สถาบันครอบครัวและค่านิยมการมีผัวเดียวเมียเดียวและการแต่งงานของสังคมไทย

ผัวเดียวเมียเดียวเป็นธรรมเนียมการแต่งงานที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับ มีกฎหมายที่รับรองสิทธิ์ให้เฉพาะคู่สมรสที่มีการจดทะเบียนเท่านั้น และไม่สามารถจดทะเบียนช้าจดซ้อน แต่นี่เป็นเพียงธรรมเนียมที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุคที่มีมนุษย์มีการพัฒนาแล้ว สังคมไทยสมัยก่อนก็มิได้เป็นสังคมแบบผัวเดียวเมียเดียว แต่เป็นสังคมแบบผัวเดียวหลายเมีย เมื่อชาติตะวันตกเข้ามา ค่านิยมของการครองเรือนลักษณะผัวเดียวหลายเมียก็เริ่มสั่นคลอน หมอบรัดเลย์ซึ่งเป็นหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันที่เดินทางมาเมืองไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้เห็นธรรมเนียมการครองเรือนของไทยก็ได้วิจารณ์เอาไว้ว่า “การที่มีพระสนมหลาย 10 หลาย 100 คนนั้นเป็นการถับถมเมืองสยาม เหมือนต้นหญ้าขึ้นทับต้นข้าวในนา ต้นข้าวไม่สามารถงอกงามบริบูรณ์ได้ เพราะอย่างในหลวงทั้งสองพระองค์ (พระจอมเกล้า – พระปิ่นเกล้า) เจ้านายขุนนางทั้งปวงจึงเอาธรรมเนียมนั้นเป็นอย่าง จึงได้เลี้ยงเมียหลายคนตามบ้าง มีธรรมเนียมนั้นเป็นที่บังเกิดความอัปยศในกรุงสยามมีความชั่วหลายอย่างนัก เปรียบเหมือนแวมไปยะ (vampire) คือ สัตว์อย่างหนึ่งที่มีเรื่องแต่โบราณว่า ดูดเอาโลหิตเจ้านายขุนนางไพรพลทั้งปวงในกลางคืนให้อ่อนกำลังลงนัก ให้ความดีของคอเวอแมนต์ (Government) นั้นเสื่อมลงทุกอย่าง”

สถาบันครอบครัวในสังคมสมัยโบราณของหลายประเทศอยู่ภายใต้ระบบ “ผัวเดียวหลายเมีย” ไม่เว้นแม้แต่สยามในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เนื่องจาก เพศชายเป็นผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าฝ่ายหญิง ทำให้เพศชายสามารถกำหนดมโนทัศน์เรื่องจำนวนคู่ครองได้ แต่เมื่อถึงยุคหนึ่งที่แนวคิดแบบตะวันตกเริ่มส่งอิทธิพลถึงขั้นผลักดันกฎหมายจนกระทั่งมาสู่การแก้ไขกฎหมายให้ชายมีเมียโดยชอบด้วยกฎหมายได้เพียงคนเดียว

สถาบันครอบครัวคนไทยในสมัยสุโขทัย

ในสมัยสุโขทัยเป็นสังคมแบบเจ้าขุนมูลนาย และชนชั้นไพร่หรือราษฎรทั่วไป ชนชั้นเจ้านายมีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง และกระจายอำนาจแก่มูลนาย ชนชั้นนาย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย) ยังเป็นผู้กำหนดโครงสร้างทางสังคม ในเชิงทัศนคติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศสมัยสุโขทัย แม้ว่า สมัยนั้นจะตำหนิผู้ชายที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น แต่ก็ไม่ได้ห้ามมีภรรยาหลายคน (ในเชิงกฎหมาย) แต่ในทางตรงกันข้าม สตรีที่มีสามีแล้วกลับไม่สามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น แนวคิดนี้ถูกควบคุมด้วยมโนทัศน์เชิงศาสนาจากคติที่พบในไตรภูมิพระร่วงว่า ผู้ละเมิดจะต้องตกนรก

สถาบันครอบครัวคนไทยสมัยอยุธยา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพศชายยังคงเป็นผู้นำแทบทุกด้าน และมีหลักฐานเชิงกฎหมายแบบเป็นรูปธรรม คือ กฎหมายลักษณะผัวเมีย ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1904 ที่เรียกกันว่า “พระไอยการลักษณะผัวเมีย” ซึ่งใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และกฎหมายนี้แบ่งประเภทเมียเป็น 3 แบบ คือ

  1. เมียกลางเมือง หมายถึง หญิงที่บิดามารดายินยอมให้เป็นเมียของฝ่ายชาย แต่การจะเป็นภรรยาหลวง ขึ้นอยู่กับฝ่ายชายสามีจะยกย่องเป็นภรรยาชั้นใด
  2. เมียกลางนอก หมายถึง อนุภรรยาหรือเมียน้อย
  3. เมียกลางทาษี หรือทาสภรรยา หมายถึง หญิงที่ตกทุกข์ได้ยาก ฝ่ายชายมาไถ่ตัวมาเลี้ยงให้เป็นภรรยา หรืออาจรวมถึงหญิงที่ถูกฉุดคร่ามาเป็นเมียและทาสรับใช้

จากข้อมูลตามงานศึกษาระบุว่า ตามกฎหมายแล้วการจะมีภรรยาใน 3 ประเภทนี้กี่คนก็ได้ กฎหมายจะรับรองว่า เป็นภรรยาที่ถูกต้อง เมื่อค่านิยม และกฎหมายได้เอื้อให้ย่อมเปิดโอกาสให้ชายมีเมียได้หลายคน ในแง่ค่านิยมนี้ยังสะท้อนว่า การมีภรรยาหลาย ๆ คนเป็นการแสดงฐานะในหลายด้าน รวมทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมชั้นสูง และฐานะทางการเมือง ทั้งนี้ ลาลูแบร์ อัครราชทูตแห่งฝรั่งเศส ซึ่งได้เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังได้จดบันทึกในจดหมายเหตุ เมื่อ พ.ศ. 2231 กล่าวไว้ว่า “คนไทยอาจจะมีภรรยาได้หลายคน เฉพาะคนมั่งมีเท่านั้นที่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคนได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อแสดงว่า มีบุญบารมี มิใช่แสดงว่า มักมากทางกามารมณ์เสมอไป” นิโกลาส์ แซรแวส ได้บันทึกถึงขุนนางในสมัยอยุธยาว่า ใครที่ไม่มีเมียน้อยก็จะถูกมองว่า มีสถานะย่ำแย่ แม้แต่ตัวของออกพระวิสุทธสุนทร หรือโกษาปาน ก็มีเมียมากถึงจำนวน 22 คน และยังบอกด้วยว่า “ใครยิ่งมีมาก เขายิ่งนับว่า เป็นคนมีบุญวาสนา”

สถาบันครอบครัวคนไทยสมัยรัตนโกสินทร์

ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อิทธิพลจากมโนทัศน์ของตะวันตกจากมิชชันนารี ซึ่งเข้ามาให้การศึกษากับเพศหญิงตามแบบตะวันตก ในช่วง พ.ศ. 2410 เป็นต้นมา ชนชั้นนำสยามเริ่มวิวาทะเกี่ยวกับมโนทัศน์ “ผัวเดียวเมียเดียว” แบบตะวันตกที่ถูกส่งทอดเข้ามาผ่านมิชชันนารี หนึ่งในนั้นก็คือ หมอบรัดเลย์ที่เข้ามาในไทยตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2375 ซึ่งเป็นผู้นำเสนอมโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียว

ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์ระบบความสัมพันธ์ทางเพศในครอบครัวคนไทย จากชาวตะวันตกอย่างหนาหู เนื่องจาก อุดมการณ์ของจักรวรรดินิยมตะวันตก ส่วนหนึ่งถือว่า ระบบเครือญาติและครอบครัวเป็นสิ่งแสดงระดับความศิวิไลซ์ของแต่ละสังคม สมัยรัชกาลที่ 4 มีบันทึกหลายแหล่งที่ทรงโต้กลับมโนทัศน์เชิงผัวเดียวเมียเดียวของมิชชันนารีทั้งจากกระแสพระราชปรารภเรื่อง “ความผัวเมีย” ว่า ผัวเดียวเมียเดียวแบบตะวันตกไม่เหมาะจะนำมาใช้ในสยาม เพราะขัดกับขนบธรรมเนียมที่เป็นอยู่ หมอบรัดเลย์เคยเขียนจดหมายเหตุตำหนิ รัชกาลที่ 4 ที่ออกเมื่อเดือน 9 พ.ศ. 2409 ในทำนองไว้ว่า อยากจะให้มีเมียน้อยคน และหรือมีเมียแค่คนเดียวตามธรรมเนียมของฝรั่งตะวันตกในตอนนั้น เพราะในตอนนั้น น่าจะมีพระสนมเป็นหลักร้อยคน แถมยังเปรียบอีกด้วยไว้ว่า การมีพระสนมมากนั้นก็จะเปรียบเสมือนเลี้ยงแวมไพร์ ที่จะคอยดูดเลือดดูดเนื้อให้อ่อนกำลังลงด้วย แล้วในรัชกาลที่ 4 เคยได้ขอให้เซอร์จอห์น เบาว์ริง ในตอนนั้นให้ช่วยชี้แจงแทนตัวเองกับหมอบรัดเลย์และคนอื่น ๆ ที่ต่อว่า เรื่องการมีเมียมากว่า การที่มีนางในจำนวนมากของพระองค์นั้น เป็นเรื่องถูกต้องทั้งในทางพุทธศาสนา และกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสยาม

ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์เองก็เคยมีนางในมากถึงราว 153 คน และส่วนใหญ่เป็นลูกสาวที่มาจากตระกูลสำคัญทางสังคมและการเมือง กล่าวได้ว่า วิถีผัวเดียวหลายเมียช่วยรับประกันความมั่นคงให้กับความสืบเนื่องของสถาบันกษัตริย์ และรัฐสมบูรณาสิทธิราชย์ ต่อมาทรงปฏิรูปการศึกษาตามแบบตะวันตก ได้มีการจัดส่งคนไปเรียนในตะวันตก เมื่อกลับมาพวกเขาเหล่านั้นก็เริ่มเป็นผู้นำแนวคิดสมัยใหม่ภายใต้แนวคิดแบบเสรีนิยมและแนวคิดการเมืองแบบประชาธิปไตยเข้ามาเผยแพร่ในไทย ระบบผัวเดียวหลายเมียเริ่มสั่นคลอน เห็นได้จากเนื้อหาในวรรณกรรมของหลายท่าน อาทิ ละครแห่งชีวิตของหม่อมเจ้าอากาศด้าเกิง ที่กล่าวถึงความไม่ดีของผู้ชายที่มีเมียหลายคน วิจารณ์ผลกระทบเชิงลบว่า บุตรที่เกิดกับอนุภรรยา (เมียน้อย) ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างเต็มที่

เมื่อมาถึงยุคสมัยรัชกาลที่ 6 จะเห็นได้ว่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ในเรื่องการค้าหญิงสาวมีใจความว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่า ไม่ผิดที่จะกล่าวว่า การมีเมียน้อยนั้นเป็นประเพณีโบราณ ซึ่งคนไทยหนุ่ม ๆ ในสมัยใหม่ไม่ชอบเลย เพราะว่าเป็นประเพณีมีเมียหลายคน ซึ่งคนหนุ่มผู้ได้รับการศึกษามาแล้วอย่างฝรั่งก็ร้องให้เลิก พวกหนุ่ม ๆ เหล่านี้ก็ได้รู้แบบใหม่ คือ “เมียลับ” ซึ่งเขาเห็นสมควรแก่ความ “ศิวิไลซ์” สมัยใหม่ซึ่งมีเมียออกหน้าเพียงแค่คนเดียวอย่างฝรั่ง ความเปลี่ยนแปลงแนวคิดในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้ จะเห็นได้จากการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจากระบบหลายเมียมาเป็น “ผัวเดียวเมียเดียว” ซึ่งจะเริ่มต้นเคลื่อนไหวในสมัยรัชกาลที่ 6 อันเป็นช่วงที่รัฐบาลได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อที่จะยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และเพื่อให้ได้เอกราชทางการศาล

ในยุคนี้เป็นยุคล่าอาณานิคมประเทศเพื่อนบ้านล้วนตกเป็นของชาติตะวันตกทั้งนั้น ไม่ว่าจะพม่า มลายู กลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ หรือลาว กัมพูชา เวียดนาม กลายเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เหลือไทยที่ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ในความเป็นจริงแล้วเราตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “กึ่งอาณานิคม” ก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่เราเริ่มทำสัญญากับอังกฤษใน พ.ศ. 2398 สยามก็ไม่มีเสรีภาพเต็มที่ในดินแดนของเราเองอีกต่อไป เพราะเราต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับอังกฤษ ที่ทำให้คนในปกครองของอังกฤษไม่ต้องขึ้นศาล หรืออยู่ภายใต้กฎหมายไทย แม้จะทำการผิดกฎหมายของไทยในพื้นที่ของไทยก็ตาม และยังรวมถึงการต้องยกเลิกท้องพระคลังที่เคยควบคุมสินค้าเข้าออกได้ตามใจสยาม ให้กลายเป็นเปิดเสรีการค้า หรืออย่างน้อยก็ค้าขายได้ตามอำเภอใจของชาติตะวันตก เรื่องภาษีก็ไม่สามารถกำหนดเองได้แม้จะค้าขายในประเทศตัวเอง ก็ถูกอังกฤษฝรั่งเศส โปรตุเกส หรือชาติตะวันตกอื่น ๆ เป็นผู้กำหนดระดับภาษีเอง แม้จะไม่เป็นเมืองขึ้นของชาติไหน แต่เราก็ตกอยู่ในภาวะกึ่งอาณานิคมอย่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยการจะบอกเลิกสัญญาการค้าที่ไม่เป็นธรรมนี้ บรรดาชาติตะวันตกอาณานิคมบอกว่า สยามต้องพัฒนากฎหมายให้เท่าเทียมกับตนเสียก่อน ถึงจะยอมรับในความ “ศิวิไลซ์” หรือความเจริญที่ทัดเทียมกัน ในตอนนั้นบรรดาชนชั้นนำของสยามก็พากันประชุมร่วมกันตีความว่า อะไรบ้างของชาติตะวันตกที่คือ ความ “ศิวิไลซ์” เพื่อจะปรับปรุงให้ตัวเองทัดเทียมกับเขา และหนึ่งในนั้นก็คือ เรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว” ตามความคิดแบบคริสตจักร เพราะอย่างที่บอกว่า แต่ไหนแต่ไรมาสยามหรือชาติไทยนั้นยึดถือหลักการ “ผัวเดียวหลายเมีย” มายาวนาน และเป็นที่ยอมรับว่า ไม่ได้ขัดกับหลักพุทธศาสนาที่เป็นหลักของสยามแต่อย่างไร ถ้าลองย้อนกลับไปดูบรรดาภาพวาดของกษัตริย์ไทยแต่โบราณจนถึงเมื่อไม่นานมานี้จะพบว่า ไม่เคยมีภาพคู่กับราชินีหรือพระมเหสีองค์เดียวเลย เพราะแต่เดิมกษัตริย์นั้นต้องมีมเหสีหรือพระสนมจำนวนมาก เพราะพระนามก็คือ นารีรัตนะ หรือนางแก้ว เป็น 1 ในรัตนะ 7 ประการที่บอกว่า กษัตริย์พระองค์ไหนมีบุญญาธิการถึงจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชได้ เช่นเดียวกับพวกขุนนางก็มักมีเมียน้อยประดับบารมี การที่สยามหรือคนไทยแต่เดิมนั้นยึดถือเรื่อง “ผัวเดียวหลายเมีย” ไม่ใช่เพราะแค่เรื่องกามารมณ์ หรือความสุขทางเพศเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการรับลูกสาวของชาวบ้านที่มาฝากให้ช่วยเลี้ยงดู ไม่ใช่การมีเมียมากแบบ “ฮาเร็ม” ของชาติตะวันออกอื่น แต่เป็นไปเพื่อการดูแลให้ทั่วถึงซะมากกว่า ส่วนจะเป็นเมียมากเมียน้อย เมียปีละกี่วันนั้นก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะในหนังสือไม่ได้บอกไว้ขนาดนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แม้ในทางส่วนพระองค์จะเคยมีพระราชนิยมผัวเดียวเมียเดียว แต่ก็ทรงปกป้องผัวเดียวหลายเมียด้วยเหตุผลว่า พุทธศาสนาไม่ห้ามการมีหลายเมีย ต่างจากคริสต์ศาสนาที่ห้ามไว้ หากยอมรับผัวเดียวเมียเดียวก็เท่ากับยอมรับว่า ภูมิธรรมของพุทธศาสนาต่ำกว่าคริสต์ศาสนา ผัวเดียวหลายเมียเลยถูกสงวนไว้ตลอดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่รัชกาลที่ 6 ก็เขียนบทความสอนกึ่งประชดให้กับพวกชนชั้นนำ หรือข้าราชการชั้นสูงในตอนนั้นที่ยังคงยึดหลัก “ผัวเดียวหลายเมีย” อยู่ในทำนองว่า ให้บรรดาพวกผู้ดีทั้งหลายออกไปดูตามบ้านนอกชนบทบ้างว่า ที่นั่นครอบครัวส่วนใหญ่ก็เป็นคู่ผัวตัวเมีย และครอบครัวเหล่านั้นก็ดูอยู่ดีมีสุข ผู้หญิงผู้ชายมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครตั้งตัวเป็นนายใคร แถมยังประชดถึงขั้นบอกว่า แท้จริงแล้ว คนบ้านนอกหรือชายไทยในชนบทนั่นแหละที่มีความ “ศิวิไลซ์” มากกว่าคนในกรุงด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า รัชกาลที่ 6 แม้จะทรงสนับสนุนกฎหมายในเรื่องผัวเดียวหลายเมีย แต่ก็เป็นไปเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ทำให้สังคมในตอนนั้นวุ่นวาย เพราะถ้าเปลี่ยนมาใช้หลักกฎหมายผัวเดียวเมียเดียวทันที จะทำให้บรรดาเมียน้อยนับร้อยในหลายครอบครัว กลายเป็นแม่ม่ายหรือถูกทอดทิ้งเพราะผิดกฎหมายการมีมากเมีย และยังจะมีบรรดาลูกเมียอีกนับร้อย ๆ ที่ต้องกำพร้าเป็นปัญหาหนักหนาที่จะตามมาอีก

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 6 ไม่ทรงเห็นด้วยกับความเห็นของกรมหมื่นฯ พระราชดำริของพระองค์ต่อเรื่องนี้อกี ถ้าออกกฎหมายแล้วปฏิบัติไม่ได้จะเป็นการลบหลู่กฎหมาย และเหตุผลอื่นในอีกหลายกรณีทั้งแง่ศาสนาที่แตกต่างกัน ประเพณีของยุโรป และเรื่องมุมมองทางชนชั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นด้วยทำให้การถกเถียงเรื่องยุติลง จนกระทั่งมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำร่างกฎหมายให้คณะกรรมการกลับมาพิจารณาต่อ ท้ายที่สุดพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวประกาศใช้ กำหนดให้ชายอาจมีภรรยาได้หลายคนตามมติส่วนใหญ่

ในสมัยรัชกาลที่ 7 การอภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี นอกจากจะเป็นการอภิเษกสมรสตามกฎมณเฑียรบาลคู่แรกแล้ว ทั้งสองพระองค์ยังทรงจดทะเบียนแต่งงานด้วยกัน ถือว่า เป็นการเริ่มธรรมเนียมปฏิบัติของการครองชีวิตแบบที่ไม่เคยปรากฏในสังคมไทยมาก่อน มีการตรากฎหมายสำคัญฉบับหนึ่ง เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พุทธศักราช 2473” สาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว คือ เป็นกฎหมายฉบับแรกที่รับรองสถานะหญิงที่เป็นภรรยาด้วยทะเบียนสมรสและการหย่า ทว่าการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงค่านิยมดั้งเดิมที่ยอมรับให้ชายมีภรรยาได้หลายคนมาเป็นสังคมผัวเดียวเมียเดียวมิใช่เรื่องง่าย ทรงใช้วิธีการละมุนละม่อมด้วยการตราพระราชบัญญัตินี้ไว้ตั้งแต่พุทธศักราช 2473 แต่ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2475 หรืออีก 2 ปีต่อมา พระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุให้มีการจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่าและจดทะเบียนรับรองบุตร เพื่อทดแทนธรรมเนียมดั้งเดิมเป็นครั้งแรกในสังคมไทย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลของคณะราษฎรจึงได้นำสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้มารวมกันไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพที่ 5 ว่าด้วยเรื่องของครอบครัว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2478 กฎหมายครอบครัวในสมัยใหม่ที่ยึดหลัก “ผัวเดียวเมียเดียว” นั้นก็กว่าจะถูกผ่านออกมาก็ช่วงทศวรรษที่ 2480 เข้าไปแล้ว ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานและถ้าจากตอนเริ่มต้นประเด็นนี้ในช่วงปีทศวรรษ 2410 รวม ๆ แล้วก็ประมาณ 70 ปี ส่วนหนึ่งของหลักการของ “ผัวเดียวเมียเดียว” ก็คือ เป็นการยืนยันความเป็นสมัยใหม่ของสยาม ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักความเสมอภาคในรัฐธรรมนูญที่ให้ชายหญิงจะมีสิทธิเลือกตั้งโดยเท่าเทียมกัน เท่ากับว่าจะทำให้สยามนั้นดูมีความก้าวหน้ากว่าชาติตะวันตกด้วยซ้ำ เพราะในหลายประเทศที่ถือหลัก “ผัวเดียวเมียเดียว” นั้นผู้หญิงก็ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งเลย และจากฝ่ายที่จะผลักดันให้ “ผัวเดียวเมียเดียว” ได้ถูกบังคับใช้ในกฎหมาย อีกส่วนหนึ่งของการประกาศใช้กฎหมายเรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว” ก็คือ เพื่อให้สยามในเวลานั้นจะได้มีเอกราชในทางศาล และเพื่อให้ชาติอาณานิคมยอมรับความ “ศิวิไลซ์” ในแบบเดียวกับชาติตะวันตกที่ยึดหลักเรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว” ว่า สยามกับตะวันตกนั้นจะได้เท่าเทียมกัน และจะได้เป็นการยกเลิก “สิทธินอกสภาพ” ของชาติตะวันตกทั้งหลายที่ได้อ้างว่ากฎหมายสยามนั้นยังไม่ศิวิไลซ์เท่ากัน

สถาบันครอบครัวของคนไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

หลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยืนยันให้คงหลัก “ผัวเดียวเมียเดียว” ไว้ได้ล่มสลายลง สภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐธรรมนูญก็ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง ข้างมาก 27 ในต้น พ.ศ. 2427 ให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ถือหลัก “ผัวเดียวเมียเดียว” กระนั้นการสถาปนาหลักดังกล่าว ขึ้นมาก็ไม่ได้ยุติเพียงที่กระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีการสร้างวัฒนธรรมมารองรับด้วย ในช่วงที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2481 – 2483 ซึ่งโครงการรณรงค์ทางวัฒนธรรมภายใต้แนวคิด “การสร้างชาติ” ได้ถูกริเริ่มขึ้นหลักการ “ผัวเดียวเมียเดียว” ก็ได้ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วยในฐานะที่เป็นอุดมคติครอบครัวเป้าหมายของโครงการรณรงค์ทางวัฒนธรรมก็คือ การผดุงเอกราชของประเทศเอาไว้และนำพาชาติใหม่ ที่เพิ่งผ่านพ้นภาวะกึ่งอาณานิคมให้ก้าวไปสู่ความเป็นอารยะ ทั้งนี้ จอมพล ป. มองว่า การมีวัฒนธรรมที่ดีเป็นเครื่องมือที่ทำให้ประเทศไทยรักษาเอกราชไว้ได้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว ต่างจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย และจะช่วยให้ชาติไทยยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก การรณรงค์วัฒนธรรมจะเข้มข้นขึ้นอีกหลังประเทศไทยเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพาในฝ่ายญี่ปุ่นและต้องเผชิญกับเป้าหมายของญี่ปุ่นที่ต้องการเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมแห่งเอเชีย รัฐบาลจอมพล ป. จึงกระชับอำนาจการจัดการวัฒนธรรมด้วยการตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 พร้อมกันนั้นก็ได้ถ่วงโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นไว้ ไพโรจน์ ชัยนาม อธิบดีกรมโฆษณาการแถลงถึงเหตุผลในการตั้งสภาดังกล่าวว่า จะทำให้ประเทศไทย “ดำเนินการในเรื่องวัฒนธรรมของตนอย่างเต็มที่ เพราะการสูญเสียวัฒนธรรมก็ไม่ผิดอะไรกับการสูญเสียเอกราช” “วัฒนธรรม” จึงมีความหมายในฐานะ “จิตใจ” ของความเป็นชาติและเป็นเครื่องประกันหรือรักษาเอกราชกับความเป็นชาติไว้ ดังเห็นได้ว่า กลุ่มจอมพล ป. ซึ่งมีจิตใจต้องการสืบทอดภารกิจการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ได้มุ่งสร้างความสมบูรณ์พูนสุขและความก้าวหน้าที่ทัดเทียมกับอารยประเทศโดยเน้นหนักที่วัฒนธรรม และโดยเหตุที่รัฐสมัยใหม่พิจารณาว่า ครอบครัวเป็นสมุฏฐานของชาติจึงมีการกำหนดวัฒนธรรมครอบครัวบนพื้นฐานอุดมคติ “ผัวเดียวเมียเดียว” ขึ้นมาสำหรับให้ครอบครัวรับเอาไปปฏิบัติ การประดิษฐ์สร้างพิธีสมรสเพื่อรองรับการรณรงค์วัฒนธรรม “ผัวเดียวเมียเดียว” พิธีสมรสจึงถูกประดิษฐ์ขึ้นตามมาสภาพวัฒนธรรมแห่งชาติให้คำอธิบายต่อเรื่องนี้ในกรอบคิดการสร้างชาติว่า “การสมรสอันถูกต้องตามกฎหมายและประเพณีนั้น เป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งในการล้างชาติ” ดูเหมือนว่า พิธีสมรสที่ถูกสร้างขึ้นในทศวรรษ 2490 จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จในแง่ที่ยังคงมีการปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันอย่างแพร่หลายและแทบจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของชีวิตในฐานะเป็นประกาศเริ่มต้นชีวิต สมรส แต่แน่นอนไม่ได้อยู่ในกรอบการสร้างชาติอีกแล้ว ที่สำคัญมันคือพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากภาวะก่อนผู้ใหญ่ หรือผู้ใหญ่ไปสู่ภาวะความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวขึ้นสอดรับกับที่กฎหมายสมัยใหม่ถือว่า เอาว่าชายหญิงที่แต่งงานก่อนบรรลุนิติภาวะพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะต่างไปจากสังคมก่อสมัยใหม่ พิธีกรรมแต่งงานไม่ได้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปปฏิบัติกัน กระทั่งในระยะต่อมา พิธีกรรมนี้ก็ยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชี้เอาไว้ว่า “พวก หนุ่ม ๆ” ในรัชสมัยของพระองค์ไม่นิยมที่จะแต่งงานพิธีไทยโบราณ

ในสมัยก่อนนั้น คนไทยหรือที่เรียกกันว่า “ชาวสยาม” การแต่งงานนั้นก็ไม่ได้มีพิธีการ เป็นเพียงแค่มาอยู่กินด้วยกันเท่านั้น และก็เป็นที่ยอมรับของครอบครัวและชาวบ้าน ซึ่งพิธีการแต่งงานเพิ่งมาถูกกำหนดขึ้นในช่วงสร้างชาติในช่วงยุคของ จอมพล ป.พิบูลสงครามหรือหลังจากการปฏิวัติก็ได้เปลี่ยนระบบการปกครอง โดยมีการนำเอาพระพุทธรูปมาใช้ประกอบในพิธี และให้ทำพิธีการในวัด ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะคล้ายกับการประกอบพิธีแต่งงานของชาวคริสต์ทั้งหมดก็เพื่อที่จะให้วัฒนธรรมของสยามนั้นแลดูทัดเทียมเท่ากับชาติตะวันตกในช่วงเวลานั้น ซึ่งเขาก็จะมีพิธีทางศาสนาของเขา แต่ไทยเราก็มีพิธีทางศาสนาของเราแล้วที่ชุดแต่งงานก็ต้องเป็นสีขาวเท่านั้น เพราะแต่เดิมนั้นก็คือ ชุดประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ แต่คนไทยเราจะเอามาใช้เพราะความต้องการให้ชาติตะวันตกนี้ยอมรับเราว่า ตัวเองเป็นชาติที่มีความศิวิไลซ์เหมือนกัน แต่ก็มิได้เกี่ยวอะไรกับศาสนาพุทธของไทยเราหรือคริสต์ของฝรั่งเลย

แต่เดิมการแต่งงานต้องได้รับการยอมรับจากครอบครัวก่อน แต่เมื่อสยามปฏิวัติพาตัวเองเข้าสู่สมัยใหม่ ในช่วงจอมพล ป. นั้นการจดทะเบียนถูกทำโดยเจ้าหน้าที่ราชการ กลายเป็นเรื่องของทางกฎหมายหรือรัฐที่จะเข้ามาดูแล เป็นการลิดรอนสิทธิของพ่อแม่ครอบครัวออกจากการแต่งงานไป ให้กลายเป็นเรื่องของรัฐแทน ไม่ใช่เพื่อให้หนุ่มสาวได้มีเสรีภาพในการเลือกคู่เองอย่างที่คิดกัน แต่เพื่อให้ประชาชนหนุ่มสาวแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องง่ายขึ้นด้วยกฎหมายที่รองรับและทั้งหมดคือ เพื่อเร่งสร้างครอบครัว เพื่อเพิ่มประชากรให้กับชาติตามนโยบายในตอนนั้นนั่นเอง

นอกจากพิธีสมรสจะเป็นไปเพื่อโครงการสร้างชาติแล้ว การจดทะเบียนสมรสยังเป็นกลไกตาม ป.พ.พ.บรรพ 5 เรื่องครอบครัว ที่ให้อำนาจกับรัฐสมัยใหม่เข้าไปแทรกแซง หรือแทนที่อำนาจสิทธิ์ของพ่อแม่ในการจัดการแต่งงาน ครอบครัวก่อนสมัยใหม่ คือ พระไอยการลักษณะผัวเมีที่ให้พ่อแม่มีหน้าที่ “ประกอบสามีภริยา” ให้ลูกในฐานะที่เป็นผู้มีอิสรภาพหรือเป็นใหญ่เหนือลูก สำหรับลูกชายจะมีเสรีภาพในการแต่งงานมากกว่าลูกสาว ลูกสาวไม่ว่าจะอายุเท่าใดไม่อาจแต่งงานได้โดยปราศจากความยินยอมของพ่อแม่ แต่ในทางกลับกันพ่อแม่ก็ไม่มีอำนาจบังคับให้ลูกสาวแต่งงานกับชายที่เธอไม่สมัครใจ ในปลายทศวรรษ 2500 การแต่งงานของลูกก็ยังอยู่ในอำนาจของพ่อแม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกประกาศให้พ่อแม่ที่ถือศักดินา 400 ขึ้นไป มีอำนาจเหนือการแต่งงานของลูกสาว แต่กระนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงบ้าง ทรงผ่อนคลายให้ผู้หญิงในครอบครัวสามัญชนมีเสรีภาพในการเลือกคู่ครองได้ การจดทะเบียนสมรสจึงทำให้รัฐบาลเป็นผู้ชี้ขาดความชอบธรรมของการแต่งงานแทนพ่อแม่ในกรอบของกฎหมายผู้คนจึงมีเสรีภาพในการเลือกคู่มากขึ้น เพราะสามารถเข้าสู่สถาบันการสมรสได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อแม่อีกต่อไป อำนาจสิทธิ์ของพ่อแม่ถูกลิดรอนลงไป รัฐเข้ามาเป็นผู้ชี้แนะในเรื่องการแต่งงานแทนว่าควรเลือกคู่ครองที่สามารถ “บำเพ็ญประโยชน์ในการสร้างชาติ ในอันที่จะเพิ่มพลเมืองที่มีลักษณะและคุณภาพดี” และ “ไม่เป็นคนขี้โรคหรือต่ำทรามในทางสติปัญญา”

อย่างไรก็ดี รัฐบาลเองก็มีท่าทีระแวดระวังและดูจะไม่ปรารถนาที่จะแทรกแซงอำนาจสิทธิ์ของพ่อแม่ ดังที่กระทรวงมหาดไทยได้ออกคำชี้แจงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ว่า “การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายนี้หาจะได้เปลี่ยนแปลงจารีตประเพณีในการสมรสแต่อย่างใดไม่” เพียงแต่ในการสมรสจะ “สมบูรณ์ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อได้มีการจดทะเบียนสมรสแล้ว และหรือเมื่อจัดพิธีสมรสแล้ว” ทั้งนี้ องค์การส่งเสริมการสมรสก็วางระเบียบการไว้ว่า ชายและหญิงที่ประสงค์จะเข้าพิธีแต่งงานต้องให้ผู้ปกครองของแต่ละฝ่ายตกลงยินยอมที่จะให้ทำการสมรสซึ่งกันและกันแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะคำนึงว่า ความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว คือ ความเข้มแข็งของชาตินั่นเอง และทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงจาก “ผัวเดียวเมียเดียว” ที่จะไม่ขัดต่อหลักพุทธศาสนาของสยามในแต่โบราณและได้กลายมาเป็น “ผัวเดียวเมียเดียว” จากแรงกดดันของชาติตะวันตกผู้ล่าอาณานิคม ได้กลายมาเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นนำในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งอย่างไรก็ดี ในทางกฎหมายไทยจะเป็นได้ว่า มีการเปิดช่องยอมรับผัวเดียวหลายเมียกันแบบลับ ๆ ด้วยการให้การยอมรับลูกนอกสมรสได้ตามทางกฎหมายเท่ากับว่า ผัวเดียวหลายเมียก็จะยังคงไม่หมดไปจากสังคมไทยในเชิงลึก ก็แค่ยังมีแบบลับ ๆ เท่านั้นเอง

สังคมไทยสมัยก่อนก็ไม่ได้เป็นสังคมแบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” แต่เป็นสังคมแบบผัวเดียวหลายเมีย เมื่อชาติตะวันตกเข้ามา ค่านิยมของการครองเรือนลักษณะผัวเดียวหลายเมียก็เริ่มสั่นคลอน ในสมัยอยุธยาเริ่มมีชาวชาติตะวันตกเข้ามาในไทย และได้เขียนบันทึกลักษณะการมีสามีภรรยาของคนไทย ได้แก่ ลาลูแบร์ และนิโกลาส์ แซรแวส ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 อิทธิพลจากมโนทัศน์ของตะวันตกจากมิชชันนารี เช่น หมอบรัดเลย์ ซึ่งเข้ามาในการศึกษากับเพศหญิงตามแบบตะวันตก ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการศึกษาตามแบบตะวันตก ได้มีการจัดส่งคนไปเรียนในตะวันตก เมื่อกลับมาพวกเขาเหล่านั้นก็เริ่มเป็นผู้นำแนวคิดสมัยใหม่ภายใต้แนวคิดแบบเสรีนิยมและแนวคิดการเมืองแบบประชาธิปไตยเข้ามาเผยแพร่ในไทย เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 มีการผลักดันให้เปลี่ยนเปลงกฎหมายจากระบบหลายเมียมาเป็นผัวเดียวเมียเดียว อันเป็นช่วงที่รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเพื่อให้ได้เอกราชทางการศาล และหนึ่งในนั้นก็คือ เรื่อง การให้มี “ผัวเดียวเมียเดียว” ตามความคิดแบบคริสตจักร ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการตรากฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พุทธศักราช 2473” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลของคณะราษฎร ได้นำสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้มารวมไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพที่ 5 ว่าด้วยเรื่องครอบครัว ระบบผัวเดียวหลายเมียได้เริ่มล่มสลาย ในช่วงที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โครงการรณรงค์ทางวัฒนธรรมภายใต้แนวคิด “การสร้างชาติ” ได้ถูกริเริ่มขึ้นหลักการ “ผัวเดียวเมียเดียว” ก็ได้ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วยในฐานะที่เป็นอุดมคติครอบครัว เป้าหมายของโครงการรณรงค์ทางวัฒนธรรมก็คือ การผดุงเอกราชของประเทศเอาไว้ และนำพาชาติใหม่ที่เพิ่งผ่านพ้นภาวะกึ่งอาณานิคมให้ก้าวไปสู่ความเป็นอารยะ

ขอขอบคุณที่มาบทความ จุดเริ่มต้นค่านิยมผัวเดียวเมียเดียวในสังคมไทย โดย วัลลี นวลหอม ธงชัย กาญจนพงค์ เสาวลักษณ์ ทรัพย์วิภาดา และน้าฝน ทองประเสริฐ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *