การจัดการสินสมรส สัญญาก่อนสมรส สัญญาระหว่างสมรส

ความหมายของการจัดการสินสมรส

คำว่า “สินสมรส” หมายความว่า ทรัพย์สินอย่างใด ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ส่วนคำว่า “จัดการ” หมายความว่า อำนาจในการจัดการสินสมรส รวมถึง อำนาจจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันซึ่งสินสมรส และอำนาจฟ้องและต่อสู้คดีเกี่ยวกับสินสมรสด้วย

การจัดการสินสมรส กฎหมายแยกไว้เป็น 2 กรณี คือ กรณีให้จัดการโดยลำพังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกับให้จัดการร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสำคัญของการจัดการนั้น ๆ ว่า มีผลเปลี่ยนแปลงต่อสินสมรสมากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นการจัดการที่สำคัญ จะกำหนดให้คู่สมรสต้องจัดการร่วมกันดังที่จำแนกไว้ในมาตรา 1476 ส่วนการจัดการนอกจากที่จำแนกไว้ในมาตรา 1476 อาจไม่ถือว่า สำคัญนักก็ได้ จึงให้สามีหรือภริยาจัดการเองได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมเห็นชอบจากอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ถ้าสามีหรือภริยาจะทำการซื้ออสังหาริมทรัพย์แต่โดยลำพังฝ่ายเดียว นิติกรรมนั้นก็สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ถ้าสามีหรือภริยาประสงค์จะจัดการสินสมรส ให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 โดยจะต้องทำร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ถ้าจะทำแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นทั้งหมดหรือบางส่วน ก็สามารถทำได้โดยให้ทำเป็นสัญญาก่อนสมรสตามมาตรา 1476/1

ในกรณีที่การจัดการสินสมรสต้องจัดการร่วมกัน หรือจะต้องได้รับความยินยอมนั้นการให้ความยินยอม ไม่จำต้องให้ที่สำนักงานที่ดินและต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน ก็มีผลสมบูรณ์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3693/2532 และ 5531/2534) แม้แต่การที่เป็นพยาน ก็ถือว่า เป็นการให้ความยินยอมเช่นกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 3234/2536) ถ้าฝ่ายซึ่งจะต้องให้ความยินยอมหรือลงชื่อ ไม่ให้ความยินยอมหรือไม่ลงชื่อโดยปราศจากเหตุผล หรือไม่อยู่ในสภาพที่จะให้ความยินยอมหรือลงชื่อ ในเรื่องนี้กฎหมายก็ได้หาทางออกได้ โดยให้ฝ่ายซึ่งประสงค์จะได้รับความยินยอมหรือลงชื่อ ร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้ ส่วนในกรณีที่คู่สมรสได้จัดการสินสมรสไป โดยปราศจากความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่จะต้องให้ความยินยอมมีสิทธิที่จะฟ้อง ขอให้ศาลเพิกถอน นิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสคู่ฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน[1]

ความหมายของสัญญาก่อนสมรส

สัญญาก่อนสมรส คือ ข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินระหว่างชายหญิงก่อนสมรส หรือขณะจดทะเบียนสมรส เมื่อได้ถูกกระทำถูกต้องสมบูรณ์แล้วหากจะเพิกถอนเปลี่ยนแปลงแก้ไขต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน

สาระสำคัญของสัญญาก่อนสมรส คือ จะต้องกระทำสัญญาก่อนสมรส หรืออย่างช้าที่สุดในขณะจดทะเบียนสมรส ถ้ากระทำหลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้วก็เป็นสัญญาอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า สัญญาระหว่างสมรส และสัญญาก่อนสมรสเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินเท่านั้น

เมื่อได้ทำสัญญาก่อสมรสแล้ว ถ้ามิได้แจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรส และพยานอย่างน้อยสองคน แนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่า ได้มีสัญญานั้นแนบไว้ สัญญาก่อนสมรสนั้นเป็นโมฆะ

ถึงแม้ว่า กฎหมายจะได้บัญญัติในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเอาไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้บุคคลผู้เป็นสามีภริยาเลือกที่จะใช้วิธีปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนต่างหากจากที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ อันเป็นการเคารพเจตนาของคู่สมรส โดยทำเป็นสัญญาก่อนสมรสซึ่งเป็นการยกเว้นไม่ใช้ระบบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ข้อตกลงจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย

การทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรสนี้ จะต้องเป็นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สิน และข้อความใด ๆ ในสัญญาก่อนสมรส จะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือจะต้องไม่ระบุว่า ให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ไม่เช่นนั้น ข้อความนั้น ๆ เป็นโมฆะ แต่การเป็นโมฆะของสัญญาก่อนสมรสนั้น ๆ หาได้ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับไม่ คงตกเป็นโมฆะเฉพาะข้อความที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือข้อความที่ระบุให้ใช้กฎหมายของประเทศอื่นเท่านั้น

การทำข้อตกลงเป็นสัญญาก่อนสมรส ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนตัวของชายและหญิงก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะข้อจำกัดของสัญญาก่อนสมรส คือ ชายและหญิงจะทำสัญญากันได้เฉพาะข้อตกลงในเรื่องการจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีและภริยาเท่านั้น ไม่ใช่กำหนดตัวทรัพย์ว่า ทรัพย์ใดเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส เพราะลักษณะของสินส่วนตัวหรือสินสมรสนั้น กฎหมายได้กำหนดไว้แล้ว ชายหรือหญิงจะกำหนดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คงทำสัญญาก่อนสมรสได้เพียงว่า สินส่วนตัวหรือสินสมรสที่มีอยู่ ฝ่ายใดจะเป็นคนจัดการและจะจัดการอย่างไร

เมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสแล้ว คู่สมรสจำต้องรับผลความผูกพันของข้อสัญญานั้น ๆ ถ้าหากว่า หลังจากสมรสแล้ว คู่สมรสประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสนั้น ก็สามารถที่จะกระทำได้ แต่จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน

สัญญาก่อนสมรสมีผลผูกพัน คู่สมรสจะต้องปฏิบัติตาม แต่สำหรับบุคคลภายนอก แม้ว่าจะได้มีสัญญาก่อนสมรส โดยวางหลักเกณฑ์ในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไว้แตกต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ก็ตาม ถ้ามีบุคคลภายนอกได้กระทำการใดกับคู่สมรสในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของคู่สมรส แตกต่างไปจากข้อความที่ได้ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส ในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468 ได้บัญญัติไว้ว่า “ข้อความในสัญญาก่อนสมรส ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ไม่ว่าจะได้เปลี่ยนแปลง เพิกถอนโดยคำสั่งศาลหรือไม่ก็ตาม”[2]

ความหมายของสัญญาระหว่างสมรส

เมื่อได้สมรสกันแล้ว ในระหว่างที่อยู่กินด้วยกัน ในทางกฎหมายเรียกว่า อยู่ในระหว่างสมรส ตราบใดที่ยังไม่หย่าขาดจากกัน และในระหว่างสมรสนั้น สามีภริยาอาจจะทำสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ต่อกันก็ได้ โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ได้บัญญัติถึงสัญญาระหว่างสมรสไว้ว่า

สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคล ภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

สัญญาระหว่างสมรสที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกัน ต้องเป็นสัญญา ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น และจะต้องทำขึ้นในระหว่างสมรส คือ หลังจากที่ชายหญิงเป็นสามีภริยากันถูกต้อง ตามกฎหมายแล้ว จะทำก่อนสมรสหรือเมื่อการสมรสสิ้นสุดแล้วไม่ได้ ซึ่งสัญญาระหว่างสมรสส่วนใหญ่จะมีวัตถุแห่งหนี้เป็นทรัพย์สิน ซึ่งได้แก่ สัญญาซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ เป็นต้น

ในระหว่างสมรส ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำสัญญายกที่ดิน หรือทรัพย์สินส่วนของตนให้เป็นสินส่วนตัวของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ย่อมทำได้ โดยถือเป็นสัญญาระหว่างสมรส หรือทำสัญญาและจดทะเบียนยกที่ดินให้คู่สมรสของตน ย่อมทำให้ที่ดินแปลงนั้นหมดสภาพจากสินสมรสและกลายเป็นสินส่วนตัวของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เป็นสัญญาระหว่างสมรส ตลอดจนการตกลงกันเกี่ยวกับทรัพย์สิน ในการจดทะเบียนหย่า ถือว่า เป็นสัญญาระหว่างสมรสเช่นกัน ซึ่งในเรื่องนี้เคยมีคำพิพากษาวินิจฉัยเกี่ยวกับการที่คู่สมรสยกทรัพย์สินที่ดินที่มีชื่อของตนฝ่ายเดียวให้แก่คู่สมรสของตนถือว่า เป็นสัญญาระหว่างสมรส ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 337/2530 ที่กล่าวไว้ว่า

โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสแต่ผู้เดียวในระหว่างสมรส จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าว พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ แสดงว่า จำเลยมีเจตนายกทรัพย์สินนั้นหมดสภาพจากการเป็นสินสมรสและตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ และสัญญานี้เป็นสัญญาระหว่างสมรสที่สมบูรณ์ให้ชังคับกันได้ เมื่อจำเลยยกทรัพย์สินให้แก่โจทก์และทรัพย์สินนั้นตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) แล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์นั้นต่อไป โจทก์จำเลยหย่ากันโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์สินดังกล่าวได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) ที่บัญญัติให้ทรัพย์สินที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการให้โดยเสน่หาเป็นสินส่วนตัว มิได้กำหนดให้ใช้บังคับแต่เฉพาะกรณีที่บุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น แต่ได้รวมถึงกรณีที่สามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วย

สัญญาระหว่างสมรสที่เกี่ยวกับทรัพย์สินต่าง ๆ นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาที่เป็นสามีภริยากันอยู่ หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ การบอกล้างเป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่สมรส แต่เมื่อได้บอกล้างแล้ว สิทธิและหน้าที่ในทรัพย์สินย่อมตกเป็นมรดกไปยังทายาทของคู่สมรสนั้นด้วย ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 5485-5486/2537

โจทก์เป็นผู้ยกที่ดินให้จำเลยผู้เป็นภริยาระหว่างสมรส โจทก์มีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสในเวลาใดก็ได้ระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ โจทก์มีหนังสือบอกล้างไปถึงจำเลยเป็นการบอกล้างโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 แล้วและแม้สิทธิบอกล้างจะเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่เมื่อบอกล้างโดยชอบก่อนที่โจทก์จะถึงแก่กรรมแล้ว จึงไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวอีกต่อไป และย่อมตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ ทายาทจึงเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมในระหว่างพิจารณาได้

สัญญาระหว่างสมรสใช้บังคับได้เฉพาะคู่สมรส แต่สำหรับบุคคลภายนอก ผลเช่นเดียวกับในเรื่องสัญญาก่อนสมรส คือ ถ้าบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริต แม้ว่า การกระทำนั้น จะขัดกับสัญญาระหว่างสมรส ก็ถือว่า การกระทำของบุคคลนั้นสมบูรณ์ แต่เมื่อใดมีการบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้ว ความผูกพันตามสัญญาก็สิ้นไป แต่กิจการใด ๆ ที่ได้กระทำไว้ก่อนการบอกล้างก็ถือว่า ใช้ได้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการได้มาหรือการเสียไปของบุคคลภายนอก เช่น ภริยาทำสัญญายกที่ดินส่วนของตนให้เป็นสินส่วนตัวของสามี ถ้าสามีเอาไปขายบุคคลภายนอกแล้ว และบุคคลภายนอกซื้อไว้โดยสุจริต เช่นนี้สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมไม่เสียไป[3]


[1] วารี นาสกุล, 2546. หน้า 119.

[2] วารี นามสกุล. 2546. หน้า 99.

[3] วารี นาสกุล. 2546. หน้า 104.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *