การกลายเป็นเน็ตไอดอลของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ)

ในช่วงปี 2561 ถึงปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วกว้างขวางไร้พรมแดนและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องไร้ขีดจำกัดต่อคนทุกกลุ่ม ทุกเพศวัยจากสถิติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประเทศไทยในปี 2561 พบว่า คนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นอันดับที่ 8 ของโลกโดยเฟซบุ๊ค (Facebook) เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นความนิยมดังกล่าว คือ การที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่มีการใช้เฟซบุ๊ค (Facebook) มากที่สุดของโลกเป็นอันดับ 1

จุดเด่นของเฟซบุ๊ค คือ การเชื่อมต่อคนหลายคนเข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย ผู้ใช้สามารถแบ่งปันเรื่องราวและแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ รวมไปถึงการสร้างกลุ่มต่าง ๆ เพื่อตอบสนองรูปแบบความต้องการในทิศทางเดียวกัน[1] อนึ่ง ในปัจจุบันเฟซบุ๊คได้มีการพัฒนาการในการนำเสนอเรื่องราวเนื้อหาจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบและองค์ประกอบต่าง ๆ ให้มีลูกเล่นใหม่ที่สามารถดึงดูดความน่าสนใจจากผู้ใช้งานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอในรูปแบบของวิดีโอ ลิงค์ รวมไปถึงการถ่ายทอดสด (Live) เป็นต้น

ในปี 2563 เฟซบุ๊คยังเป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก คนไทยใช้เฟซบุ๊คเป็นอันดับที่ 8 ตามด้วยทวิตเตอร์และอินสตาแกรมที่อยู่ในอันดับที่ 15 และ 17 ของโลกตามลำดับ[2] อนึ่ง ติ๊กต๊อก (Tik Tok) เป็นแพลตฟอร์ม (Platform) ใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมของคนไทย มีจุดเด่น คือ ระบบจะทำการวิเคราะห์ความชอบหรือพฤติกรรมของผู้ใช้งานว่า อยู่ในกลุ่มใด และผู้ใช้งานสามารถสร้างและเข้าถึงเนื้อหาของกลุ่มที่ชอบในสิ่งเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบจะมีการส่งให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่ได้จำกัดที่ฐานของผู้ติดตาม[3]

การพัฒนาของสื่อสังคมออนไลน์ที่เน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแทบทุกกลุ่มในสังคม ทำให้สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและมีอิทธิพลต่อความคิดและทัศนคติของผู้บริโภค ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ เช่น การเกิดเครือข่ายสังคมทางธุรกิจ การเกิดขึ้นของนักข่าวพลเมือง (Citizen journalism) การจัดตั้งองค์กรเพื่อการกุศล องค์กรเพื่อระดมทุน หรือองค์กรเพื่อทำการรณรงค์ รวมไปถึงปรากฏการณ์การคุกคามในสื่อสังคมออนไลน์จนเกิดการฆ่าตัวตายดังกรณีของเมแกน ไมเยอร์ (Megan Meier)[4]

ในบรรดาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ ปรากฏการณ์ที่แพร่หลายและเป็นที่วิพากวิจารณ์อย่างหนึ่งทั้งในและนอกโลกไซเบอร์ทั่วโลก คือ ปรากฏการณ์เน็ตไอดอลซึ่งหมายถึง การแจ้งเกิดของคนกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ จากการแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ การแสดงลักษณะเด่น เช่น รอยสัก การอาศัยความสวย / ความหล่อ / ความเซ็กซี่ / ความตลก หรือการโชว์ไลฟสไตล์แบบต่าง ๆ โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางในการนำเสนอ[5] โดยมีจำนวนของผู้ติดตาม (Follower) จำนวนคนถูกใจ (Like) จำนวนการรับชม (View) และจำนวนของการแบ่งปัน (Share) เป็นตัวชี้วัด[6]

ปัจจุบันประเภทของเน็ตไอดอลมีหลายรูปแบบ เช่น กลุ่มเน็ตไอดอลหน้าตาดี กลุ่มโดดเด่นด้านกีฬา กลุ่มมีความสามารถทางวิชาการ กลุ่มมีคามสามารถด้านตลกขำขัน และกลุ่มที่เน้นความเซ็กซี่ เป้นต้น ตัวอย่างของเน็ตไอดอลในไทย เช่น แฮปปี้ พอลล่า ซึ่งเป็นเน็ตไอดอลสาวประเภทสองที่ใช้ความสามารถพิเศษในด้านของความตลกขำขันมานำเสนอเรื่องราวผ่านภาพถ่าย คลิปวิดีโอจนมีผู้ติดตามถึง 1,292,215 คน อีกทั้งยังมีแฟนคลับที่เป็นชาวจีนจำนวนมาก ส่งผลให้เธอมีผลงานด้านการแสดงหลายชิ้นที่ประเทศจีน ทั้งนี้ ท่ามกลางการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของเน็ตไอดอล คนส่วนหนึ่งในสังคมเชื่อว่า การเป็นเน็ตไอดอลทำให้ชีวิตประสบผลสำเร็จ นักวิชาการส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า การเป็นเน็ตไอดอลอาจกลายเป็นอุดมคติของความสำเร็จในชีวิตของเยาวชนที่มีความเชื่อว่า นี่เป็นวิธีทางที่ประสบความสำเร็จได้โดยง่าย โดยไม่ต้องเรียนรู้หรือฝึกฝนเกี่ยวกับวิชาชีพ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในสังคม[7]

เป็นที่น่าสังเกตว่า เน็ตไอดอลในเมืองไทยบางกลุ่มเป็นคนชายขอบในเชิงวัฒนธรรม หมายถึง กลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมย่อย (subculture) ที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือได้รับการเลือกปฏิบัติจากผู้คนในกระแสวัฒนธรรมหลัก เป็นกลุ่มคนที่ขาดอำนาจในการต่อรองทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ภูมิศาสตร์ วิถีชีวิตของคนชายขอบทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม จึงต้องดำเนินไปในแบบต้องต่อสู้ดิ้นรนแข่งขัน เพื่อที่จะทำให้พวกเขาสามารถอยู่ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าวได้[8]

ในสังคมไทยผู้ที่เป็นคนชายขอบรวมถึงคนยากจน คนไร้รัฐไร้สัญชาติ คนพิการ แรงงานข้ามชาติ ผู้สูงอายุ คนที่มีเพศวิถีทางเลือก เป็นต้น[9] คนเหล่านี้หลายกลุ่มได้กลายมาเป็นเน็ตไอดอลที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยในปัจจุบัน การเกิดขึ้นของเน็ตไอดอลชายขอบในสังคมไทยได้รับการตั้งข้อสังเกตและวิพากวิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น เก่ง ลายพราง อดีตผู้ต้องหาที่เคยถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะพ้นโทษและออกมาสร้างกระแสความโด่งดังจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ หรือเปรี้ยวมาตกรคดีฆ่าหั่นศพ ที่ระหว่างการเผยแพร่ความคืบหน้าของคดีดังกล่าว ก็ได้มีการนำเสนอเรื่องราวชีวิตส่วนตัว ครอบครัวรอยสัก รวมไปถึงการติดตามให้กำลังใจเปรี้ยวจากบรรดาแฟนคลับเป็นจำนวนมาก[10] ท่ามกลางการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นที่น่าสนใจว่า การที่สังคมได้กำหนดสถานะคนกลุ่มหนึ่งให้เป็นคนชายขอบที่มีความ “แปลกแยก” และ “แตกต่าง” แต่ในขณะเดียวกันก็ให้การยอมรับพวกเขาในฐานะเน็ตไอดอล

LGBTQ ในสังคมไทยโดยทั่วไป ได้แก่ คนเพศที่สาม เกย์ ทอม ดี้ คนข้ามเพศ กระเทย สาวประเภทสอง ชายรักชาย หญิงรักหญิง เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล เควียร์ เป็นต้น บ่อยครั้งที่ LGBTQ ถูกแบ่งแยกให้อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “เพศอื่น ๆ” มีนัยไปทางที่ไม่ปกติ เพราะไม่เข้ากับโครงสร้างทางเพศภาวะและเพศวิถีที่สังคมยอมรับ[11] สถานการณ์ LGBTQ นั้นยังมีความซับซ้อนถึงแม้ว่า ประเทศไทยจะดูเหมือนมีการยอมรับคนกลุ่ม LGBTQ มากขึ้น แต่อคติและการเลือกปฏิบัติที่มีต่อคนกลุ่มนี้ก็ยังดำเนินอยู่ การยอมรับคนกลุ่มนี้ได้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อประพฤติตนอยู่ในกรอบบางอย่างของสังคมและไม่แสดงตัวตนอย่างเปิดเผย

เน็ตไอดอลกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ จากผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เกี่ยวกับประเด็นของเน็ตไอดอล พบว่า เน็ตไอดอลกลุ่มดังกล่าว เป็นที่พูดถึงในฐานะที่มีความโด่งดังจนเป็นดารานักแสดงหรือผู้ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันอยู่หลายคน อาทิเช่น มาดามมด สุชาติ แคปเจอร์ แม่บ้านมีหนวด โยชิ มะเดี่ยว (ม๊าเดี่ยว) เป็นต้น[12]

LGBTQ ในประเทศไทยที่มีการเปิดตัวอย่างชัดเจนและเป็นกระแสโด่งดังที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มคนข้ามเพศ (transgender) ซึ่งหมายถึง คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศภาวะที่แตกต่างจากเพศภาวะที่สังคมกำหนดให้คนนั้นบนพื้นฐานของเพศกำเนิด อาจแบ่งได้เป็นผู้หญิงข้ามเพศ (transgender woman / transwoman) คือ การข้ามเพศจากชายเป็นหญิง รู้สึกว่า ตนมีความเป็นหญิงมากกว่าความเป็นชาย การแสดงออกทางเพศและการแต่งกายในลักษณะที่เหมือนหรือคล้ายผู้หญิงในบางคนอาจปรับปรุงร่างกายด้วยการศัลยกรรมและด้วยผลิตภัณฑ์ฮอร์โมน ให้ร่างกายดูคล้ายผู้หญิง ซึ่งคนในกลุ่มนี้ในบริบทของสังคมไทยบางส่วนเรียกเพศตนเองว่ากระเทย สาวประเภทสอง เป็นต้น[13]

ในประเด็นการทำให้คนหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เป็นคนชายขอบชี้ให้เห็นว่า LGBTQ ยังมีสถานะเป็นคนชายขอบอยู่ในสังคมไทย ถึงแม้ว่า ในสังคมปัจจุบันจะมีการยอมรับ LGBTQ มากขึ้น แต่เป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือ ปัจจุบันสังคมได้พยายามสร้างภาพให้ดูเหมือนว่า คนข้ามเพศนั้นมีสิทธิและความเสมอภาคไม่ต่างกับคนทั่วไป แต่ภายใต้มายาคติทางสังคมดังกล่าวนั้นยังคงสร้างภาพลักษณ์ให้คนข้ามเพศมีความหมายและคุณค่าเชิงลบตลอดเวลา คนข้ามเพศถูกปฏิบัติให้เป็นสีสันของสังคม ถูกตีตราว่า เป็นตลกน่าขบขัน คนข้ามเพศหลายคนพยายามสร้างจุดเด่น แต่ทั้งนี้ การยอมรับของสังคมไทย อยู่ที่ระดับการยอมรับได้ตามศักยภาพ ความสามารถอาชีพ ฐานะเศรษฐกิจและสังคม[14]

ทั้งนี้ ประเด็นการกลายเป็นเน็ตไอดอลของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของเน็ตไอดอล LGBTQ เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบหนึ่งแต่ทำภายใต้กรอบของพื้นที่ที่โซเซียลมีเดีย ซึ่งเป็นโลกเสมือนจริง ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) สามารถที่จะเป็นอิสระในการปลดปล่อยความเป็นตัวเอง ทำให้รู้สึกมีตัวตนจากการถูกกีดกัน รวมไปถึงการเป็นที่ยอมรับ ประเด็นนี้สอดคล้องกับคำอธิบายเชิงทฤษฎีที่มีอยู่กล่าวคือ ทฤษฎีการสร้างพื้นที่ทางสังคมที่อธิบายว่า ในมิติเชิงสังคมวัฒนธรรมพื้นที่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความคิดของมนุษย์ที่เมื่อนำตนเองเข้าไปร่วมอยู่ในประสบการณ์นั้นแล้ว ทำให้ความคิดและความรู้สึกแตกต่างกันไป ดังนั้น เมื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ได้อ้างอิงตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทางสังคมที่เรียกว่า โซเซียลมีเดียนั้นก็ทำให้พวกเขารู้สึกมีตัวตนมากขึ้น

ถึงแม้เน็ตไอดอลจะมีผู้ให้ความสนใจ ชื่นชอบ ติดตามจำนวนมาก แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็ยังไม่ได้เป็นวัฒนธรรมหลักของสังคมอยู่ดียังเป็นเหมือนการซ้อนวัฒนธรรมย่อย เข้าไปในวัฒนธรรมย่อยอีกหลาย ๆ ชั้น จึงไม่สามารถที่จะสรุปได้เลยว่า การยอมรับที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการยอมรับที่แท้จริง อาจเป็นเพียงแค่การติดตามเพื่อให้เกิดอารมณ์ขัน หรือเป็นเพียงแค่การยอมรับในด้านใดด้านหนึ่ง กับคนกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มเท่านั้น ในประเด็นนี้ สอดคล้องจากงานวิจัยของปิยลักษณ์ โพธิวรรณ์ ที่ศึกษาเรื่อง คนข้ามเพศ : ตัวตน วัฒนธรรมย่อย และพื้นที่ทางสังคม (INDENTITY, SUB – CULTURAL AND SOCIAL SPACE OF THE TRANSGENDER) แต่ถึงแม้ว่า ปัจจุบันการใช้สื่อสังคมออนไลน์ยังไม่ใช่วัฒนธรรมหลัก ในอนาคตวรรณกรรมในโลกไซเบอร์รวมถึงสื่อสังคมได้ถูกพัฒนามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการต่อกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มาแทนคนรุ่นเก่าหรือผู้สูงอายุ การที่เน็ตไอดอล LGBTQ ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ในการต่อรองต่อกระบวนการเป็นชายขอบในอนาคตจะประสบผลสำเร็จมากขึ้นจากอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ลดความเป็นชายขอบของ LGBTQ

อีกข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่ง ปัจจุบันเริ่มที่จะมีการนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของ LGBTQ ในสื่อกระแสหลักผ่านผลงานที่นำเสนอทางโทรทัศน์ ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น ได้แก่ ซีรี่ย์วาย (Y) ที่เป็นการนำเสนอความรักของชายรักชาย ซึ่งซีรี่ส์วายจะนำเสนอตัวละครหลัก คือ ฝ่ายชาย ส่วนฝ่ายหญิงเป็นเพียงตัวละครเสริมความรักของชายรักชาย ตัวละครหญิงในซีรีส์วายอาจปรากฏในลักษณะที่เป็นตัวร้าย คอยขัดขวางความรักของพระเอกกับนายเอก ต่างจากสมัยก่อนที่กลุ่มคนชายรักชายจะเป็นเพียงตัวละครประกอบ มีภาพแทนในเชิงลบ แต่ในซีรีส์วายปัจจุบันได้มีการนำเสนอความรักของชายรักชายในลักษณะเชิงบวกมากขึ้น[15] เมื่อนำมาพิจารณากับปรากฏการณ์ของเน็ตไอดอล กล่าวคือ เน็ตไอดอลที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ที่มีร่างกายหรือเพศสรีระเป็นเพศชาย ได้แก่ เกย์ หญิงข้ามเพศ (transwoman) เช่น กระเทย สาวประเพศสอง จะมีให้เห็นในสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีเพศสรีระเป็นเพศหญิง ได้แก่ ชายข้ามเพศ (transman) เลสเบี้ยน ทอม ดี้ ซึ่งเน็ตไอดอลกลุ่มที่มีเพศสรีระเป็นเพศหญิง ที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นกลุ่มที่มีฐานะเศรษฐกิจค่อนข้างดี หรือมีอาชีพที่มั่นคง จากข้อสังเกตนี้ อาจวิเคราะห์ลึกลงไปได้ว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ที่มีเพศสรีระเพศหญิง จะเปิดเผยตัวตนของตนเองได้น้อยกว่า เพราะเชื่อว่า สังคมจะให้การยอมรับกลุ่มนี้ในระดับที่น้อยกว่ากลุ่มที่มีเพศสรีระเพศชาย แสดงให้เห็นถึง อิทธิพลของอุดมการณ์ทางเพศ “สังคมชายเป็นใหญ่” ที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย สอดคล้องกับงานวิจัยของ ปณิธี บราวน์ ที่ศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศกับพหุวัฒนธรรมในสังคมไทย เพศวิถีที่หลากหลายยังถูกนิยามอยู่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ กล่าวคือ แม้จะเป็นชายรักชาย หรือเกย์ที่ถูกนิยามว่ามีเพศวิถีเบี่ยงเบน แต่การที่บุคคลเหล่านี้มีความเป็นผู้ชายในทางสรีระ จึงมีความชอบธรรมสามารถแสดงออกทางเพศได้ ในขณะที่หญิงรักหญิงมี “ความเป็นผู้หญิง” ไม่ควรเปิดเผยหรือแสดงออกเรื่องเพศ ส่งผลให้เรื่องราวของหญิงรักหญิงไม่ค่อยถูกนำเสนอ แทบไม่ได้รับการตระหนักรู้มีตัวตนหรือพื้นที่ทางกายภาพและสังคม[16][17]


[1] ขวัญชนก กมลศุภจินดา, 2557

[2] Simon Kemp, 2020

[3] ปกรณ์ วัฒนเฉลิมวุฒิกร, 2563

[4] กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์, 2559

[5] วาสนา ธนะสีรังกูล, 2559

[6] กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2559

[7] สุวรรณ จันทิวาวาสารกิจ, 2559

[8] สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนา กิติอาษา, 2542

[9] สุริชัย หวันแก้ว, 2550

[10] ไทยรัฐออนไลน์, 2560

[11] สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UNDP, 2557

[12] สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2559

[13] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2559

[14] ปิยลักษณ์ โพธิวรรณ, 2554

[15] นุชณาภรณ์ สมญาติ, 2561

[16] ปณิธี บราวน์, 2557

[17] ขอขอบคุณที่มาบทความ การกลายเป็นเน็ตไอดอล : การตอบโต้การทำให้เป็นชายขอบของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) โดย จริยา ถนัดค้า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จาก http://202.28.34.124/dspace/bitstream/123456789/1511/1/59011380003.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *