กฎหมายครอบครัว สินสมรส

สินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ก็คือ ทรัพย์สินที่มีความเป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างสามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรส โดยกฎหมายได้กำหนดให้สิ่งต่อไปนี้เป็นสินสมรส โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส คือ ทรัพย์สินใด ๆ ก็ตามที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรส ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของสามีและภรรยาคนละครึ่ง เช่น คนใดคนหนึ่งซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน ซื้อรถ ไม่ว่าใครจะเป็นคนจ่ายเงินหรือใส่ชื่อของใครเป็นเจ้าของก็ถือว่า เป็นทรัพย์สินร่วมกันของสามีภรรยา

ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่า เป็นสินสมรส คือ สามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งได้รับมรดกมาหลังจดทะเบียนสมรส แต่มรดกที่ได้มานั้นถูกระบุในพินัยกรรมว่า “ให้เป็นสินสมรส” มรดกนั้นก็ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของสามีและภรรยาคนละครึ่ง ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ก็เป็นสินสมรส เช่น ภรรยามีเงินฝากธนาคารก่อนจดทะเบียนสมรส เงินต้นถือเป็นสินส่วนตัวของภรรยา แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับหลังจากจดทะเบียนสมรสถือเป็นสินสมรส ซึ่งสามีจะเป็นเจ้าของด้วยครึ่งหนึ่ง ดังมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12346/2558 ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถือว่าเป็น “สินสมรส” ดังนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (2) บัญญัติว่า สินสมรส ได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างวมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดชัดเจนแล้วว่า หากผู้ให้ทรัพย์สินแก่สามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งในระหว่างสมรสประสงค์จะยกให้เป็นสินสมรส ผู้ยกให้ต้องระบุไว้ในหนังสือยกให้ให้ชัดเจน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *