วิธีคุมกำเนิดสำหรับวัยรุ่น

การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น วิธีที่ดีที่สุด คือ การงด/ป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งทำได้ยาก ดังนั้น ถ้ามีการร่วมเพศควรมีการป้องกันการตั้งครรภ์ทุกครั้ง ซึ่งการเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับวัยรุ่น ก็ควรเลือกวิธีคุมกำเนิดชั่วคราว มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ใช้ง่าย หาได้ง่าย ราคาถูก หลังหยุดใช้ควรกลับสู่ภาวการณ์เจริญพันธุ์ได้รวดเร็ว เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่ยังไม่มีรายได้ ถ้าไม่ต้องปรึกษาแพทย์หรือไม่ตรวจภายในก็จะดีมาก เพราะวัยรุ่นมักจะอาย มีวิธีคุมกำเนิดต่าง ๆ หลายวิธีให้วัยรุ่นเลือกใช้ตามความเหมาะสม การใช้วิธีใดวิธีหนึ่งย่อมดีกว่าไม่ใช้เลย วิธีคุมกำเนิดแต่ละวิธีนั้นมีข้อดี ข้อจำกัดต่างกัน และจะต้องเปรียบเทียบกับผลเสียถ้าเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ได้คุมกำเนิดด้วย

  1. ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ต้องรับประทานให้ถูกวิธี เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมสูงสุดและมีประสิทธิภาพสูง โดยทั่วไปยาเม็ดคุมกำเนิด แบ่งเป็น 2 ชนิด
    1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด แผงแรกให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกภายในวัยที่ 1 – 5 ของการมีรอบเดือนนั้น และวันต่อมาให้รับประทานยาเรียงไปตามลูกศรวันละ 1 เม็ดจนหมดแผง หยุด 7 วัน แล้วเริ่มรับประทานยาแผงต่อไป โดยไม่ต้องคำนึงถึงประจำเดือน
    2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด แผงแรกให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด รับประทานยาเรียงไปตามลูกศรจนหมดแผง แล้วเริ่มแผงต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องคำนึงถึงประจำเดือนเช่นกัน
      • กรณีลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
        • หากลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด 1 เม็ด ให้รับประทานทันทีที่นึกได้แล้วรับประทานต่อไปในเวลาเดิม
        • หากลืมรับประทานยา 2 เม็ด ให้รับประทาน 1 เม็ดหลังอาหารเช้า 2 วัน และรับประทานหลังอาหารเย็น หรือก่อนนอนตามเดิมและอาจเกิดเลือดออกกะปริดกะปรอย ควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ในรอบเดือนนั้น
        • หากลืมรับประทานยามากกว่า 2 เม็ด ให้หยุดยา ในระหว่างนี้ให้คุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัย และเริ่มรับประทานยาแผงใหม่เมื่อมีประจำเดือนมา หากไม่มีประจำเดือนให้ปรึกษาแพทย์
  2. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน เป็นยาคุมกำเนิดที่ผลิตมาใช้เฉพาะกรณีถูกข่มขืน มีการร่วมเพศที่ไม่ได้มีการป้องกันการตั้งครรภ์ หรือมีแต่ผิดพลาดจากการคุมกำเนิดวิธีอื่น เช่น ถุงยางอนามัยรั่ว เป็นต้น
    • การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินต้องใช้ยาภายใน 120 ชั่วโมงหลังร่วมเพศจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 75 ปัจจุบันมีสูตรของยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน และวิธีรับประทานที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องศึกษาวิธีการคุมกำเนิดให้เหมาะสม และภายหลังการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน 3 สัปดาห์ ควรมีการตรวจการตั้งครรภ์โดยปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินนี้บางครั้งเรียกว่า “ยาคุมกำเนิดหลังตื่นนอน” หรือ “ยาคุมกำเนิดหลังร่วมเพศ” ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้องและอาจทำให้เข้าใจผิดได้ตามความหมายที่เรียกและนำไปรับประทานเพื่อการคุมกำเนิดตามปกติ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เนื่องจาก ยานี้ใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น
    • การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน มี 2 วิธี
      1. วิธีรับประทานที่ 1 รับประทาน 2 เม็ดเร็วที่สุด หลังมีเพศสัมพันธ์ ภายใน 120 ชั่วโมง หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนใช้วิธีรับประทานที่ 2
      2. วิธีรับประทานที่ 2
        • ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนขนาดสูง 750 ไมโครกรัม ให้รับประทานเม็ดแรกทันทีหลังร่วมเพศและอีก 12 ชั่วโมงต่อมาให้รับประทานซ้ำอีก 1 เม็ด ภายใน 120 ชั่วโมง
        • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ (เอสโตรเจน 30 ไมโครกรัม) ซึ่งเป็นยาคุมกำเนิดที่รับประทานทั่วไป ให้รับประทานครั้งแรก 4 เม็ดทันที และอีก 12 ชั่วโมงต่อมาให้รับประทาน 4 เม็ด ภายใน 120 ชั่วโมง
    • หมายเหตุ : ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดฉุกเฉินขึ้นกับระยะเวลาในการรับประทานยาหลังมีเพศสัมพันธ์ ถ้ารับประทานยาได้เร็วจะทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดสูงกว่าการรับประทานยาช้า
  3. ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดชนิดที่นิยมใช้กันมาก เป็นวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับวัยรุ่นอีกวิธีหนึ่ง เนื่องจาก คุมกำเนิดได้นาน ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง ไม่มีภาระการรับประทานยาทุกวัน มีความเป็นส่วนตัว สะดวกในการใช้ เพียงมารับการฉีดยาคุมกำเนิดตามกำหนดวันนัด ข้อจำกัด คือ จะทำให้ระดูเปลี่ยนเปลง เลือดออกกระปริดกระปรอยหรือไม่มีระดู ซึ่งต้องให้คำอธิบายและความเข้าใจกับวัยรุ่นที่เลือกใช้ รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น น้ำหนักเพิ่ม ปวดหัว ซึมเศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลง
  4. ยาแผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมรูปแบบใหม่ เริ่มใช้ติดผิวหนังภายใน 5 วันแรกของรอบเดือน โดยใช้ติดไว้แผ่นละ 1 สัปดาห์ รวม 3 แผ่น โดยเปลี่ยนไม่ซ้ำ สามารถใช้ติดบริเวณผิวหนัง ตามต้นแขน หลัง สะโพก ท้องน้อย ข้อจำกัด คือ เป็นวิธีคุมกำเนิดรูปแบบใหม่ที่ยังมีราคาสูง
  5. วงแหวนคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่จากรังไข่ และทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้นอสุจิเคลื่อนที่ผ่านได้ยาก การใส่วงแหวนคุมกำเนิดในวันแรกของการมีประจำเดือนหรือไม่เกินวันที่ 5 ของรอบเดือน โดยปล่อยไว้ในช่องคลอด 3 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดถอดวงแหวนออก พักการใช้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ประจำเดือนจะมาหลังจากถอดวงแหวนคุมกำเนิด 2 – 3 วัน และเริ่มใส่อันใหม่ทันทีเมื่อครบ 1 สัปดาห์ มีอาการข้างเคียง เช่น ปวดท้องน้อย ปวดศีรษะข้างเดียว เจ็บเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่ม
  6. ยาฝังคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง และออกฤทธิ์นาน 3 – 5 ปี ขึ้นกับชนิดที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิดชนิดหลอดเดียวคุมกำเนิดนาน 3 ปี และชนิด 2 หลอด คุมกำเนิดได้นาน 5 ปี ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีที่เหมาะสมกับวัยรุ่น เนื่องจาก คุมกำเนิดได้นาน ไม่มีภาระต้องกังวลกับการลืมใช้ยา และมีความเป็นส่วนตัว เหมาะกับวัยรุ่นที่ไม่สามารถมาติดตามหรือรับบริการคุมกำเนิดได้ง่าย แต่มีข้อจำกัด คือ ต้องมารับบริการใส่และถอดโดยแพทย์ ควรฝังยาคุมกำเนิดภายใน 7 วันแรกของรอบเดือน ฝังยาแล้วสามารถทำงานได้ตามปกติ จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
  7. ห่วงอนามัย เป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่เหมาะสมในรายที่ไม่ควรใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด โดยเลือกใช้ในวัยรุ่นที่ต้องการคุมกำเนิด ระยะยาว 3 – 5 ปี ข้อดี คือ ไม่มีผลจากฮอร์โมน ข้อจำกัด คือ ต้องระวังภาวะติดเชื้อโดยเฉพาะ วัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยและมีคู่นอนหลายคนจึงต้องพิจารณาเลือกใช้ในรายที่เหมาะสม
  8. ถุงยางอนามัย เป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่นิยมใช้กันแพร่หลาย ถุงยางอนามัยมีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติเมื่อใช้อย่างถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญต่อการคุมกำเนิดในวัยรุ่น ถุงยางอนามัยมีประโยชน์ทั้งการป้องกันการตั้งครรภ์และป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม เอดส์ เป็นต้น
    • ขั้นตอนการสวมถุงยางอนามัย
      • ก่อนใช้ควรตรวจดูว่า ถุงยางอนามัยมีคุณภาพดี ไม่รั่ว ไม่หมดอายุ การฉีกซองต้องระวังเล็บเนื่องจากการสะกิดถุงยางอนามัยด้วย เล็บจะทำให้มีโอกาสถุงยางฉีกขาดเพิ่มขึ้น
      • การสวมถุงยางอนามัยขณะที่อวัยวะเพศชายแข็งตัวเต็มที่ ซึ่งมักจะมีน้ำเชื้อนำร่องออกมาเล็กน้อยก็มากพอที่จะทำให้ตั้งครรภ์และติดโรคได้แล้ว
      • บีบไล่อากาศออกจากกระเปาะตรงปลายถุงยางอนามัยให้เหลือที่ว่างเพื่อรองรับน้ำอสุจิ หรือหากไม่ไล่ฟองอากาศออกเวลาร่วมเพศอาจทำให้กระเปาะนี้แตกได้
      • ใช้มืออีกข้างรูดถุงยางอนามัยลงไปจากส่วนหัว (ปลายอวัยวะเพศ) ลงไปถึงโคนอวัยวะเพศ
      • ควรถอนอวัยวะเพศทันทีหลังการหลั่งน้ำอสุจิก่อนที่อวัยวะเพศจะอ่อนตัว เพราะถุงยางอนามัยจะหลวม อาจทำให้ถุงยางอนามัยหลุดคาในช่องคลอดหรือน้ำอสุจิเปรอะเปื้อนบริเวณปากช่องคลอดได้
      • ใช้กระดาษทิชชูพันรอบโคนอวัยวะเพศแล้วรูดถุงยางอนามัยออก ห่อถุงยางอนามัยด้วยกระดาษทิชชูหรือใส่ในถุงให้มิดชิดแล้วทิ้งในถังขยะ

เกร็ดความรู้ “การมีเพศสัมพันธ์”

  1. ถ้าสารหล่อลื่นไม่พอ อาจจะทาสารหล่อลื่นที่เป็นสูตรน้ำ เช่น KY Jelly
  2. ขณะที่ถอดถุงยางอนามัย ระวังอย่าให้มือสัมผัสน้ำจากช่องคลอดบริเวณผิวด้านนอกของถุงยางอนามัย เพราะอาจทำให้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  3. โอกาสที่ถุงยางอนามัยจะแตกมีน้อยกว่าร้อยละ 1 ของการมีเพศสัมพันธ์ในแต่ละครั้ง จึงอาจไม่จำเป็นต้องสวมถุงยางอนามัย 2 ชั้น เพราะมีโอกาสทำให้ถุงยางอนามัยแตกได้ง่าย เนื่องจาก การเสียดสีของถุงยางอนามัย

วิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับวัยรุ่น คือ ถุงยางอนามัยและยาเม็ดคุมกำเนิด เพราะเข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดควรเลือดชนิดที่มีฮอร์โมนต่ำ เพื่อลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน สิว ฝ้าน้อย น้ำหนักตัวไม่เพิ่มหรือเพิ่มน้อย แต่ถ้าไม่ได้ร่วมเพศเป็นประจำเดือนหรือคุมกำเนิดมาก่อนสามารถใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ ซึ่งสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีถ้าใช้อย่างถูกต้อง แต่ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นประจำ ส่วนวิธีอื่น ๆ ก็สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน ซึ่งวิธีคุมกำเนิดแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อเสีย สำหรับวิธีคุมกำเนิดชนิดห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิดเหมาะสำหรับการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น เนื่องจาก รับบริการครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้นาน 3 และ 5 ปี สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การใช้วิธีคุมกำเนิดแบบ 2 วิธีร่วมกัน คือ การใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับวิธีอื่นอีก 1 วิธี เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือวงแหวนคุมกำเนิดก็จะเพิ่มความมั่นใจในประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ และการตั้งครรภ์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *