ความจริงของโหราศาสตร์

โหราศาสตร์ในฐานะที่เป็นความรู้ที่เกิดจากการสังเกตสาขาหนึ่ง มีทฤษฎีและหลักการของตนเอง  แม้วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถยอมรับหรือแม้แต่ปฏิเสธได้อย่างชัดเจน ความสามารถในการทำนายของโหราศาสตร์ก็ยังถือว่า มีอยู่ถึงแม้จะไม่สามารถทำนายได้ถูกทุกอย่างหรือทุกครั้ง นั่นก็เหมือนกับศาสตร์อื่น ๆ ที่ใช่ในการทำนาย วิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นศาสตร์แห่งการทำนายที่ถูกต้องที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจะทำนายตำแหน่งของอิเล็กตรอนได้อย่างถูกต้อง นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันชื่อ เวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก (Werner Heisneberg) ได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยหลักการความไม่แน่นอน โดยชี้ให้เห็นว่า เนื่องจากอิเล็กตรอนเป็นอนุภาคและคลื่น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหาทั้งตำแหน่งและโมเมนตัมของอนุภาคได้อย่างถูกต้อง หากเราได้อย่างแน่นอนว่า อิเล็กตรอนอยู่ที่ใด เราจะไม่สามารถหาได้ว่า ในโอกาสต่อไป อิเล็กตรอนจะไปอยู่ ณ ที่ใด

เมื่อมองจากพุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถอธิบายธรรมชาติทั้งหมดได้ เนื่องจากเป็นการศึกษาโลกทางวัตถุเพียงด้านเดียว อะไรที่ไม่สามารถพิสูจน์ด้วยการทดลองหรืออธิบายด้วยเหตุผลได้ วิทยาศาสตร์ก็จะไม่ยอมรับ แต่พุทธศาสนาเชื่อว่า ธรรมชาติประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ คือ รูปและนาม ซึ่งธรรมชาติในฝ่ายนามธรรมนั้นไม่สามารถจะทดสอบทดลองหรือทำความเข้าใจได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ แต่สามารถหาความจริงได้โดยการสังเกตด้วยตนเอง

ถึงแม้โหราศาสตร์จะใช้รูปธรรมที่ปรากฏเป็นอุปกรณ์ในการทำนาย แต่ก็เชื่อมโยงความสัมพันธ์เข้ากับปรากฏารณ์ของนามธรรมได้ ด้วยการสังเกตและบันทึกเก็บเป็นสถิติไว้ จนตกผลึกเป็นภาษาเชิงสัญลักษณ์ที่นำมาใช้ในการทำนาย ยกตัวอย่างที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา คือ “มหาปุริสลักษณะ” ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างลักษณะที่ปรากฎทางกายภาพไปสู่ความสามารถทางจิตที่ยิ่งใหญ่

จึงกล่าวได้ว่า พุทธปรัชญาเถรวาทไม่ได้ปฏิเสธในความเป็นศาสตร์ของโหราศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ยอมรับนับถือนัก เนื่องจาก บุคคลมีเสรีภาพที่จะเลือก การทำนายของโหราศาสตร์ไม่ได้มีอำนาจเหนือไปกว่าการกระทำของบุคคล แม้จะมีมหาปุริสลักษณะเกิดขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่า บุคคลนั้นจะต้องเป็นพระพุทธเจ้าเสมอไป แต่ความยิ่งใหญ่ของบุคคลนั้นย่อมปรากฎไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงเห็นว่า การที่บุคคลไปให้ความเชื่อถือโหราศาสตร์มากไป เป็นการขวางทางสงบอันจะนำไปสู่พระนิพพาน ดังนั้น จึงทรงบัญญัติมิให้พระภิกษุดำเนินกิจกรรมทางโหราศาสตร์ทุกประเภท แต่ด้วยยุคสมัยผ่านไป จุดมุ่งหมายสู่พระนิพพานในศาสนาเริ่มอ่อนกำลังลง รวมทั้งพุทธานุญาตเกี่ยวกับการเรียนเรื่องวันเวลาและดวงดาว การยอมตามการถือมงคลของชาวบ้านตามโอกาส และการใช้อธิบายหลักกรรมได้ ทำให้โหราศาสตร์เป็นวิชาที่ดูจะกลมกลืนกับพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย

สรุปได้ว่า โหราศาสตร์เป็นวิชาที่เรียกว่า ดิรัจฉานวิชาเหมือนวิชาการอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการพ้นทุกข์ และดิรัจฉานวิชาเหล่านี้บางวิชาก็มีความจำเป็นในการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันในโลกปัจจุบัน เช่น ภาษา เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จิตวิทยา ฯลฯ วิชาเหล่านี้ยังมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่ยังต้องทำมาหากินอยู่ และสามารถเป็นฐานความรู้และเครื่องมือในการเผยแพร่พุทธศาสนาได้ แม้โหราศาสตร์ก็เป็นเครื่องมือที่ดีได้เช่น ถ้ามีการใช้อย่างถูกต้องและรู้เท่าทัน

ที่มาบทความ จักรเทพ รำพึงกิจ (2551) การศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทที่มีต่อโหราสาสตร์ในยุคปัจจุบัน.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.  http://opac.mbu.ac.th/MyResearch/pfile/2278/11528.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *