อุปสรรคการพูดคุยเรื่องเพศในครอบครัว

อุปสรรคการพูดคุยเรื่องเพศในครอบครัว

พ่อแม่ ผู้ปกครองยังอยู่กับทัศนคติเก่า ๆ ที่มองว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องไม่ดีงาม น่าละอาย ไม่ควรนำมาพูดกันในครอบครัว ในการพูดคุยเรื่องเพศจะเป็นดาบสองคมและมองว่า จะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ทำให้ลูกไปมีเพศสัมพันธ์จึงไม่ยอมพูดเรื่องนี้กับลูก ในขณะที่ลูก ๆ ก็กลัวพ่อแม่ ผู้ปกครองจะดุด่าว่ากล่าว เลยไม่ยอมปรึกษาพ่อแม่ ผู้ปกครองในเรื่องเพศ และปัญหาทางเพศที่เกิดขึ้นกับตัวเองและต้องการคำปรึกษา

พ่อแม่ยังคิดว่า ลูกยังเด็กเกินไป ที่จะเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและเขาจะเรียนรู้เรื่องเพศได้เองเมื่อโตขึ้น และพ่อแม่ ผู้ปกครองกับลูกมีความเข้าใจในปัญหาทางเพศที่ไม่ตรงกัน ซึ่งมีพ่อแม่ ผู้ปกครองหลายคนพร้อมที่จะพูดคุยกับลูกอย่างเปิดใจ แต่ก็ยังขาดความรู้ที่ถูกต้องหรือมีความรู้ มีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศ

ความเชื่อที่ว่า เมื่อคุยเรื่องเพศกับลูกแล้ว กลัวว่าลูกจะเข้าใจผิดว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองหมกมุ่นเรื่องเพศ ในขณะที่ลูกก็คิดว่า ถ้าถามเรื่องเพศ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจเข้าใจผิดได้ว่า ตนเองสนใจและหมกมุ่นเรื่องเพศ นอกจากนี้ ความเชื่อที่คิดว่า การอบรมสั่งสอนเรื่องเพศเป็นหน้าที่ของครู อาจารย์ และยังมีความเข้าใจผิดว่า การสอนเพศศึกษา คือ การสอนเรื่องเพศสัมพันธ์ อีกทั้ง เด็ก ๆ ลูกหลานจะเชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ผู้ปกครอง ลูกบางคนคิดว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองนั้นหัวโบราณ ล้าสมัย ไม่น่าเชื่อถือ จึงไม่อยากรับฟังหรือพูดคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง

พฤติกรรมของผู้ใหญ่ เป็นเหตุให้วัยรุ่นไม่ชอบคุยกับผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่ชอบเอาไปเล่ากันต่อ หลับจบการพูดคุยด้วยการสั่งสอน อบรม ดุว่า หรือโวยวายโดยที่ยังฟังไม่จบ โดยที่ไม่สนใจจริงจังในเนื้อหาที่เขาพูด หรือติดยึดแนวความคิดของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะชอบจ้องจับผิด และผู้ใหญ่ไม่เคยสนใจพูดคุยกันมาก่อน พอมีเรื่องถึงจะมาพูดคุยซักถามหรือเพื่อหวังผลประโยชน์

เมื่อมีการพูดคุยกัน สิ่งที่วัยรุ่นอยากได้รับจากผู้ใหญ่ คือ การยอมรับความคิดเห็น ให้โอกาสในการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ด่วนตัดสินว่าผิดหรือถูก และให้เกียรติในการคุยเสมอว่า เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งถ้าจะดุหรือว่ากล่าวตักเตือน ให้พูดกันตรง ๆ เฉพาะเรื่องนั้นให้ตรงประเด็น ไม่ต้องพูดยาว อย่าเอาความผิดเก่า ๆ มาพูดซ้ำ ๆ วนอยู่เรื่องเดิม และผู้ใหญ่ชอบสร้างความกดดันในขณะที่พูดคุย แต่เด็กชอบคุยกันในบรรยากาศดี ๆ สบาย ๆ ไม่กดดัน คุยกันได้หลาย ๆ เรื่อง อย่างสนุกสนานและยอมรับในความแตกต่าง เด็ก ๆ ต้องการผู้ใหญ่ที่เป็นที่ปรึกษาได้ในยามที่ต้องการ ใกล้ชิด แต่ไม่วุ่นวาย เจ้ากี้เจ้าการ หรือบีบบังคับ

หลักการพูดคุยกับลูกหลานวัยรุ่นเรื่องเพศ

  1. ตัดสินใจให้ชัดว่า ทำไมเราต้องคุยเรื่องเพศกับลูกหลาน การคุยกันจะให้ประโยชน์อะไร หากไม่คุยจะมีผลตามมาอย่างไร
    • การคุยกับลูก
      • ช่วยให้ลูกหลานเติบโตด้วยความเข้าใจเรื่องเพศอย่างถูกต้อง
      • ลูกหลานจะได้ไม่รับค่านิยมผิด ๆ ในเรื่องเพศจากสื่อต่าง ๆ
      • ลูกหลานมีความมั่นใจ และปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง และปกป้องตัวเองได้
      • เป็นโอกาสในการแสดงความรัก สร้างความใกล้ชิด และความเข้าใจให้ตรงกัน
      • ลูกหลานรู้สึกว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นที่พึ่งได้เสมอเมื่อเกิดปัญหา
      • ช่วยให้ลูกหลานได้สำรวจความคิดในเรื่องนี้
      • ลูกหลานรู้จักการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
      • พ่อแม่ ผู้ปกครองมีความภูมิใจ ที่ช่วยผลักดันให้ลูกหลานเดินในทางที่ถูกต้อง
      • เป็นเกราะป้องกันภยันตรายที่จะคุกคามชีวิตของลูกหลาน
    • การไม่คุยกับลูกหลาน
      • ทำให้ลูกหลานแสวงหาข้อมูลและเรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะจากเพื่อนและสื่อลามกที่มีอยู่แพร่หลาย จนอาจเกิดความสับสนหรือเข้าใจผิด ๆ ในเรื่องเพศ
      • ขาดแหล่งข้อมูลหรือแหล่งที่จะขอคำแนะนำ คำปรึกษา
      • ประสบการณ์ทางเพศแบบผิด ๆ ทำให้ลูกหลานเกิดสับสน และแสดงออกที่ไม่เหมาะสม
      • ลูกหลานเสียโอกาสในการเรียนรู้แง่มุมที่สำคัญของชีวิตจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง
      • อาจเกิดปัญหาความรุนแรงที่คาดไม่ถึงตามมา เช่น ลูกสาวตั้งครรภ์ ลูกชายไปทำผู้หญิงท้อง
  2. สำรวจใจตัวเอง จัดการความลังเล ความรู้สึกกล้า ๆ กลัว ๆ ในใจพ่อแม่ ผู้ปกครอง
    • บอกกับตัวเองว่า ไม่มีใครสอนเรื่องเพศให้กับลูกเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง
    • มองอย่างเข้าใจว่า เพศเป็นธรรมชาติด้านหนึ่งของมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องสกปรก ลามกหรือต้องปกปิด ทุกคนต้องเรียนรู้การควบคุมและแสดงออกอย่างเหมาะสม
    • ยอมรับว่า ทัศนคติในเรื่องเพศของพ่อแม่ ผู้ปกครองและของลูกหลานอาจแตกต่างกัน เพราะการรับรู้ที่แตกต่างกัน พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงควรพร้อมเรียนรู้ความแตกต่างนี้ ด้วยการรับฟังและไม่ด่วนสรุปหรือตัดสินความเห็นหรือการกระทำของลูก
  3. เลือกบรรยากาศการพูดคุยที่สบาย ๆ มีความพร้อมทั้งสองฝ่าย เช่น หลังการรับประทานอาหารเย็นหรือช่วงเวลาก่อนเข้านอน
  4. เปิดประเด็นการพูดคุยโดยใช้โอกาสจากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ขณะอ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ดูข่าวทางทีวี ดูฉากความสัมพันธ์ชายหญิงในละครหรือภาพยนตร์ที่ดูด้วยกัน ด้วยการตั้งคำถามง่าย ๆ ว่าลูกรู้สึกอย่างไร ลูกเข้าใจว่าอย่างไร อยากถามอะไรหรือไม่ เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนเขาคุยกันว่าอย่างไร เป็นต้น
  5. รับฟังลูกหลานด้วยใจที่เปิดกว้าง สนใจว่า ลูกหลานคิดอย่างไร เข้าใจว่า อย่างไร เขารับรู้ว่า เรื่องนี้มาอย่างไร อยากรู้อะไรเพิ่มเติม เปิดโอกาสให้ลูกหลานได้ซักถาม เพื่อพ่อแม่ ผู้ปกครองจะได้อธิบายไขข้อข้องใจ โดยไม่รีบตัดบท ไม่รีบพูดสอน พูดสั่งหรือพูดห้าม เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ว่า ลูกหลานมีความเข้าใจในเรื่องนี้เพียงใด เข้าใจถูกต้องหรือไม่ มีสิ่งใดที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเพิ่มเติมให้กับลูกหลาน
  6. ตอบคำถามให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เหมาะสมกับวัย นอกจากนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองอาจเล่าประสบการณ์ของตนให้ลูกหลานฟัง เพื่อให้ลูกหลานเห็นว่า คุยเรื่องนี้ได้ พ่อแม่ ผู้ปกครองเปิดเผย และได้เรียนรู้จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง
  7. ควรกฎกติกาของบ้านในเรื่องนี้ให้ชัดเจน เช่น มีแฟนแล้วให้บอกพ่อแม่ ผู้ปกครองด้วย ไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ในวัยที่ไม่เหมาะสมก่อนอายุ….ปี และเมื่อยังไม่พร้อม ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพะเวลาไปร่วมงานเลี้ยงกับเพื่อน ไม่อยู่กับเพื่อนต่างเพศสองต่อสอง เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *