คัมภีร์ปุราณะ “ตรีมูรติ” เทพเจ้าคือความปรารถนา

หากไล่เรียงตามภูมิศาสตร์ความเชื่อของอารยธรรมอินเดีย นับตั้งแต่ชาวอารยันเข้ามาปกครอง จะแบ่งได้ดังนี้ คือ 1) ยุคแห่งคัมภีร์พระเวท พัฒนามาจนถึงคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งเปลี่ยนแปลงแนวคิดเกี่ยวกับเทพเจ้า จากเทพเจ้าหลายองค์ มาสู่ความเชื่อเรื่องพระเจ้าสูงสุด หรือ “พรหมมัน” 2) ปรัชญา 6 สำนัก 3) ยุคมหากาพย์ และ 4) ยุคพระสูตรและนักปราชญ์ เป็นยุคของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ผสมผสานลัทธิพราหมณ์เข้ากับความเชื่อพื้นถิ่น กระทั่งมาจรดที่แนวคิด “ตรีมูรติ” หรือการยกย่องเทพเจ้าสามองค์ คือ พระพรหม – ผู้สร้าง พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ – ผู้รักษา และพระศิวะหรือพระอิศวร – ผู้ทำลาย เป็นสามมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่

ความเชื่อแบ่งเป็นสองนิกายใหญ่ คือ นิกายที่นับถือพระนารายณ์เป็นเทพสูงสุด กับนิกายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด และแบ่งเป็นนิกายย่อยออกไปอีกมากมาย น่าแปลกที่พระพรหมซึ่งเป็น 1 ใน 3 มหาเทพกลับไม่มีนิกายที่นับถือโดยเฉพาะ เมื่อไม่มีนิกายก็แทบไม่มีการจัดตั้งเป็นโบสถ์วิหาร เทียบกับพระศิวะกับพระนายรายณ์ที่มีการบูชากันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่พระพรหมหรือ “พรหมมัน” นั้น มีสถานะที่ยิ่งใหญ่มากในคัมภีร์อุปนิษัท เพราะเป็นสภาวะสุงสุด หรือเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นในสกลจักรวาล

“พรหมมัน” ในคัมภีร์อุปนิษัทเป็นสภาวะ ไม่มีรูปลักษณ์หน้าตา ไม่มีที่มา ไม่มีที่ไป หากเป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง ฟังดูคล้าย ๆ “เต๋า” ซึ่งเป็นสภาวะที่มีมาแต่เดิม และเป็นครรลองของทุกสิ่งทุกอย่าง คัมภีร์อุปนิษัท กล่าวถึง พรหมว่า “เรา คือ ความเวิ้งว้างว่างเปล่าที่มีมาก่อนสรรพสิ่ง เราดำรงอยู่ตลอดเวลา และจักดำรงอยู่ตลอดไป ไม่มีอะไรมาทำให้แปรผันได้ เรา คือ “อมตภพ” แต่ก็ไม่ทรงสภาวะอมตะ สามารถแลเห็นทุกอย่าง แต่ทุกอย่างก็ไม่อยู่ในการแลเห็น เรา คือ “พรหม” และเราหาใช่พรหม

“พรหมมัน” ในคัมภีร์อุปนิษัทเป็นพระเจ้าสูงสุดของเหล่านักพรตโยคี พอมาถึง “ตรีมูรติ” พระพรหมก็ถูกนำมาจัดระเบียบคุณเทพใหม่ เป็น 1 ใน 3 มหาเทพ วัฏจักรที่ดำเนินไประหว่างผู้สร้าง ผู้รักษา และผู้ทำลาย บทบาทของผู้สร้างอาจถูกละเลยในภายหลัง เพราะสร้างแล้วก็แล้วกัน นัยของผู้สร้างอาจหมายความได้ตั้งแต่ผู้ให้กำเนิด ผู้บุกเบิก ผู้ก่อตั้ง หรือผู้สร้างสรรค์ สิ่งต่าง ๆ ซึ่งมักจะถูกหลงลืมความสำคัญ เช่นเดียวกับพระพรหม เมื่อไม่มีนิกายหรือไม่มีผู้นับถือ ก็ไม่มีพระสูตร หรือบทสวดที่แต่งขึ้นมาเพื่อบูชา ซึ่งคัมภีร์สำคัญที่สุดในยุคแบ่งย่อยเป็นนิกายก็คือ “คัมภีร์ปุราณะ” มีจำนวนถึง 18 คัมภีร์ใหญ่ และอีก 18 คัมภีร์ย่อย ส่วนใหญ่จะเป็นพระสูตรที่แต่งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นบทสวดถึงเทพเจ้า และมักจะเป็นของนิกายที่นับถือพระศิวะที่เรียก “ไศวนิกาย” และนิกายที่นับถือพระนายรายณ์หรือพระวิษณุที่เรียก “ไวษณพนิกาย”

เทพที่คนนับถือมากไม่ค่อยมีใครกล้านินทา แต่เทพที่ไม่ค่อยมีสาวกคอยเป็นปากเป็นเสียงให้ย่อมโดนแต่งแต้มอยู่ฝ่ายเดียว อย่างพระพรหมซึ่งเรื่องเล่าที่แร่หลาย คือ เหตุใดพระพรหมจึงมี 4 หน้า พระพรหมที่ปรากฏขึ้นในคัมภีร์ปุราณะเป็นบุคลาธิษฐาน ภาพวาดจะเป็นชายชรา เครายาวสีขาว และมี 4 พักตร์ เดิมที่ว่ากันว่ามี 5 พักตร์ด้วยซ้ำ ทว่าถูกตัดไปเศียรหนึ่งซึ่งเล่ากันไปอย่างแตกต่าง ขึ้นอยู่กับว่า ประกอบในการพร่ำสวดยกยอเทพเจ้าองค์ใด

อย่างเช่นในนิกายที่ยกย่องพระศิวะก็ว่า พักตร์ที่ 5 ของพระพรหมถูกตัดโดยพระศิวะ เริ่มจากพระพรหมได้บำเพ็ญตบะอย่างแรงกล้ามาเป็นเวลาช้านาน พระศิวะจึงปรากฏร่างขึ้นเพื่อให้พร พระพรหมขอพรว่า ขอให้คนทั้งหลายถือว่า พระศิวะจึงปรากฏร่างขึ้นเพื่อให้พร พระพรหมขอพรว่า ขอให้คนทั้งหลายถือว่า พระศิวะเกิดจากตน พระศิวะก็ต้อยอมตามคำขอนั้น แต่เพื่อเป็นการปรามโอหังจึงตัดเศียรที่ 5 ของพระพรหมเสีย เช่นนี้เป็นต้น

หรืออีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า พระพรหมเกิดหลงใหลรูปอันงามที่ตนได้สร้างขึ้น นามว่า “ศตรูป” มองอย่างมนุษย์ก็เท่ากับว่า เป็นลูกสาวนั่นเอง นางศตรูปรู้ว่า ไม่เหมาะสมจึงเคลื่อนตัวหนีสายตาของพระพรหม ทว่าเคลื่อนไปทางใด แม้พระพรหมจะไม่เคลื่อนกายตาม แต่กลับบังเกิดใบหน้าใหม่ขึ้น เมื่อศตรูปเคลื่อนหนีไปอีกด้าน พระพรหมก็มีใบหน้างอกขึ้นมาอีกจนครบสี่ทิศ ศตรูปจึงหนีขึ้นเบื้องบน พระพรหมก็มีใบหน้าที่ 5 ซึ่งแหงนมองไปข้างบน และภายหลังพระศิวะก็ได้ตัดเศียรที่ 5 ออกเสีย

แต่ในแง่ของปรัชญา พระพรหมมี 4 พักตร์เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้รู้ทั่วทั้งสี่ทิศ พระพรหมเป็นผู้สร้างก็จริง แต่ลดทอนความสำคัญลง ซึ่งนับว่า ไม่แปลก เพราะไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสิ่งที่สร้างขึ้นมา และมนุษย์ก็ต้องการความเอาใจใส่จากเทพเจ้าอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม

เรื่องเล่าของเทพเจ้าดังเอาความปรารถนาของมนุษย์ขึ้นมาแปลง และบางครั้งก็ให้แสดงความอัปลักษณ์แทนความปรารถนาของตน ซึ่งในแง่หนึ่งย่อมสะท้อนให้เห็นว่า การผสมผสานของศาสนามาจากความต้องการของมนุษย์ หากคัมภีร์อุปนิษัท บอกว่า คนสามารถเข้าถึงสภาวะของความเป็นเทพได้ด้วยการฝึกตนบำเพ็ญเพียรเพื่อความหลุดพ้น คัมภีร์ปุราณะก็ไม่ยอมให้เทพอยู่พ้นจากโลกียวิสัย แต่ดึงจากสภาวธรรมาเป็นบุคลาธิษฐานซึ่งสะท้อนความเป็นคนที่อยู่ในใจตน

อย่างเรื่องเล่าหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพิสูจน์ว่า เทพตรีมูรติองค์ไหน มีฤทธิ์มากที่สุด ด้วยปรากฏเสาไปต้นหนึ่งมีไฟลุกท่วมร้อนแรง ไม่รู้ว่า คือ อะไร พระพรหมนจึงเหาะลงไปดูที่ฐานราก ส่วนพระวิษณุเหาะขึ้นไปดูที่ยอดปลาย เวลาผ่านไปนับพันปียังไม่สามารถไปถึงฐานรากและยอดปลายต่างฝ่ายต่างกลับมาที่เดิม

แล้วพระศิวะก็ปรากฏกาย บอกว่า แท้แล้วสิ่งที่เห็นเป็นมายาที่พระองค์สร้างขึ้น และนั่นก็คือ “ศิวลึงค์” และได้ให้ศิวลึงค์เป็นตัวแทนการบูชาพระศิวะมานับแต่นั้น มีปกรณ์มเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของศิวลึงค์ในทำนองอื่นอีก เช่นว่า การบูชาศิวลึงค์นั้นเป็นการเอาใจเจ้าแม่กาลี ปางหนึ่งของมเหสีพระศิวะเพื่อให้มีความพึงพอใจ จะได้ไม่ฉุนเฉียวให้ร้ายต่าง ๆ แก่มนุษย์

เทพที่สะท้อนถึงความปรารถนาของมนุษย์ในอีกด้านก็คือ “ผู้พิทักษ์รักษา” อย่างพระวิษณุหรือพระนารายณ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในบทบาท “พระนารายณ์มาโปรด” มนุษย์มีเรื่องเดือดร้อนคราใด เป็นต้องอ้อนวอนต่อพระนายรายณ์ให้มาช่วยกอบกู้ปัญหา พระนารายณ์มี 4 กร บรรทัมหลับอยู่บนพญาอนันตนาคราชใต้สมุทรเป็นนิจศีล จะตื่นบรรทมก็ต่อเมื่อมีผู้มาขอให้ช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ผ่านการอวตาร บทบาทจึงเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งระเบียบของสกลโลก

  • เทพเจ้าผู้งดงามและอ่อนโยนจึงเป็นรูปลักษณ์ของพระนารายณ์
  • เทพเจ้าที่สนุกที่สุดคงเป็นพระศิวะ เพราะการกระทำออกไปทางแหวกแนว ทำลายกฎระเบียบ แม้โดยรูปลักษณ์ก็หลากหลาย เป็นทั้งโยคีเป็นพรานป่า เป็นราชาแห่งการฟ้อนรำ หรือเป็นกะเทยก็มี และจะมีระบบปรัชญาที่น่าสนใจรองรับในแต่ละปาง เช่น ปรัชญาของการเป็นผู้ทำลาย ซึ่งหมายถึง ทำลายอัตตาด้วย หรือเป็นผู้ทำลายเพื่อการกำเนิดสิ่งใหม่

พระศิวะไม่อยู่บนสวรรค์ หากบำเพ็ญฌานอยู่บนภูเขา เป็นเทพเจ้าแห่งเหล่าโยคี เป็นผู้เขย่าจักรวาลด้วยการร่ายระบำ และเป็นผู้เสียสละด้วย การดื่มกินยาพาลงไปจนพระศอมีสีดำ เป็นต้น

เทพเจ้าอาจไม่มีอยู่จริง นอกจากมีอยู่ในเทพนิยาย หากย่อมมีจริงในแง่ของสภาวะ เป็นสภาวะจิตใจของคนซึ่งอยู่ในเรื่องเล่านั้น ๆ คัมภีร์ปุราณะทำให้สภาวะของเทพกลายมาเป็นพฤติกรรมที่คนเข้าใจได้ ไม่ใช่เป็นนามธรรมที่เข้าใจยาก

อย่างเรื่องราวของ “ภฤคุ” ที่สงสัยว่า ควรจะจัดเทพเจ้าองค์ใดไว้ในที่สูงสุดแน่ ระหว่างพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ

ภฤคุจึงได้ทำการทดสอบ โดยไปพบพระพรหมก่อน เมื่ออยู่ต่อหน้าพระพรหม ภฤคุก็แสดงความโอหัง ต่อว่าพระพรหมเป็นการใหญ่ว่า ดีแต่รู้จักสร้าง แม้แต่อสูรก็ไม่เว้น จะเป็นเทพเจ้าผู้สูงส่งได้อย่างไร ฟังแล้วพระพรหมก็โกรธาขึ้นมา ภฤคุจึงเห็นว่า วพระพรหมไม่ใช่เทพผู้ยิ่งใหญ่ เพราะเชื่อว่า เทพเจ้าต้องไม่มีความโกรธ

ต่อมา ภฤคุได้ไปเฝ้าพระศิวะที่เขาไกรลาส ทว่าไปถึงก็ไม่ได้รับการต้อนรับ ด้วยเหตุผลว่า พระศิวะกำลังสำราญอยู่ด้วยพระแม่เจ้า ภฤคุงก็ตัดสินได้ทันใดว่า พระศิวะก็ไม่ใช่เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เพราะเห็นแก่กิจส่วนตัวสำคัญกว่าแขกผู้มาเยือน

ครั้งไปเข้าเฝ้าพระวิษณุซึ่งบรรทมหลับอยู่ ภฤคุก็จงใจเข้าไปทดสอบโดยการเตะ ทว่าเตะเทพเจ้าตัวเองกลับเจ็บจนร้องโอย พระวิษณุตื่นบรรทมเห็นภฤคุร้องโอดโอยเจ็บปวดอยู่ก็เข้าไปบรรเทาให้โดยการบีบนวด ปลอบประโลมด้วยวาจาอ่อนโยน ภฤคุฟังแล้วเกิดความตื่นตันใจ จึงยกให้พระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุด พระวิษณุจึงตรัสว่า “เพียงเพราะเจ้าชอบในการกระทำของเราเท่านั้น”

ขอขอบคุณที่มาบทความ แกะรอยคัมภีร์ฉบับคนกันเอง ภาค 2 ประมวลยอดคัมภีร์ธรรมะ โดย เอื้อ อัญชลี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *