดูพรุน โรคมะเร็ง และกลุ่มอาการวัยทองได้
  7. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทโซเดียม หรือเกลือ แอลกอฮอล์ น้ำตาล คาเฟอีน โดยเฉพาะคุณผู้หญิงวัยทองที่มีอาการนอนไม่หลับ และอาหารประเภทรสหวาน หรือเค็มเกินไปมีผลต่อการขับถ่ายปัสสาวะประเภทรสหวาน หรือเค็มเกินไปมีผลต่อการขับถ่ายปัสสาวะ ระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  8. งดสูบบุหรี่เพราะทำให้สูญเสียเนื้อกระดูกมากขึ้น และเป็นการลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงการช่วยทำให้อุณหภูมิในร่างกายและอาการร้อนวูบวาบลดลง
  9. รับประทานอาหารธรรมชาติที่มีวิตามินสูงโดยเฉพาะ วิตามินเอ ดี อี เค และซี ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเสื่องสภาพของเซลล์ นอกจากนี้ วัยทองควรเสริมวิตามินบีเกือบทุกตัว เพราะการดูดซึมวิตามินบีของลำไส้ลดลงในช่วงวัยนี้ และการเสริมวิตามินบี 1 6 12 และกรดโฟลิกจะมีผลลดระดับกรดอะมิโนที่ชื่อ homocysteine จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและลดการเสื่อมของเซลล์ประสาทสมองได้
  10. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว เพราะเซลล์ในร่างกายของคุณผู้หญิงวัยทองจะมีปริมาณน้ำน้อยลง จึงต้องเพิ่มการดื่มน้ำเพื่อชดเชยปริมาณน้ำในร่างกาย ถ้าได้รับน้ำไม่เพียงพออาจทำให้เกิดโรคหรือสภาวะผิดปกติบางอย่างได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ระบบสมองเสื่อม หน้าที่หลงลืม ความคิดความอ่านสับสน และน้ำยังช่วยขับของเสียออกจากร่างกายด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *