กระแสวัฒนธรรมจากต่างแดนผ่านภาพยนตร์ “สินค้าทางวัฒนธรรม” จากประเทศเกาหลีใต้

ยุคแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน ผลพวงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ แสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของความสัมพันธ์ที่เกิดการเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน รัฐบาล เอกชน ประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่ง ซีกโลกหนึ่งสู่อีกซีกโลกหนึ่ง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และทำลายข้อจำกัดต่าง ๆ ในเรื่องพรมแดน และพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรม เกิดการไหล่บ่าของวัฒนธรรมจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง ทำให้กระแสวัฒนธรรมจากต่างแดนสามารถเข้ามาครอบครองพื้นที่ความนิยมได้อย่างไม่ยากนัก

อานันท์ กาญจนพันธ์ กล่าวว่า โลกยุคไร้พรมแดนก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมข้ามพรมแดน (Transnational Culture) กระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดมิติของวัฒนธรรมที่หลุดออกจากพื้นที่ หรือพรมแดนวัฒนธรรมในเชิงพื้นที่จะค่อย ๆ สลายตัว

เมื่อวัฒนธรรมมีการถ่ายโอนจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศ ทำให้วัฒนธรรมที่แข็งแรงกว่าครอบและยึดครองวัฒนธรรที่อ่อนแอกว่าโดยปริยาย โดยอาจแฝงตัวอยู่ในวัฒนธรรมรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ศิลปะ ดนตรี ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ อาจเรียกว่า สินค้าทางวัฒนธรรม

ภาพยนตร์นับเป็นหนึ่งในสินค้าทางวัฒนธรรมที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด นักวิชาการหลายท่านกล่าวว่า ภาพยนตร์เป็นงานบันทึกประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุด มีเนื้อหาครอบคลุมถึงสภาพสังคม ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เหตุการณ์สำคัญ การเมือง เศรษฐกิจ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้น ๆ นอกจากนั้น ยังจัดเป็นงานศิลปะร่วม (Collaborative Art) ที่เกิดจากการรวมศิลปะแขนงต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เป็นสื่อสารมวลชนที่มีอิทธิพลสูงต่อสังคมในระดับกว้าง ความสำคัญของภาพยนตร์ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะเป็นธุรกิจซึ่งสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลแล้ว สามารถสร้างผลประโยชน์อื่น ๆ ในเชิงบวก ได้แก่ ประเทศผู้ผลิต ทั้งในแง่การสร้างภาพลักษณ์ การประชาสัมพันธ์ ประเทศให้เป็นที่รู้จักในสังคมโลก อีกทั้งยังมีอิทธิพลในการสร้างกระแสบริโภคต่าง และสร้างความเชื่อที่ให้ผลโดยรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ ของประเทศ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลกมีการเติบโต และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อิทธิพลของภาพยนตร์มีผลต่อการปรับเปลี่ยน แนวคิด ความเชื่อ ค่านิยม อันเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม อาทิ ภาษา ศิลปะ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี และศีลธรรมอันดีงามของสังคม ภาพยนตร์ได้แทรกซึม และเป็นพื้นที่สำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ไปสู่สังคมโลก สหรัฐอเมริกาเป็นชาติแรก ๆ ที่ใช้ภาพยนตร์ในการสร้างกระแส “Americanization” เพื่อครอบและยึดครองพื้นที่ทางวัฒนธรรมในประเทศต่าง ๆ โดยการใช้กระบวนการขายสินค้าทางวัฒนธรรมผ่านการแทรกซึมของภาพยนตร์อเมริกัน โดยมี Hollywood เป็นสถานีสำคัญในการส่งออกสู่ประเทศต่าง ๆ ภาพยนตร์ Hollywood หลายเรื่องกลายเป็นสื่อกลางที่แสดงถึงความศิวิไลซ์ของสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังแฝงประเด็นในด้านการเมือง การแสดงออกถึงเดชานุภาพที่มีอำนาจเหนือประเทศอื่น ๆ ในทางกลับกันภาพยนตร์อาจจะมีส่วนในการชี้นำความเป็นไปในสังคม รวมถึงเป็นสื่อวัฒนธรรมหรือชี้นำทางด้านศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ของสังคมนั้น ๆ ด้วย จนทำให้เกิดภาวะการเลียนแบบ ในทุกวันนี้ ทุกคนยังคงจำภาพของมอริลีน มอนโร ในชุดกระโปรงเปิดได้อย่างติดตา การทำผม การแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม การแสดงท่าทาง กลายมาเป็นรูปแบบที่ประชาชนทั่วไปนำมาเลียนแบบในชีวิตประจำวัน สหรัฐอเมริกาได้ใช้กระแส Americanization โดยใช้วิถีทางในการขยายวงศ์ไพบูลย์ปลูกฝังค่านิยมต่าง ๆ สู่ประเทศอื่น จนทำให้ทุกวันนี้ สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศมหาอำนาจผู้นำโลกในปัจจุบัน

นอกจาก ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ประเทศญี่ปุ่นนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ดำเนินนโยบายการแย่งชิงพื้นที่ และการผ่องถ่ายวัฒนธรรมของตนไปสู่ประเทศอื่น ๆ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โดยใช้กระแส J-Trend แทรกซึมผ่านภาพยนตร์การ์ตูน และภาพยนตร์วัยรุ่น ซึ่งนอกจาก สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นอย่างมหาศาล แล้วยังทำให้วัฒนธรรมต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่นสามารถยึดครองพื้นที่ในทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

รองศาสตร์จารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า “Japanization หรือกระบวนการกลายเป็นญี่ปุ่น” ซึ่งจะขอเรียกว่า อาทิตยานุวัตรนั้น มีจุดเริ่มต้นจากเงื่อนไขระบบเศรษฐกิจโลกที่เน้นการรวมกลุ่มในภูมิภาค ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนท่าทีและหันมาสร้างความสัมพันธ์ในด้านสังคมและวัฒนธรรมต่อประเทศในเอเชียด้วยกัน จนก่อให้เกิดกระแสความนิยมต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่น

นอกจากนี้ กระแส “Hallyu” หรือ “Korean Wave” วัฒนธรรม K-POP จากประเทศเกาหลีใต้ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยส่วนสำคัญเกิดจากภาพยนตร์ของเกาหลี ทั้งในรูปแบบภาพยนตร์จบในตอน ภาพยนตร์ซีรี่เรื่องยาวที่ได้รับการยอมรับ และแทรกตัวด้วยกลวิธีทางสุนทรียะ และกระบวนการทางการตลาด ทำให้ครองใจจากผู้ชมได้ทุกชาติทุกภาษา และสามารถสร้างกระแสนิยมในตลาดภาพยนตร์โลก ส่งผลให้ทุกวันนี้ ภาพยนตร์เกาหลีได้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดขยายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถเป็นสื่อกลางในการสื่อสารความเป็นชาติพันธุ์สู่ประเทศภายนอกอื่น ๆ ภาพยนตร์ได้กลายเป็น “สินค้าทางวัฒนธรรม” ที่ทำให้ประชาคมโลกรู้จักคนเกาหลีมากขึ้น สามารถช่วงชิงและยึดครองพื้นที่ทางวัฒนธรรมในประเทศอื่น ๆ

รัฐบาลเกาหลีใต้ได้บรรจุอุตสาหกรรมการส่งออกภาพยนตร์เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของประเทศ ภายหลังการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศเกาหลี โดยรัฐบาลได้ออกกฎหมายให้โรงภาพยนตร์ในประเทศต้องฉายหนังเกาหลีในสัดส่วน 70 ต่อ 30 เพื่อลดการนำเข้าของภาพยนตร์ต่างประเทศ และส่งเสริมให้มีการผลิตภาพยนตร์เกาหลีอย่างก้าวกระโดด โดยรัฐบาลออกทุนให้ส่วนหนึ่ง มีการสร้างสตูดิโอถ่ายทำจำนวนมากที่ลงทุนโดยรัฐบาลเปิดสอนหลักสูตรภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และเปิดตลาดการค้าภาพยนตร์อย่างเทศกาลภาพยนตร์เมืองปูซาน นอกจากนั้น ยังจัดตั้ง “บรรษัทส่งเสริมการทำภาพยนตร์แห่งเกาหลี” เพื่อส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ออกสู่ตลาดโลก และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ เกาหลีนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 50 ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ มีการจัดตั้ง “องค์การวัฒนธรรมและสารัตถะเกาหลี” (Korea Culture and Content Agency – KOCCA) ในปี พ.ศ. 2543 เพื่อพัฒนากลยุทธ์ในการถ่ายทอดเนื้อหาสาระความเป็นเกาหลี ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี ให้เผยแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ ภายในช่วงไม่กี่ปี KOCCA ทำให้พลังแห่งสื่อทางวัฒนธรรมของเกาหลีแผ่ขยายไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชีย ภาพยนตร์ซีรี่เรื่องยาว เรื่อง “แดจังกึม” เป็นตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนภายใต้กรอบของกลยุทธ์ Korea Content ที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น

ภาพยนตร์ชุดจากประเทศเกาหลีใต้เรื่องแรก คือ “ภาพยนตร์ซีรี่เรื่องลิขิตแห่งรัก” ได้รับการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (พ.ศ. 2543) ในรูปแบบภาพยนตร์ซีรี่เรื่องยาว และประสบความสำเร็จในการยึดครองการบริโคจากคนไทยอย่างท่วมท้นในภาพยนตร์เรื่อง Autumn in my heart ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (พ.ศ. 2544) หลังจากนั้น ภาพยนตร์ซีรี่เกาหลีเรื่อง Full house สะดุดรักที่พักใจ แดจังกึม ซาดองโฮ โฮจุน ฯลฯ ได้ครอบครองช่วงเวลายอดนิยมของทุกสถานีโทรทัศน์ไปโดยปริยาย นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2548 ภาพยนตร์เกาหลีได้เริ่มเข้าสู่ตลอดโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง และสามารถสร้างรายได้ในประเทศไม่ต่ำกว่า 3.9 พันล้านบาทต่อปี

จะเห็นได้ว่า ในประเทศไทยรูปแบบการรับสื่อภาพยนตร์จากประเทศเกาหลีส่งผลอย่างชัดเจน ในลักษณะภาพยนตร์ซีรี่ตอนยาว โดยนำเสนอผ่านผู้ชมในรูปแบบละครโทรทัศน์ จนทำให้เกิดกระบวนการ “กลายเป็นเกาหลี” กระแส “Hallyu” ได้นำพาวัฒนธรรมเกาหลีเข้ามายึดครองวิถีการดำเนินชีวิตคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน กระแสคลื่นวัฒนธรรมนี้ ก่อให้เกิดการแปรเปลี่ยนทางทัศนคติ สุนทรียภาพ และความนิยมชมชอบ โดยอาจแสดงออกในบุคลิกลักษณะ การรับประทานอาหาร การแต่งตัวทรงผม หรือแม้แต่การพูดจา

วราภรณ์ เลิศวัฒนชัย ประชาสัมพันธ์องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (อสท.เกาหลี) กล่าวว่า เมื่อภาพยนตร์เรื่อง “แดจังกึม” ออกอากาส ทำให้มีผู้สนใจในอาหารเกาหลีมากขึ้น มีธุรกิจอาหารเกาหลีเกิดขึ้นในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

วัฒนธรรมแฝงเหล่านี้ เชื่อมโยงกับการบริโภคสินค้าเกาหลีในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การแต่งกาย ธุรกิจท่องเที่ยว อาหารเกาหลี เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ เครื่องสำอาง การแทพย์ หรือรวมถึงธุรกิจศัลยกรรมตกแต่ง เป็นต้น ด้วยความสำเร็จอย่างมหาศาลของภาพยนตร์เกาหลีไม่เพียงแต่เข้ามาครองใจจากผู้เสพชาวไทย หากแต่ยังมีการแฝงการเผยแพร่วัฒนธรรมและการบริโภคในรูปแบบอื่น ๆ จึงทำให้เกิดคำถามถึงการพัฒนาและกระบวนการพัฒนาของภาพยนตร์ไทยที่ต้องเร่งขยายตัวและเสริมความเข้มแข็ง เพราะต่อไปไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยจะไม่มีพื้นที่ หากแต่รวมไปถึงวัฒนธรรมไทยอาจจะถูกครอบหรือกลืนโดยวัฒนธรรมอื่น ๆ หรือถูกปรับโฉมเป็นรูปแบบวัฒนธรรมใหม่

[1]


[1] ขอขอบคุณที่มาบทความ ภาพยนตร์ชุดเกาหลี : กรณีศึกษากระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีในสังคมไทย โดย นพดล อินทร์จันทร์, พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ,วิรุณ ตั้งเจริญและสุรพล วิรุฬห์รักษ์.

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.freepik.com/author/jcomp

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *