Rhee_Syng-Man_in_1948

สถานการณ์ในเกาหลีใต้ภายหลักการก่อตั้งประเทศ

วิเชียร. เกาหลีใต้ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของรัฐบาลประธานาธิบดีอีซึงมึน. นักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภายหลังได้รับเอกราชจากญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1945 เกาหลีต้องถูกแบ่งออกเป็นส่วนเหนือและส่วนใต้ และทั้งสองส่วนต่างเร่งรีบฟื้นฟูบูรณะดินแดนของตน เพราะในข่วงที่เกาหลีตกเป็นอาณานิคมราว 35 ปี ญี่ปุ่นได้แสวงหาผลประโยชน์ด้านทรัพยากร และการเกณฑ์แรงงานชาวเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงส่งผลให้ภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของเกาหลีเลวร้ายลง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาความยุ่งยากดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงรัฐบาลเกาหลีใต้ในขณะนั้น กล่าวได้ว่า รัฐบาลโดยลำพังคงไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตนเอง เพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากมูลเหตุที่สำคัญบางประการ[1]

  • ประการแรก การแบ่งแยกประเทศออกเป็นสองส่วน ทำให้เกาหลีใต้ประสบภาวะความยุ่งยากทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตเกาหลีใต้ เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า ตั้งอยู่ในเขตเกาหลีเหนือ ดังนั้น โรงงานอุตสาหกรรมในเขตเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ จึงขาดแคลนพลังงานที่จะใช้ในการผลิต นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอีกด้วย
  • ประการที่สอง เกาหลีใต้ขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ ช่างเทคนิค และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และการวางแผนกำลังคน ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ เพราะในช่วงที่ถูกยึดครอง ญี่ปุ่นแทบไม่เปิดโอกาสให้ชาวเกาหลีได้รับการฝึกฝนในเรื่องดังกล่าว
  • ประการที่สาม สภาวะทางการเมืองและสังคม ไม่เอื้อต่อการกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโต
  • ประการที่สี่ ภาวะเงินเฟ้อที่ญี่ปุ่นได้สร้างขึ้น จวบจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ต้องย่ำแย่ลงไปอีก
  • ประการที่ห้า ชาวนาเกาหลีใต้ขาดแคลนปุ๋ยเพื่อใช้ในการเพาะปลูก เนื่องจาก เกาหลีเหนือระงับการส่งปุ๋ยมาให้ และ
  • ประการที่หก การเพิ่มขึ้นของประชากรที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดและการอพยพเข้าของประชาชนจากเกาหลีเหนือ ในช่วงสงครามเกาหลี ทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เกาหลีใต้ในขณะนั้นไม่มีสินค้าที่จะส่งออก ไม่มีเงินตราที่จะสั่งสินค้าเข้าและไม่มีเงินทุนที่จะไปพัฒนาภาคอุตสาหกรรม

จากปัญหาความยุ่งยากดังกล่าว รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองเกาหลีใต้อยู่ในขณะนั้น เพื่อดำเนินโครงการปฏิรูปทางสังคม และเศรษฐกิจ หนึ่งในบรรดาโครงการที่สำคัญ คือ การปฏิรูปที่ดิน เพื่อขัดความทุกข์ยากของชาวนา ซึ่งใน ค.ศ. 1948 ทางสหรัฐอเมริกาได้แจกจ่ายที่ดิน ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นถือครองในช่วงที่เกาหลีตกเป็นอาณานิคม ให้แก่ ชาวนา รวมถึงผืนดินที่มีการเช่า โดยรัฐบาลได้ซื้อจากเจ้าของแล้วนำมาขายให้แก่ผู้เช่าในราคาที่เป็นธรรม

จากปัญหาที่เกาหลีใต้ต้องเผชิญภายหลังการได้รับเอกราช และผลของสงครามเกาหลี ถือว่า จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการแก้ไขฟื้นฟู แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรและการที่ประเทศต้องถูกแบ่งแยก จึงเป็นปัจจัยขัดขวางกระบวนการสร้างฉันทามติ และความกลมเกลียวกันในสังคม ภาวะความวุ่นวายในสังคมและความยุ่งยากทางเศรษฐกิจ จึงไม่เกื้อหนุนต่อการปลูกฝังประชาธิปไตย ซึ่งใน ค.ศ. 1948 มีสิ่งแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ในเกาหลีใต้เลวร้ายลง มิใช่เฉพาะอิทธิพลของปัจจัยด้านจิตวิทยาสังคม อันเนื่องมาจากประเทศถูกแบ่งแยกและภาวะความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หากยังเกิดกรณีการก่อเหตุความไม่สงบของเหล่าทหารในพื้นที่ยอซูและซุนซอน (Yosu-Sunchon) ในจังหวัดจอลลาใต้ (South Jeolla หรือ Jeollanam-do) และที่เมืองแตกู (Taegu) ในจังหวัดเกียงซางเหนือ (North Gyeongsang หรือ Gyeongsangbuk-do) สถานการณ์เหล่านี้ กลายเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็งเข้ามาแก้ไขปัญหา

ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้และการเกิดสงครามเกาหลี

การแบ่งเกาหลีออกเป็นสองส่วน และความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นสงครามในเวลาต่อมา ถือว่า มีผลกระทบอย่างมากต่อกระกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากความกลมเกลียวกันของคนในชาติ และการตัดสินความขัดแย้งโดยใช้เหตุผลถือเป็นหลักการขั้นพื้นฐาน ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะถ้าความขัดแย้งกลายเป็นสงคราม ประเทศย่อมเผชิญกับปัญหาความมั่นคงและการดำเนินชีวิตของบุคคลในสังคมย่อมเผชิญกับข้อจำกัดในด้านสิทธิและเสรีภาพ เพราะรัฐบาลมักต้องการเพิ่มอำนาจของตนเองให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะบังคับใช้กฎหมายและระเบียบอย่างมีประสิทธิภาพ และระดมทรัพยากรที่จำเป็นต่อการทำสงคราม แต่หากรัฐบาลใช้อำนาจดังกล่าว โดยมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่ด้วย อาทิเช่น ความต้องการครองอำนาจอย่างยาวนานย่อมขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ปะทุขึ้นเป็นสงครามเกาหลี ได้มีผลให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในเกาหลีประสบภาวะชะงักงันไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพราะในภาวะสงครามประธานาธิบดีอีซึงมันสามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ในการรักษาอำนาจทางการเมืองของเขา แต่ในบางครั้งก็ไม่อาจดำเนินการตามอำเภอใจ ดังความพยายามที่จะเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1950 ออกไป แต่ถูกกดดันจากสหรัฐอเมริกาอย่างหนัก ในที่สุดรัฐบาลประธานาธิบดีอีซึงมันต้องจัดการเลือกตั้งขึ้น ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีอีซึงมันก็ยังสามารถกุมอำนาจทางการเมืองต่อได้อีก และในการทำสงครามกับฝ่ายเกาหลีเหนือ ผู้นำเกาหลีใต้ก็เห็นว่า แทบไม่มีความจำเป็นที่จะขอความร่วมมือกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ครองเสียงข้างมากในสมัชชาแห่งชาติอยู่ในขณะนั้น (ช่วง ค.ศ. 1950 -1954) และมีความขัดแย้งอย่างเปิดเผยกับฝ่ายรัฐบาล ส่วนฐานอำนาจทางการเมืองของประธานาธิบดีอีซึงมันนั้น ได้แก่ พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ และกลุ่มสมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากฝ่ายรัฐบาล[2]

ภายหลังจากสงครามเกาหลีสงบลง ชาวเกาหลีใต้ต่างตระหนักถึงภารกิจอันดับแรก คือ การแสวงความอยู่รอดและการฟื้นฟูบูรณะประเทศ เพราะสงครามมิใช่เพียงทำให้ประชาชนล้มตาย บาดเจ็บ ถูกลักพา สูญหาย และไร้ที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังทำให้โรงงานอุตสาหกรรมและสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้มีเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาด้านสังคมเกิดขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ความหวังของชาวเกาหลีที่ต้องการเห็นประเทศกลับมารวมกันก็ได้ถูกทำลายไปด้วย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภัยพิบัติจากสงคราม กลับเอื้อประโยชน์ให้แก่ประธานาธิบดีอีซึงมัน ที่จะปลุกกระแสความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวภายในชาติ ด้วยการดำเนินนโยบายการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นการยากที่กลุ่มทางการเมืองและสังคมต่าง ๆ จะพัฒนาขึ้น เพื่อถ่วงดุลอำนาจฝ่ายรัฐบาล

บทบาทของสหรัฐอเมริกา

ภายหลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาได้ส่งกองทัพเข้ามาในพื้นที่ใต้เส้นขนานที่ 38 เพื่อปฏิบัติภารกิจการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น การจัดส่งชาวญี่ปุ่นที่มาปกครองและประกอบธุรกิจในเกาหลีกลับประเทศ การฟื้นฟูกฎระเบียบ การจัดตั้งรัฐบาลตามวิถีทางการประชาธิปไตย เพื่อทำการเร่งบูรณะประเทศ การฝึกอบรมชาวเกาหลีให้มีความรู้ ทักษะและความสามารถในการปกครองตนเอง และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว สหรัฐอเมริกาจึงจัดตั้งรัฐบาลทหารเพื่อปกครองเกาหลีในระหว่าง ค.ศ. 1945-1948 ถึงแม้สหรัฐอเมริกาได้ตั้งเป้าหมายในการปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้แก่เกาหลี แต่ก็ไม่สามารถทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริง[3]

สถานการณ์ในเกาหลีใต้ ทั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเกาหลี ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นต้องการมีอำนาจเพิ่มในการกำหนดและบังคับใช้กฎหมายและระเบียงต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอดของประเทศ และในขณะเดียวกัน ก็เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายในการครองอำนาจที่ยาวนานของบรรดาผู้นำในรัฐบาลเองด้วย เมื่อพิจารณาในส่วนของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตและการให้การคุ้มกันพันธมิตร จากสถานการณ์ที่เกาหลีใต้เผชิญอยู่ในขณะนั้น สหรัฐอเมริกาตระหนักว่า รัฐบาลเกาหลีใต้โดยลำพังคงไม่สามารถฝ่าฟัน ปัญหาด้านสังคมและการเมืองที่รุมเร้าได้ ดังกรณีเหตุการณ์การก่อความวุ่นวายที่เกาะเจจู (Cheju หรือ Jeju) ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1948 ซึ่งเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 30,000 คน และกว่าที่ฝ่ายรัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก็จวบจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1949 ด้วยเหตุนี้ สหรัฐอเมริกาจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อให้รอดพ้นจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ และรวมถึงอิทธิพลจากจีนและสหภาพโซเวียต

สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของเกาหลีใต้อย่างมาก ซึ่งในช่วงแรกที่สหรัฐอเมริกายึดครอง แทบจะไม่มีสิ่งแสดงว่า ภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมเกาหลีใต้ได้มีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เหตุผลก็คือ การขาดแคลนเงินทุนและการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และทักษะ เพื่อปฏิบัติงานทั้งในส่วนของราชการและเอกชน แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1950 และตอนต้นทศวรรษที่ 1960 ความช่วยเหลือที่สหรัฐอเมริกาให้กับเกาหลีใต้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก[4]

แม้ความช่วยเหลือเหล่านี้ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้โดยรวมกระเตื้องขึ้น แต่ผลในด้านลบได้ปรากฏขึ้นควบคู่กันไป เพราะความช่วยเหลือทำให้รัฐบาลและระบบราชการมีความเข้มแข็ง จนสามารถสร้างประโยชน์เกื้อกูลกับกลุ่มธุรกิจ ในขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านยังอ่อนแอ และกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมยังไม่ก่อตัว ด้วยเหตุนี้ ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลจึงไม่เข้มแข็ง ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ปัญหาการใช้อำนาจเกินขอบเขตและการคอรัปชัน ซึ่งในที่สุด ก็ได้บั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลประธานาธิบอีซึงมันเอง


[1] Nahm, Andrew C. (2002). Korea: Tradition and Transformation. Seoul: Hollym International Corp.

[2] Buzo, Adrian. (2002). The Making of Modern Korea. New: Routledge.

[3] Pak, Chi-Young. (1980). Political Opposition in Korea, 1945-1960. Seoul: Seoul National University Press.

[4] Cumings, Bruce. (1997). Korea’s Place in the Sun: A Modern History. New York: W.W.Norton & Company.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *