วัฒนธรรมเกาหลีผ่านละครเกาหลีแดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง

ละครเกาหลีที่นำมาออกอากาศในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้รับความนิยม เนื้อหาจะอยู่ในแนวดราม่า โรแมนติก (Korean Dram Genre Romance) เนื่องจาก มีการถ่ายทอดเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน รวมถึงการดำเนินเรื่องที่ชวนให้ติดตาม เป็นผลทำให้มีกลุ่มผู้ชมที่หลากหลาย ปัจจุบัน ละครเกาหลี สามารถครองใจผู้ชมในประเทศไทยได้รวดเร็ว ความต่างทางวัฒนธรรมไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาในการรับชมแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามผู้ชมกลับให้ความสนใจ และคอยติดตามกันเรื่อยมา จึงเป็นเหตุให้ละครเกาหลีเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมด้านความบันเทิงที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

และหากกล่าวถึงประเทศที่ประสบความสำเร็จทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามรอยละครซึ่งคงไม่พ้นเกาหลี สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายกลายเป็นประเทศในฝันที่หลายคนอยากไปเยือน ดังจะเห็นได้จาก ปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยได้นำละครเกาหลี เรื่อง “รักวุ่นวายของเจ้าชายกาแฟ” มาออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ซึ่งในละครเรื่องนี้ มีฉากร้านกาแฟ Coffee Prince Shop ฉากร้านกาแฟนี้กลายเป็นสถานที่หนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวต้องไปเยี่ยมเยือน ซึ่งตั้งอยู่ในย่านฮงแดเดิมเป็นร้านกาแฟเก่าแก่แต่ถูกปรับแต่งขึ้นมาใหม่สำหรับการถ่ายทำละครรักวุ่นวายของเจ้าชายกาแฟ

การศึกษาของณัฐวุฒิ มีสกุลที่ศึกษาละครเกาหลี เรื่อง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” (Jewel in the Palace) จำนวน 54 ตอน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ครั้งแรกระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และออกอากาศครั้งที่ 2 ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 และครั้งที่สามทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 3 (แฟมิลี่ ช่อง 13) พ.ศ. 2558 และศึกษาละครเรื่อง “เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา” (Princess Hours) ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ครั้งแรก และมีการนำมาออกอากาศซ้ำเป็นครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2551

ในส่วนของการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีผ่านสื่อละครโทรทัศน์นั้น ซึ่งจากการศึกษาของณัฐวุฒิ มีสกุลได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิต ด้านการเผยแพร่และด้านการบริโภคนั้น ในส่วนของด้านการผลิต แบ่งการศึกษาออกเป็นวัฒนธรรม 6 ด้าน ได้แก่ วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย วัฒนธรรมด้านการบริโภค วัฒนธรรมด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรมด้านขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมด้านการปกครอง วัฒนธรรมด้านการแพทย์ พบว่า ในละครเรื่อง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” นั้น มีการสอดแทรกวัฒนธรรมทั้ง 5 ด้านอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านการบริโภคหรือเรื่องของอาหารนั่นเอง ทั้งนี้เป็นเพราะว่า เนื้อเรื่องของละครเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องของอาหาร ฉะนั้น จึงสามารถพบเห็นวัฒนธรรมด้านนี้อย่างชัดเจนในส่วนของวัฒนธรรมด้านการแต่งกายก็สามารถสอดแทรก แสดงให้เห็นถึง การแต่งกายของชาวเกาหลีสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ตัวละครทุกตัวมีการสวมใส่ชุดฮันบก ด้านวัฒนธรรมด้านการท่องเที่ยวนั้น ภายหลังจากที่ละครเรื่องนี้ออกเผยแพร่ฉากและสถานที่ต่าง ๆ ที่ใช้ในการถ่ายทำก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังเกาหลีได้มากอีกด้วย สำหรับวัฒนธรรมด้านขนบธรรมเนียมประเพณีก็จะเห็นได้จากการจัดพิธีเรื่องของการถวายตัวเป็นนางในในราชวังที่เห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนด้านวัฒนธรรมการปกครองก็จะเห็นได้จากกษัตริย์เป็นใหญ่ในประเทศ รองลงมาก็จะเป็นพระพันปี หากเป็นการปกครองในครอบครัวจากละครผู้หญิงจะเป็นหญิงใหญ่ที่สุดในครอบครัว ด้านวัฒนธรรมด้านการแพทย์ การเจ็บป่วยในอดีตในราชวังจะใช้การรักษาโดยการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคภัยต่าง ๆ เป็นต้น

สำหรับเรื่อง “เจ้าหญิงวุ่นวายและเจ้าชายเย็นชา” นั้น จะเป็นการสอดแทรกวัฒนธรรมที่ไม่เด่นชัดเท่ากับเรื่องแดจังกึม ทั้งนี้ เนื่องจาก ละครเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องแบบสมัยใหม่ ฉะนั้น ในเรื่องวัฒนธรรมด้านการบริโภคหรือเรื่องของอาหาร จึงไม่มีความชัดเจน แต่จะมีความชัดเจนในเรื่องของการแต่งกายแบบสมัยใหม่ที่จะสามารถสะท้อนให้เห็นเรื่องแฟชั่นสมัยใหม่ของเกาหลีได้เป็นอย่างดี รวมถึงในด้านของสถานที่ท่องเที่ยวที่เคยเป็นฉากของละครเรื่องนี้ก็ถูกบรรจุไว้ในโปรแกรมทัวร์ด้วยเช่นกัน

จากการศึกษารูปแบบและเนื้อหาของละครเกาหลี เรื่อง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” และ “เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา” พบว่า มีรูปแบบที่มีเนื้อหาที่มีเอกลักษณ์ ลักษณะเฉพาะตัว นั่นคือ การใช้โทนการเล่าเรื่องแบบซาบซึ้ง ประทับใจ รวมถึงการนำเทคนิคการเล่าเรื่องต่าง ๆ มาใช้เพื่อช่วยสร้างแรงดึงดูดให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมและความประทับใจในการชมละครมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหักมุมของเรื่อง การนำเสนอภาพประทับใจในอดีตซ้ำ ๆ รวมไปถึงการจบตอนแบบทิ้งปมปัญหาเอาไว้ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในละครเกาหลีส่วนมากจะดำเนินเรื่องโดยเรื่องราวความโหยหาในอดีต หรือการคร่ำครวญถึงความสุขที่ผ่านไปแล้ว รวมถึงปมความรักครั้งแรกที่ฝังใจ เป็นต้น ซึ่งถ้ามองในแง่ของผู้ชม การนำเสนอในแง่นี้ เป็นการตอบสนองความต้องการของคนดูในเรื่องการโหยหาความสุขจากการรับชมละคร ซึ่งจะทำให้ผู้ชมได้ย้อนนึกรำลึกการกลับไปสัมผัสกับภาพความสุขและความทรงจำที่ดี

นอกจากนี้ เมื่อศึกษาถึงตัวเนื้อหาของละครเกาหลี พบว่า ในละครเกาหลีมีการสอดแทรกวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีความเป็นที่นิยม ไลฟ์สไตล์ และวิถีการดำเนินชีวิตของคนเกาหลีเอาไว้ และการนำเสนอความเป็นเกาหลีโดยตรงที่ไม่มีเจตนาโดยภาพ และเนื้อหาสาระที่พบในละครเกาหลี จะนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศในเชิงบวก เช่น ความเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่สวยงาม พิถีพิถันในเรื่องการทำอาหารมาตั้งแต่สมัยโบราณรวมถึงการนำเสนอประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมั่นคง และยังเป็นประเทศที่ศรีวิไล เนื้อหาของละครเกาหลีเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศเกาหลี และคนเกาหลีไปในทางบวก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ชมเกิดทัศนคติที่ดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศเกาหลีรวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยว และสินค้าและบริการจากประเทศเกาหลี เป็นต้น

จากการเข้ามาเผยแพร่วัฒนธรรมข้ามชาติในรูปแบบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศเกาหลีใต้ พบว่า มีการสอดแทรกความเป็นวัฒนธรรมต้นกำเนิดอยู่ในละครเกาหลีทั้ง 2 เรื่องนี้ เนื่องจาก รูปแบบการผลิตสื่อภาพยนต์ของประเทศเกาหลีได้มีหน่วยงานช่วยกำกับดูแลในส่วนของรูปแบบการผลิตรวมถึงด้านนโยบาย จากนโยบายในการสนับสนุนวัฒนธรรมลงในสื่อของประทศ จึงเป็นผลพ่วงให้ประเทศเกาหลีเป็นที่รู้จักและเผยแพร่สินค้าวัฒนธรรมของประเทศอย่างแพร่หลาย จึงเป็นการขยายล่าอาณาเขตทางเศรษฐกิจข้ามประเทศ ทำให้ผู้คนสนใจที่อยากไปสัมผัสจึงเกิดการเป็นจักรวรรดินิยมข้ามชาติจากประเทศเกาหลีสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ ตามมาด้วย จึงทำให้ภาพยนต์หรือละครของประเทศเกาหลีที่ได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วประเทศรวมถึงการเผยแพร่ข้ามชาติไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก[i]


[i] ขอขอบคุณที่มาบทความ ณัฐวุฒิ มีสกุล เรื่องการถ่ายทอดวัฒนธรรมเกาหลีผ่านสื่อละครเกาหลี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *