ประสบการณ์ชีวิตของแรงงาน การเดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงานหนุ่มสาวไทย

ประสบการณ์ชีวิตของแรงงานการเดินทางไปทำงานของพิม (ผีน้อย) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)

พิม อายุ 27 ปี หลังจากเรียนจบปริญญาตรี พิมทำงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน หลังทำงานได้ 5 เดือน พิมตัดสินใจไปเกาหลีใต้ โดยตั้งใจจะสมัครไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พิมลาออกจากงาน และสมัครเรียนหลักสูตรเตรียมความพร้อมสำหรับไปทำงานเกาหลีใต้ เพื่อเตรียมตัวสอบ EPS-TOPIK พิมผ่านการสอบ EPS-TOPIK ผ่านการตรวจโรค ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงแรงงาน พิมเลือกทำงานเป็นพนักงานของห้างสรรพสินค้าในตัวเมืองลำปาง ได้เงินเดือนประมาณ 9,000 บาทในระหว่างนั้น พิมปฏิเสธการไปทำงานที่กรุงเทพฯ แม้ว่า ค่าตอบแทนสูงกว่าการทำงานที่ลำปาง ด้วยคาดหวังว่า ตนเองจะได้ไปเกาหลีใต้ในเร็ววัน

พิมรอเรียกตัวไปเกาหลีใต้อยู่เกือบสองปี และไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการเรียกตัวไปทำงาน เธอตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ชายมักถูกเรียกตัวไปทำงานเร็วกว่าแรงงานหญิง การเห็นคนในหมู่บ้านเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้โดยไม่ผ่านระบบ EPS ทำให้พิมจึงเสี่ยงเดินทางไปเป็น “ผี” (ผีน้อย) ด้วยการติดต่อกับนายหน้า ซึ่งเป็นคนที่เคยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน นายหน้าติดต่อคนไทยที่เกาหลีใต้ให้จัดหางานไว้ให้เธอ พิมเดินทางไปในช่วงปลายปี 2556 เพื่อไปทำงานในสวนมะเขือเทศ ครอบครัวของเธอเป็นผู้จ่ายค่านายหน้าจำนวน 120,000 บาทให้ นายหน้าจัดการซื้อทัวร์เกาหลีให้เธอ เนื่องจาก การเดินทางร่วมกับคณะทัวร์มีโอกาสผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองมากกว่าการเดินทางไปโดยไม่ผ่านบริษัททัวร์ พิมผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองพร้อมกับลูกทัวร์คนอื่น ๆ นายหน้าพาเธอและหญิงสาวจากอุดรธานีหนีออกจากคณะทัวร์ไปพบกับนายหน้าอีกคนที่ประจำอยู่เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้นำเธอไปส่งให้เจ้าของสวนมะเขือเทศผู้เป็นนายจ้าง สวนมะเขือเทศที่เธอทำงานเป็นสวนขนาดเล็ก มีแรงงานเพียง 5 คนเท่านั้น โดยเป็นแรงงานไทยทั้งหมด นายจ้างจัดที่พักให้กับแรงงานทั้งหมด เธอไม่ประทับใจที่พักนัก เธอได้รับรับค่าจ้างเดือนละ 1,100,000 วอน (ประมาณ 33,000 บาท) แต่งานในสวนเป็นงานหนัก คนงานที่สวนมักเป็นผู้ที่เพิ่งเดินทางมาถึงเกาหลีใต้ และไม่มีทางเลือกมากนัก พิมต้องตื่นมาทำงานตั้งแต่หกโมงเช้า และทำต่อเนื่องไปจนถึงหนึ่งทุ่ม หรือหลังจากนั้นหากมีงานค้าง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในแต่ละเดือนเธอมีวันหยุดเพียง 2 วันเท่านั้น พิมทำงานที่นี่ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้นก็ย้ายที่ทำงาน ด้วยเหตุผลว่า ค่าตอบแทนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับงานที่หนักมาก เธอขอให้คนไทยในเกาหลีใต้ช่วยแนะนำงานอื่นให้กับเธอ โดยเธอเสียค่าแนะนำงานจำนวน 300,000 วอน (ประมาณ 9,000 บาท) เธอย้ายไปทำงานที่โรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1,300,000 วอน (ประมาณ 40,000 บาท) ทำงานตั้งแต่ 08.00 ถึง 20.00 น. โดยมีวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน โดยนายจ้างจัดที่พักให้กับแรงงาน เงื่อนไขการทำงานที่นี่ค่อนข้างดี เธอทำงานที่นี่ต่อเนื่องและได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็น 1,500,000 วอนต่อเดือนในที่สุด

ถึงแม้ว่า พิมค่อนข้างพอใจกับการทำงานที่โรงงานแห่งนี้ แต่เธอก็พบว่า สถานะของแรงงาน “ผี” (ผีน้อย) ทำให้เธอต้องคอยหลบหลีกจากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ พยายามไม่ทำตัวให้โดดเด่น เกรงจะมีคนไปแจ้งเจ้าหน้าที่ เธอมีชีวิตอยู่ระหว่างที่พักและโรงงานเป็นหลัก “นาน ๆ จะออกไปข้างนอกเสียที ไม่ค่อยกล้าออกไปไหน กลัวถูกจับ เคยมีคนฟิลิปปินส์ที่ทำงานด้วยกัน เขาไปเที่ยวหาเพื่อน โชคร้ายเจอตำรวจจับไปทั้งคู่ ถูกส่งกลับ เราก็กลัวระวังตัวแจ บางทีเดิน ๆ อยู่เห็นตำรวจก็กลัว กลัวเขารู้ว่า เราเป็น “ผี” (ผีน้อย)” ในขณะที่พิมสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และสามารถติดต่อกับครอบครัวที่เมืองไทยได้ง่ายขึ้น แต่พิมก็ระมัดระวังการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เธอบอกว่า “แต่ก่อนนะหนูอัพเฟซบุ๊กตลอดพี่ เช็คอินตลอด เรียกว่า เฟซหนูนี่ใครเรียกมาแทบจะตอบทันที แต่ไปอยู่เกาหลีหนูไม่กล้าเลย กลัวมาก กลัว ตม. เขาเห็นกลัวเขามาตามรอยได้” พิมทำงานที่โรงงานแห่งนี้เกือบ 10 ครั้ง โดยมากเจ้าของโรงงานมักจะส่งสัญญาณให้แรงงานหลบซ่อน ในปี 2559 เพื่อนร่วมงานบางส่วนของเธอถูกจับและส่งกลับ สถานการณ์ดังกล่าวเพิ่มความหวาดระแวงให้เธอมากยิ่งขึ้น เมื่อทางการเกาหลีใต้ประกาศ “โครงการเดินทางออกด้วยความสมัครใจ”[1] ขึ้น พิมซึ่งทำงานในเกาหลีใต้มาประมาณ 3 ปี ส่งเงินกลับบ้านได้เกือบ 2 ล้านบาท ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เธอเดินทางกลับมาถึงบ้านในเดือนตุลาคม 2559

ประสบการณ์ชีวิตของแรงงานการเดินทางของโหน่งกับนก (ผีน้อย) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)

โหน่งอายุ 23 ปี จบปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในภาคเหนือ หลังเรียนจบโหน่งไปทำงานที่ชลบุรี เงินเดือน 13,000 บาท นกแฟนของโหน่งเรียนจบที่เดียวกับโหน่ง หลังเรียนจบนกทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งได้รับเงินเดือน 9,000 บาท ในปี 2558 นกและโหน่งตัดสินไปเป็นแรงงาน “ผี” (ผีน้อย) ที่เกาหลีใต้ นายหน้าซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านช่วยติดต่อหางานไว้ให้ทั้งคู่ โดยเป็นงานในฟาร์มไก่ ซึ่งต้องการแรงงานเป็นคู่ โหน่งและนกยืมเงินจากญาติของตนเป็นค่าใช้จ่ายในการไปต่างประเทศ นายหน้าคิดค่าใช้จ่ายในการเดินทางคนละ 75,000 บาท โดยชำระล่วงหน้าที่เมืองไทยคนละ 50,000 บาท ค่านายหน้าที่เหลือชำระเมื่อเดินทางไปถึงเกาหลีใต้ นายหน้าซื้อทัวร์ให้กับทั้งคู่ พร้อมนัดแนะเรื่องการแต่งกาย การตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกหลีใต้ นกผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินอินชอนโดยไม่ต้องตอบคำถามใด ๆ แต่โหน่งถูกเจ้าหน้าที่เรียกเข้าห้องสอบสวนด้วยสงสัยว่า จะเข้าประเทศเพื่อลักลอบทำงาน โหน่งเล่าถึงประสบการณ์ในขณะนั้นว่า “ผมต่อแถวอยู่แพวเดียวกับนกเลย เขาให้นกผ่านไปถามอะไรซักคำ พอถึงของผมตรวจเอกสาร แล้วถามมาทำอะไร ไปเที่ยวไหน พักที่ไหน ไปยังไง ภาษาผมไม่ดี งก ๆ เงิ่น ๆ ไกด์ก็มาช่วยตอบให้ นึกว่าจะรอด ปรากฏว่า เขาโทรเรียกเจ้าหน้าที่ข้างในมาเชิญผมออกจากแถว ผมนี่ใจหายเลย นกผ่านไปแล้ว ไปยืนรออีกฟาก ถ้าผมไม่ได้ไปนี่ นกจะไปต่อยังไง เขาพาเดินมาห้องด้านใน ผมคิดเลยว่า ท่าจะไม่รอด มานั่งรอตรวจเอกสารหน้าห้อง เจอคนไทยอีก 3 – 4 คนที่มานั่งรอก่อน ชาติอื่นก็มีนะ แล้วก็มีคนถูกพาเรื่อย ๆ พอถึงคิวผมเขาเอาเอกสารไปดูแล้วก็ถามรายละเอียดของที่ที่จะไปเที่ยว ตม. เขาพูดไทยได้นะ เขาพูดไทยใส่ผม ไกด์พยายามจะช่วยแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เขาบอกว่า เอกสารของผมดูไม่น่าเชื่อว่า จะมาเที่ยวจริง ๆ หนังสือเดินทางก็สะอาดไม่เคยไปไหนเลย คงดวงไม่มีดีจริง ๆ ลูกทัวร์ยี่สิบกว่าคนมีผมคนเดียวไม่ผ่าน นั่งรอสักพักเขามีคนมาพาไปนั่งรวมกันเฉพาะห้องที่มีแต่คนไทย เขาบอกให้รออยู่ในนี้ ถูกคุมนั่นแหละ ในห้องมีน้ำกับขนมปังให้กิน แต่ไม่มีใครใส่ใจเรื่องกินหรอก คนมันใจไม่ดีนะพี่ ผมเนี่ยกังวลทั้งเรื่องนก กังวลทั้งเรื่องยืมเงินที่บ้านมาแล้วกลับบ้านมือเปล่าแถมงานก็ลาออกแล้วด้วย สักพักเจ้าหน้าที่เอาเอกสารมาให้เซ็นยินยอมถูกส่งตัวกลับประเทศ แล้วก็รอต่ออีกเกือบวัน มันอึดอัดมากนะพี่ไปไหนก็ไม่ได้ รออยู่แบบนั้นจนอีกวันเขามาเรียกให้เตรียมตัวกลับ มีเจ้าหน้าที่พามาส่งที่เครื่อง เขาเอาหนังสือเดินทางผมให้แอร์ ไม่ให้ผมถือเอง ผมมาได้หนังสือเดินทางคืนก็ตอนมาถึงเมืองไทยแล้ว มีเจ้าหน้าที่ ตม. ไปรับถึงเครื่องเลย”

เมื่อเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย โหน่งติดต่อกับนายหน้าที่เกาหลีและทราบว่า นกตัดสินใจเดินทางกลับมาเมืองไทยพร้อมคณะทัวร์ นายหน้ายินยอมให้ทั้งคู่ไม่ต้องจ่ายเงินค่านายหน้าที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกคนละ 25,000 บาท

ประสบการณ์ของการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของพิม โหน่ง นก แสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์ชีวิตของแรงงานแต่ละคนนั้นประกอบไปด้วย มิติของการเคลื่อนย้าย การหยุดอยู่ชั่วขณะ และการไม่เคลื่อนย้าย ในบางสถานการณ์แรงงานอาจมีศักยภาพในการเคลื่อนย้าย และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว แต่ในบางจังหวะของชีวิตอาจเผชิญกับภาวะที่หยุดชะงักชั่วคณะ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ในกรณีของพิมนั้น พิมได้เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมาย แต่ไม่สามารถเดินทางได้ เนื่องจาก ไม่ได้รับการเรียกตัวจากนายจ้าง ศักยภาพการเคลื่อนย้ายของพิมนั้นถูกกำกับด้วยกฎหมายว่า ด้วยการจ้างแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือแรงงานผู้ผ่านการทดสอบจะเดินทางไปทำงานได้ก็เมื่อได้รับการเลือกจากนายจ้าง การเป็นผู้หญิงมีส่วนทำให้โอกาสในการถูกเลือก และศักยภาพในการเคลื่อนย้ายของเธอนั้นน้อยกว่าแรงงานชาย เป็นเวลาเกือบสองปีที่พิมอยู่ในภาวะไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำให้ต้องตัดสินใจเดินทางไปเป็นแรงงานผี (ผีน้อย) แม้ว่า ในที่สุดเธอสามารถเดินทางได้ แต่การเดินทางไปทำงานโดยไม่ผ่านระบบ EPS ทำให้การเคลื่อนที่ของเธอที่เกาหลีใต้เกิดขึ้นอย่างจำกัด มีเพียงพื้นที่ของโรงงาน และที่พักเท่านั้นที่เธอรู้สึกว่าเธอสามารถอยู่ได้อย่าง “ปลอดภัย”

ประสบการณ์ชีวิตของแรงงานการเดินทางของพลอยและพล จากเกาหลีใต้สู่ออสเตรเลีย

พลอยจบ ปวส. จากวิทยาลัยในตัวเมืองลำปาง พลอยเคยไปทำงานที่เกาหลีใต้พร้อมกับพลแฟนหนุ่ม โดยเดินทางผ่านไปทำงานอย่างถูกต้องด้วยระบบ EPS ในปี 2550 โดยเลือกไปทำงานในสาขาเกษตร เนื่องจาก ได้รับข้อมูลว่า การเลือกทำงานในสาขาการเกษตร หรือก่อสร้าง ทำให้มีโอกาสถูกเรียกตัวไปทำงานได้มากกว่างานประเภทอื่น[2] ทั้งคู่ทำงานในสวนที่เกาหลีใต้อย่างถูกต้องตามกฎหมายจนครบ 3 ปี จึงเดินทางกลับไทย โดยพลอยคาดว่า เธอน่าจะเก็บเงินจากการไปเกาหลีใต้ได้กว่าล้านบาท

พลอยแต่งงานกับพลหลังจากกลับจากเกาหลีใต้ และย้ายเข้ามาอยู่ร่วมบ้านกับแม่ของพล ในปี 2556 พลเดินทางไปทำงานที่ออสเตรเลีย ในขณะที่พลอยถูกขอร้องจากพลให้อยู่ที่เมืองไทยเพื่อดูแลแม่ของเขาซึ่งอายุมาก พลติดต่อกับคนในหมู่บ้านเดียวกันซึ่งทำงานในไร่องุ่นที่ออสเตรเลียให้ช่วยติดต่อหางาน และจัดการหาคนมารับที่สนามบิน พลเดินทางเข้าออสเตรเลียด้วยวีซ่านักเรียน เขาเสียค่าดำเนินการต่าง ๆ ประมาณ 300,000 บาท โดยมีนายหน้าซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านเป็นคนดำเนินการให้ เมื่อเดินทางถึงสนามบินซิดนีย์ คนลาวผู้ดูแลแรงงานในไร่องุ่นได้ขับรถมารับและพาพลไปส่งยังไร่ที่อยู่นอกเมือง (ขับรถประมาณ 3 ชั่วโมงจากสนามบิน) ที่ไร่มีที่พักให้แรงงาน โดยเสียค่าเช่าประมาณสัปดาห์ละ 80 เหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 2,000 บาท) พลเริ่มงานตั้งแต่เช้ามืด จนถึงประมาณ 16.00 น. โดยได้รับค่าตอบแทนวันละ 120 เหรียญ (ประมาณ 3,000 บาท)

พลส่งเงินกลับมาให้ที่บ้านทุกเดือน เดือนละประมาณ 60,000 – 80,000 บาท โดยมีคนลาวที่เป็นผู้ดูแลคนงานเป็นผู้โอนเงินเข้าบัญชีของพลอยที่เมืองไทย พลอยใช้เงินที่พลส่งมาให้สำหรับค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ค่าใช้จ่ายของตัวเธอเองและแม่สามีซึ่งอยู่บ้านเดียวกัน เงินส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้สำหรับการสร้างบ้านในอนาคต พลอยมักถูกคนในหมู่บ้านพูดถึงว่า “โชคดี สบาย มีผัวอยู่ออส ส่งเงินมาให้ใช้ปีละเป็นล้าน ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องทำงาน” พลอยไม่ได้มองว่า ตนเองโชคดีหรือสบายอย่างที่คนในชุมชนมอง เธอพูดถึงความลำบากใจในการต้องพึ่งพิงเงินจากสามี ตัวเธอนั้นต้องการไปทำงานต่างประเทศเช่นเดียวกัน แต่เธอไม่สามารถเดินทางไปได้เนื่องจาก ไม่มีผู้ดูแลแม่สามี เธอจึงถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ลูกกตัญญูแทนพล เมื่อเธอพูดถึงความต้องการที่จะไปต่างประเทศของเธอ เธอมักถูกตำหนิจากสามี และคนรอบข้าง “เขาว่าหนูเอาแต่ใจ ไม่รู้จักคิดถึงใจแฟน หนูต้องอยู่ดูแลแม่แฟนสิ แฟนจะได้ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล เขาว่าอยู่นี่ก็ไม่ได้ลำบากอะไร เงินก็มีใช้จะดิ้นรนไปทำไม แต่มันบอกไม่ถูกพี่ จะว่าสบายมันก็สบาย แต่มันก็ไม่เหมือนเงินที่เราหาเองนะพี่ ตอนนี้หนูไม่มีรายได้ จะใช้อะไรก็ต้องระวัง จะซื้อเสื้อผ้า เครื่องสำอางอะไรมาก คนก็ว่าเอาเงินผัวมาใช้ฟุ่มเฟือย อยากให้เงินพ่อแม่ก็ให้ได้ทีละห้าร้อยพันนึง ให้เยอะกว่าก็ไม่ดี แม่แฟนก็ว่า เอาเงินที่ลูกเขาหาไปให้พ่อแม่ตัวเอง แต่ตอนไปนอก เงินค่านายหน้าก็มีเงินหนูด้วยนะพี่ แม่แกไม่เคยพูดถึง” พลอยยังคงพักอยู่ในบ้านเดียวกับแม่สามี และมีปัญหากระทบกระทั่งกับแม่สามีเป็นระยะ เธอเคยติดต่อนายหน้าให้หางานที่เกาหลีให้เธอ แต่พ่อแม่ของเธอห้ามไม่ให้เดินทางไปด้วยเกรงว่า จะทำให้ชีวิตคู่ของเธอและพลมีปัญหา

การเดินทางไปต่างประเทศของแรงงานหนุ่มสาวนั้น ในด้านหนึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเคลื่อนย้ายของพวกเขา แต่อีกด้านหนึ่งของการเคลื่อนย้ายของพวกเขา คือ การอยู่กับที่ของผู้อื่น กรณีของพลและพลอย คือ รูปธรรมที่ชัดเจน พลในฐานะลูกคนเดียวของครอบครัวสามารถเดินทางไปทำงานที่ออสเตรเลียได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการดูแลแม่ เนื่องจาก พลอยผู้เป็นภรรยายังอยู่ที่เมืองไทย และทำหน้าที่ดูแลแม่ของเขา ความสามารถในการเคลื่อนย้ายของพลนั้นเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อพลอยผู้เป็นภรรยาไม่เคลื่อนย้าย การไม่เคลื่อนย้ายของพลอยนั้นไม่ใช่สิ่งที่เธอเต็มใจเลือก เธอบอกว่า เธอต้องการไปต่างประเทศมากกว่าอยู่ที่เมืองไทย นอกจากเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้ต้องอยู่กับในเชิงกายภาพแล้ว พลอยยังมีข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนบทบาทความสัมพันธ์หญิงชายในครอบครัว เธอไม่สามารถก้าวออกไปจากกรอบของสังคมที่คาดหวังให้เธอแสดงบทบาทในฐานะภรรยาที่ดี สะใภ้ที่ดี ผู้ยอมรับการดูแลจากสามีมากกว่าในฐานะผู้ที่รับผิดชอบตนเองในทางเศรษฐกิจได้ เรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทาง การไปนอกของพลจึงไม่สามารถแยกออกจากเรื่องราวของการอยู่กับบ้าน/ไม่เคลื่อนย้ายของพลอย

เราอาจกล่าวได้ว่า แรงงานหนุ่มสาวที่กำลังทำงานในฐานะแรงงานไร้ฝีมืออยู่ต่างประเทศเป็นกลุ่มคนที่กำลังมีชีวิตที่อยู่ระหว่างการเคลื่อนย้ายเป็นผู้ซึ่งกำลังพยายามจะเลื่อนชั้นทางสังคมของตนเองและครอบครัว แต่การเป็นแรงงานไร้ฝีมือไม่ว่าจะเป็นแรงงานถูกกฎหมายหรือแรงงานผี (ผีน้อย) ทำให้พวกเขาเผชิญกับข้อจำกัดของการเคลื่อนย้าย ลักษณะของงานที่หนักและแทบไม่มีวันหยุด (เพียงประมาณ 1 วันต่อสัปดาห์ หรือในบางกิจการ 2 วันต่อเดือน) ทำให้พื้นที่ทำงาน (สวน ไร่ โรงงาน) และพื้นที่พักอาศัยเป็นพื้นที่หลักในการใช้ชีวิตประจำวัน การเคลื่อนที่ของพวกเขาจึงเกิดขึ้นระหว่างพื้นที่ทั้งสองเป็นหลัก ส่วนคนหนุ่มสาวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตนั้น การเคลื่อนย้ายยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น ทั้งในแง่ของการที่พวกเขาไม่สามารถเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยได้ ตลอดจนข้อจำกัดในการเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่เครือข่ายสังคมออนไลน์[3]


[1] โครงการดังกล่าวเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาชาวต่างชาติที่พำนักอย่างผิดกฎหมายในประเทศกาหลีใต้ กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ได้ประกาศเชิญชวนให้ชาวต่างชาติ ที่พำนักอย่างผิดกฎหมายแจ้งการเดินทางออกนอกประเทศโดยสมัครใจโดยไม่ต้องเสียค่าปรับ ทั้งนี้ผู้ที่เดินทางออกนอกประเทศภายใต้โครงการเดินทางออกด้วยความสมัครใจ ได้รับสิทธิลดหย่อนการห้ามเข้าประเทศ โดยได้รับการยกเว้นการขึ้นบัญชีห้ามเดินทางเข้าประเทศ (http://www.doe.go.th/prd/ar7/news/param/site/143/ cat/7/sub/0/pull/detail/view/detail/object_id/2803, สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2559)

[2] แรงงานที่เคยไปทำงานเกาหลีใต้มีความเห็นร่วมกันว่างานในภาคก่อสร้างและการเกษตรและเป็นงานที่ยากลำบากที่สุด จึงมีผู้แสดงความประสงค์ไปทำงานในสาขานี้น้อยกว่าสาขาอื่น ส่วนงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงานไทยมากที่สุด คือ งานในโรงงานอุตสาหกรรม แรงงานที่ระบุว่า ต้องการไปทำงานในสาขานี้ จึงต้องรอค่อนข้างนานก่อนถูกเรียกตัวไปทำงาน

[3] ขอขอบคุณที่มาบทความ เรื่อง การเมืองของการ (ไม่) เคลื่อนย้ายของแรงงานหนุ่มสาวไทย โดยวาสนา ละอองปลิว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *