การใช้ชีวิตคู่ การสร้างครอบครัว และการเลี้ยงดูบุตรของคนข้ามเพศ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัฒนธรรมและค่านิยมแบบไม่เผชิญหน้าและเน้นความสัมพันธ์ที่ราบรื่นของบุคคลกับครอบครัว ชุมชน และสังคม ผู้ใดซึ่งไม่กระทำตามค่านิยมของสังคมอาจไม่ถูกท้าทายโดยตรง แต่จะถูกปฏิเสธหรือถูกมองข้ามจากสังคม การแสดงออกซึ่งการปฏิเสธในสังคมไทยมักจะเป็นแบบแอบแฝง แต่มักจะสร้างความเจ็บปวดและความรู้สึกอ่อนแอให้กับผู้ที่กระทำดังเช่นกรณีเรื่องเพศ แม้ว่า ปัจจุบันการเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจะถูกมองว่า ได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคมไทย แต่การยอมรับของคนในสังคมไทยนั้นยังปราศจากความเข้าใจในตัวตนทางเพศ และเพศวิถีของบุคคลนั้น ๆ ทำให้ในบางครั้งก็เป็นการตอกย้ำความรู้สึกผิด หรือการตรีตราให้กับบุคคลคนนั้นมากยิ่งขึ้น[1]

ในสังคมไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้รับอิทธิพลด้านความคิดภายใต้วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม (Binary Opposition/Dichotomy) มาโดยตลอด เพราะเป็นการจัดกลุ่มที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรมแบบตะวันตกหรือแบบตะวันออก ด้านการตั้งถิ่นฐานที่อยู่ เช่น การกระจายตัวของประชากรแบบชุมชนเมืองหรือชุมชนชนบท หรือแม้แต่ฐานความคิดทางประเพณี (ซึ่งส่งผลถึงด้านกฎหมาย) ของการสร้างครอบครัวที่ถูกจำกัดอยู่ในแนวคิดแบบ “ชายกับหญิง” เท่านั้น เป็นต้น แม้ว่า วิธีคิดนี้จะมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการ การจัดการความรู้ และจัดระบบระเบียบให้กับส่วนต่าง ๆ ในสังคม แต่ก็ทำให้เกิดการจำกัดมุมมอง เกิดการแบ่งแยกปิดกั้น สร้างความแตกต่างความเป็นอื่น หรือความ “ผิดปกติ” ให้กับสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแนวคิดนั้น ๆ เช่นเดียวกันในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างเพศ กลุ่มคนที่ไม่ได้ตกอยู่ในกรอบคิด “ชายกับหญิง” หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ จึงถูกมองว่า ผิดปกติมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม การที่ความหลากหลายทางเพศถูกทำให้เป็นสิ่งผิดปกติมาโดยตลอด ส่งผลให้ความรู้ความเข้าใจทางด้านนี้ถูกยอมรับอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด แม้แต่บุคคลในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเองก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ที่จะทำให้พวกเขา (หรือคนรอบข้าง) เข้าใจ ยอมรับและสามารถใช้ชีวิตที่หลุดออกจากกรอบแนวคิดแบบเดิมได้[2]

คนข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศ หมายรวมถึง ผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด และผู้ที่ต้องการแสดงออกถึงเพศสภาพที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด โดยในบุคคลเหล่านี้จะมีกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่า จำต้องหรือเลือกที่จะแสดงออกในลักษณะที่ขัดแย้งกับความคาดหวังที่สังคมมีต่อบทบาททางเพศโดยกำเนิด ไม่ว่าจะด้วยการแสดงออกถึงความแตกต่างนี้ผ่านภาษาการแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องสำอาง หรือการดัดแปลงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่ผ่านการผ่าตัดข้ามเพศหรือต้องการผ่าตัดข้ามเพศ (Transsexual)[3] คนข้ามเพศ (Transgender) เป็นคำใหม่ในขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องเพศวิถี หมายถึง ชายที่เปลี่ยนเพศเป็นหยิง หรือที่เรียกว่า “หญิงข้ามเพศ” และหญิงที่เปลี่ยนเพศเป็นชาย “ชายข้ามเพศ” ทั้งที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วและไม่ได้ผ่าตัด คำเรียกอื่นที่คนข้ามเพศใช้เรียกตัวเอง เช่น ทีจี (TG – Transgender) และส่วนหญิงข้ามเพศนั้นมักเรียกตัวเองว่า “สาวประเภทสอง” หรือ “กะเทย” ด้วย[4]

ในสภาวการณ์ปัจจุบันคนข้ามเพศที่ได้ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศ (Sexual – Reassignment Surgery: SRS) จากชายเป็นหญิงมีอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำรงชีวิตในสังคมอย่างไร ภายใต้มายาคติทางสังคมที่ยังคงสร้างภาพให้ดูเหมือนว่า คนข้ามเพศมีสิทธิและความเสมอภาคไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงในสังคมไทยเหตุเพราะอคติ และการขาดความเข้าใจในสังคมไทยต่อวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ การถูกเลือกปฏิบัติในวงกว้างหลากหลายแง่มุม ส่งผลให้ครอบครัวคนข้ามเพศไม่ได้รับสิทธิพื้นฐาน และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่สามารถดำรงชีวิตให้มีคุณภาพ และพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพได้อย่างเต็มที่[5] ปัญหาพฤติกรรมทางเพศจึงเป็นปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีเพศหญิงและเพศชาย พฤติกรรมทางเพศแบบหนึ่งอาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องและยอมรับได้ในสังคมหนึ่ง แต่อาจไม่ได้รับการยอมรับในอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งถือว่า พฤติกรรมทางเพศดังกล่าวเป็นเรื่องผิดประเพณี เป็นพฤติกรรมที่เกินขอบเขตของขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในสังคมนั้น ที่ยึดถือปฏิบัติมานานหลายชั่วอายุคน[6] การจัดลำดับคุณค่าสูงต่ำเรื่องเพศในสังคมไทย คือ เพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายที่เป็นคู่สมรสกัน โดยเฉพาะเพื่อการมีลูกและการสร้างครอบครัวถือเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับและให้คุณค่าสูงสุด ขณะที่ความสัมพันธ์ต่างเพศของหญิงชายที่อยู่เป็นคู่แต่ไม่ได้แต่งงานกันนั้น สังคมยังไม่ให้การยอมรับเต็มที่ ส่วนความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นคู่ถาวรหรือไม่ก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงปกปิดให้รับรู้ได้เฉพาะในวงแคบ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกประฌามว่า เป็นความ “เบี่ยงเบน” “ผิดปกติ” หรือ “วิปริต”[7]

ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคมไทย หลายครั้งที่สังคมจัดวางความสัมพันธ์ และความเป็นเพศ ไว้บนเพศที่สังคมยอมรับได้ คือ เพศที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่มีเพียงสองเพศ คือ เพศชายและเพศหญิง นอกเหนือจากนั้นจัดให้อยู่อีกประเภทอื่นที่มีความแตกต่างออกไป และถูกมองว่า “คนอื่น” ไม่ใช่ “พวกเรา” จะเห็นได้ว่า ในหลายครั้งระบบของความหมาย การตีตรา การให้ชื่อใหม่ ได้เบียดขับคนข้ามเพศให้ออกห่าง ไปจากสังคม และในขณะที่คนข้ามเพศไม่สามารถที่จะต่อรองหรือมีอำนาจในการต่อรองที่ชัดเจน ยิ่งเป็นผลให้คนข้ามเพศถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ที่แสดงออกมาในรูปแบบของความรุนแรงในหลายระดับทั้งทางตรงทางสังคม วัฒนธรรม และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ไม่เว้นแม้แต่คนข้ามเพศที่ได้พยายามแสวงหาตัวตน โดยการพยายามเปิดพื้นที่ทางร่างกายของตนเองให้กับเพศตามกระแสหลักของสังคม แต่ทว่าชีวิตที่ได้รับหลังจากการแปลงเพศนั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง

คนข้ามเพศในบริบทการใช้ชีวิตคู่ : ผัวกับเมียสาวประเภทสอง

การนำเอาโครงสร้างที่สังคมกำหนดมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน คือ การสร้างครอบครัวการดำรงตนอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น ได้ยังต้องอยู่ภายใต้อำนาจของโครงสร้างและกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันในรูปแบบความรักของครอบครัวคนข้ามเพศไม่แตกต่างจากความรักโดยทั่วไป ที่มีทั้งสุขและทุกข์ ต้องเผชิญความท้าทายจากทางสังคมและวัฒนธรรม ภายใต้วาทกรรมความรักเกิดขึ้นได้เฉพาะชายกับหญิง ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางเพศของคนรักเพศเดียวกันได้ถูกให้คำตอบล่วงหน้าไว้แล้วว่า ไม่ยั่งยืนในความสัมพันธ์ระหว่างชายกับกะเทย ที่สังคมได้ตัดสินว่า เป็นความสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาตินั้น กะเทยหรือสาวประเภทสองได้เลือกที่จะแลกเปลี่ยนทรัพย์สินของตน เพื่อให้ได้มาซึ่งความสัมพันธ์จากคนที่ตนรักในฐานะแฟน สามี หรือคนรัก[8]

ความรักของทั้งสองเริ่มจากการไปเที่ยวบ้านเพื่อน ซึ่งเป็นคนพื้นเพจังหวัดเดียวกันและได้รู้จักกับลูกพี่ลูกน้องของเพื่อน ขณะนั้นเพิ่งจบมัธยมศึกษาตอนต้น ครอบครัวพ่อแม่แยกทางกัน ความสัมพันธ์เริ่มต้นด้วยการเยี่ยมเยือนไปมาหาสู่ ไปกินเที่ยวด้วยกัน ช่วยเหลือให้กำลังใจไปไหนมาไหนด้วยกันเป็นเวลา 4 เดือนมาเป็นคู่ความสัมพันธ์หรือชีวิตคู่อยู่กินฉันท์สามีภรรยาร่วมกันที่บ้านในกรุงเทพฯ ด้วยวัยที่ต่างกัน 10 ปี ช่วงแรกความสัมพันธ์แบบฝ่ายหนึ่งพึ่งพิงฝ่ายหนึ่ง เป็นสัมพันธภาพในรูปแบบที่ฝ่ายชายคอยพึ่งพาการสนับสนุนและรับความช่วยเหลือทั้งหมด ทั้งทางด้านการเงิน ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาการกินอยู่บันเทิง ท่องเที่ยว สังสรรค์เป็นที่ปรึกษาด้านการเรียน การดำรงชีวิตในเมืองหลวง ไปรับส่ง จนกระทั่งฝ่ายชายเรียนจบ ปวส. เข้าทำนอง “ฉันเป็นผู้ให้ส่วนเธอคือผู้รับ” ด้วยความยินดีฝ่ายชายไม่รู้สึกว่า ต่ำต้อยที่ต้องคอยพึ่งพิงอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไวท์มองว่า เป็นการสร้างคนจากเด็กที่ครอบครัวแตกแยก ไม่มีใครดูแลสนใจ เรียบจบมีงานทำ ไม่เป็นปัญหาต่อสังคม กลายเป็นหุ้นส่วนชีวิต ร่วมทุกร่วมสุข ร่วมหัวจมท้ายในทุกสถานการณ์ในทุกหนทุกแห่ง

ทั้งนี้ สังคมได้ตีตราสาวประเภทสองว่า มั่วสำส่อน ชอบเซ็กส์ แต่ไม่ได้มองถึงการเปิดโอกาสให้คู่ความสัมพันธ์ของผู้ชายกับสาวประเภทสองเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้ามองธรรมชาติของความรักเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถหาอะไรมาวัดได้ อีกทั้งยังมีความหมาย คุณค่าที่ต่างกันไปตามแต่ละคู่ ความสัมพันธ์และบุคคล ดังนั้น คู่ความสัมพันธ์ระหว่างชายและสาวประเภทสองก็ไม่ได้แตกต่างจากคู่ความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง[9] อย่างไรก็ตาม ไวท์สามารถมีรักแท้และความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนจากผู้ชายที่เป็นคนรัก ปัจจุบันครอบครัวของไวท์ย้ายกลับมาอยู่บ้านต่างจังหวัด การพาคู่รักเข้ามาอยู่กับครอบครัวที่ต่างจังหวัด ซึ่งทุกคนให้การยอมรับที่ทั้งสองอยู่ร่วมกันในฐานะสามี – ภรรยา ลูกชายบุญธรรมอันเป็นที่รักของตา ยายและลุง การใช้ชีวิตคู่สร้างครอบครัวอยู่ด้วยกัน สิ่งที่สำคัญที่ยึดเหนี่ยว คือ ความรักความเข้าใจ การพึ่งพาซึ่งกันและกัน การช่วยกันสร้างฐานะของครอบครัวในสัมพันธ์ภาพแบบต่างฝ่ายต่างพึ่งพิงกันและกัน ชายคนรักทำงานประจำในโรงงานกระดาษ ชายคนรักทำงานประจำในโรงงานกระดาษ ก่อนหน้านั้น ไวท์ทำงานบริษัทฝ่ายกระจายสินค้าต้องไปอยู่สาขาต่างจังหวัดทางภาคใต้ จึงตัดสินใจลาออกเพื่อดูแลครอบครัว และทำธุรกิจส่วนตัวผลิตเครื่องสำอาง เพาะเลี้ยงสุนัขพันธ์อเมริกันพิทบลูเทอร์เรีย เป็นแม่บ้าน รับส่งลูกชายไปโรงเรียน ดูแลงานบ้าน ดูแลพ่อ แม่ ดูแลเอาใจใส่และปรนนิบัติสามี ทั้งการแต่งกาย บุคลิก อาหารสุขภาพ และให้กำลังใจ ถ้าวันใดที่ชายคนรักจากไปมีความสัมพันธ์กับหญิงแท้ ไวท์บอกว่า “ถ้าวันนั้นมาถึงก็จะขอบคุณที่ให้ได้มีโอกาสใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ขอบคุณที่ดูแลและเป็นกำลังใจอยู่เป็นเพื่อมาเป็นสิบปี”

การสร้างครอบครัวกับความมั่นคงในชีวิตคู่

ความมั่นคงทางด้านสังคม ในปัจจุบันเริ่มมีการยอมรับรูปแบบความสัมพันธ์และการใช้ชีวิตที่หลากหลาย มีกรอบความคิด คำว่า ครอบครัวที่หลากหลาย ซึ่งต่างจากกรอบความคิดพ่อแม่ลูกแบบเดิม ๆ แต่การใช้ชีวิตคู่ของคนที่ไม่ใช่คู่รัก ชาย – หญิง ขาดความมั่นคงในชีวิต แม้ว่า ทะเบียนสมรสไม่ได้รับรองว่า คู่สมรสจะรักกันนานแม้แต่คู่รัก ชาย – หญิง แต่ทะเบียนสมรสจะรับรองสิทธิของคู่รักทุกคู่ และจะทำให้สังคมมองเห็นความหลากหลายทางเพศและความสัมพันธ์ที่หลากหลายได้อย่างครอบคลุม รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศ ที่ถูกลิดรอนสิทธิในหลายมิติ เช่น มิติด้านสวัสดิการสังคม ในการถูกปฏิเสธหรือสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงผลประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ของผู้มีเพศสถานะที่แตกต่าง รวมทั้งของชีวิต การเปลี่ยนคำนำหน้านามในบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางไม่ตรงกับการแต่งกายและบุคลิกท่าทาง

ความมั่นคงทางด้านกฎหมาย ในมิติด้านครอบครัว การแต่งงาน และการมีลูก ยังไม่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานของชายรักชาย กีดกันเรื่องการให้รับบุตรบุญธรรม มิติด้านบริการประกันและการเงิน คู่ชีวิตคนข้ามเพศถูกปฏิเสธหรือจำกัดการได้รับความมั่นคงทางสังคมหรือการประกันชีวิตอันเนื่องมาจากเป็นความสัมพันธ์เพศเดียวกันปฏิเสธไม่ให้คนที่มีชีวิตคู่เพศเดียวกันเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือไม่ให้เป็นผู้กู้ร่วม เพราะถือว่า ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด และคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมในการได้รับสินสมรสจากการใช้ชีวิตคู่กับคนเพศเดียวกัน การแยกและกีดกันคนข้ามเพศออกจากงานในระบบ ถึงแม้จะมีความสามารถ มักต้องจำยอมกับทางเลือกอันจำกัดในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ในอาชีพไม่กี่อาชีพที่ยอมรับคนข้ามเพศ เช่น ช่างแต่งหน้า พนักงานขายเครื่องสำอาง พนักงานนวด สปา เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น[10]

สิ่งเหล่านี้กระทบกับการดำเนินชีวิตของครอบครัวไวท์ไม่มาก ด้วยมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และมีความคิดในเชิงบวกจนไม่หวั่นไหวกับการถูกลิดรอนสิทธิในหลายมิติ ไวท์ไม่ได้เดือนร้อนกับการที่ไม่ได้เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจากนายไปเป็นนางสาวหรือนาง แม้แต่ชื่อจริงตามบัตรประชาชนยังใช้ชื่อเดิมที่พ่อแม่ตั้งให้ ไวท์เล่าว่าเวลาที่ไวท์ติดต่อราชการหรือเอกชนที่ต้องแสดงบัตรประชาชนเจ้าหน้าที่จะถามเสมอว่า ทำไมไม่เปลี่ยนชื่อให้เป็นผู้หญิง ไวท์ให้ความเห็นว่า ถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อเป็นผู้หญิง ไวท์ให้ความเห็นว่า ถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อเป็นผู้หญิงก็ยังเป็นกะเทยเหมือนเดิม แต่ถ้ากฎหมายรับรองสถานะอัตลักษณ์ออกมาก็จะพิจารณาถึงความสำคัญของประโยชน์ว่า เกี่ยวข้องด้านใดบ้าง ถ้าจำเป็นก็จะเปลี่ยน ไวท์มองว่า การที่ได้เกิดเป็นคนไทยถือเป็นความโชคดีมีอิสระ มีเสรีภาพแห่งการใช้ชีวิตอย่างที่ปรารถนาจะเป็นอยากผ่าตัดแปลงเพศก็ผ่าได้ อยากเสริมหน้าอกก็ทำได้ ถ้าเกิดเป็นคนประเทศอื่นบางประเทศ การมีอัตลักษณ์ข้ามเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน อาจถูกแขวนคอประจานได้ หลักสำคัญ คือ “ความภาคภูมิใจ และการยอมรับตนเอง” เมื่อเลือกที่จะเป็นแล้วต้องยอมรับในตัวตน ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ เพศวิถีใด ปราศจากความรู้สึกอัดอั้นทุกข์ทน คับแค้นใจจากการเลือกปฏิบัติของคนในสังคม ถึงแม้ถูกสังคมวัฒนธรรมตีตราว่าสาวประเภทสอง

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจการเงิน การยอมรับตนเองว่า เป็นกะเทยหรือสาวประเภทสอง อันนำไปสู่ความภาคภูมิใจทำให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ได้ ทำอาชีพอะไรก็ได้ที่เหมาะสมกับความเป็นตัวตนของตนเองแต่ละอาชีพต่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน โดยไม่จำเป็นต้องล้มเลิกหลักเกณฑ์การใช้ชีวิตของตน อะไรที่สุดมือสอยไม่สามารถได้ดั่งใจก็ปล่อยวาง แค่ขาดโอกาสไม่ได้บกพร่องทางความสามารถ ควรอยู่กับปัจจุบันอย่างเป็นสุข พยายามไม่คิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ต่อตนเอง ลูก และครอบครัว ทางด้านการเงินในครอบครัวของไวท์นั้น คนรักของไวท์บอกว่า “ไม่มีหรอกที่ กะเทยจะทิ้งผู้ชายก่อน มีแต่ผู้ชายจะทิ้งกะเทย ยังงัย ก็ไม่ทิ้งกะเทย” จึงเปิดบัญชีออมทรัพย์ในชื่อของไวท์ นำเงินเดือนทั้งหมดมาฝากเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต มีการวางแผนจัดการแบ่งเป็นเงินเก็บ เงินใช้จ่าย ค่าอาหาร เสื้อผ้า ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าผ่อนรถ ค่าเทอมลูก และเงินสำหรับพักผ่อนท่องเที่ยว ส่วนรายได้ของไวท์ถูกเก็บออมแยกไว้ต่างหาก

วิถีชีวิตของคนข้ามเพศในบริบทการเป็นแม่ – พ่อ และการเลี้ยงดูบุตร

1.การเป็นแม่ – พ่อ ครอบครัวคนข้ามเพศ

การใช้ชีวิตคู่ในสังคมทั่วไปเป็นการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวชายกับหญิง สังคมทั่วไปเชื่อว่า ครอบครัวลักษณะนี้มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจร่วมกันที่สำคัญและนอกเหนือจากความผูกพันทางใจระหว่างคู่ครองก็คือ การมีบุตรจึงมักจะถือว่า ที่สมบูรณ์ คือ พ่อแม่และบุตร ซึ่งหมายถึง การมีผู้คอยให้กำลังใจ เป็นที่ปรึกษา ดูแลเอาใจใส่ เมื่อมีปัญหาต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตจริง ทั้งทางด้านการทำงาน สุขภาพอนามัย และใช้ชีวิตในสังคม สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นปัจจัยหลักของการตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ชาย – หญิง

แต่สำหรับครอบครัวของไวท์นั้น การเพิ่มสมาชิกคนที่สามของครอบครัว หลักงจากที่ได้ใช้ชีวิตคู่กับชายคนรักได้ 1 ปี รุ่นน้องมหาวิทยาลัยตั้งครรภ์ไม่พร้อมกับชายที่มีครอบครัวแล้ว ขณะนั้น มีอายุครรภ์ 4 เดือน ต้องการยุติการตั้งครรภ์ไม่ต้องการเก็บเด็กไว้ มาขอยืมเงินเพื่อไปทำแท้ง ไวท์จึงขอให้ยกเลิกความคิดที่จะทำแท้งแล้วจะเลี้ยงดูเด็กเองเมื่อคลอดแล้ว เพราะผู้เป็นแม่เด็กไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงได้ด้วยสถานการณ์ชีวิตและปัญหาทางการเงิน ไวท์จึงดูแลรุ่นน้องพาไปฝากครรภ์ให้อาศัยอยู่ที่บ้านดูแลเรื่องที่อยู่ที่กิน พบแพทย์ตรวจครรภ์ตามระยะจนกระทั่งคลอดเป็นเด็กชายกินนมแม่ครบ 3 เดือน ผู้เป็นแม่ก็จากไปใช้ชีวิตตามเส้นทางโดยไม่กลับมาเหลียวแล อีกประเด็นหนึ่งที่ไวท์ให้เหตุผลว่า เพราะเด็กเป็นเพศชายจึงขอรับเลี้ยงเอง ด้วยความที่ใช้ชีวิตคู่เพศเดียวกัน ถึงแม้จะเป็นสาวประเภทสองแต่สำนึกเดิม คือ การเป็นชายที่มีคู่รักเพศเดียวกันและการป้องกันคำครหาจากสังคมถึงความไม่เหมาะสม หากกรณีเด็กเป็นเพศหญิง ทั้งสองรับบทบาทการเป็นแม่ – พ่ออุ้มชูเลี้ยงดูทารกเพศชายตามครรลองของชีวิตจนกระทั่งปัจจุบันลูกชายมีอายุ 9 ขวบ

2.แม่ – พ่อ คู่รักเพศเดียวกันกับต้นแบบทางสังคม

สังคมโดยทั่วไปนั้นมีความเชื่อว่า อิทธิพลของการเลี้ยงดูของครอบครัวจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก โดยเด็กจะดำเนินรอยตามแนวทางของแม่ – พ่อ หรือ มีแม่ – พ่อ เป็นบุคคลต้นแบบ (role model) ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยจนเป็นที่มาของฐานคิดสำคัญเรื่องครอบครัวที่ว่า ครอบครัวที่ดีต้องประกอบด้วย ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นพ่อ (เพศชาย) และมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแม่ (เพศหญิง) ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก ๆ ได้ ฐานคิดดังกล่าวทำให้สังคมเกิดความหวั่นวิตกและคัดค้านต่อการเป็น พ่อ – แม่ หรือการรับบุตรบุญธรรมของคู่รักร่วมเพศด้วยกังวลว่า การเป็น พ่อ – แม่ของเด็กดังกล่าวแท้จริงแล้วเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าของคู่รักร่วมเพศที่ต้องการจะชักจูงให้เด็กนั้นเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่มของตน อีกทั้งวิถีการอุ้มชูดูแลการเป็น พ่อ – แม่ ของคู่รักร่วมเพศที่มีเพศภาวะ (gender) และเพศวิถี (sexuality) แตกต่างจากคนหมู่มากนั้น จะทำให้เด็กสับสนเกี่ยวกับเพศภาวะ และเพศวิถีของตน และจะดำเนินรอยตามแนวทางของ พ่อ – แม่ รักร่วมเพศของตนกลายเป็นคนรักร่วมเพศไปในที่สุด[11]

แต่สำหรับวิธีการเลี้ยงดูลูกของไวท์และคนรักในฐานะพ่อแม่ที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกันนั้นไม่ได้แตกต่างจากวิธีการเลี้ยงลูกโดยพ่อแม่รักต่างเพศ เพียงแต่ต้องใส่ใจในประเด็นที่ละเอียดอ่อนเพิ่มภูมิคุ้มกัน มีความทุ่มเทใส่ใจในปัญหาการที่เด็กที่อยู่ในครอบครัวพ่อแม่เพศเดียวกัน (single – sex family) หรือการมีผู้ปกครองเพศเดียวกัน (same – sex parents) อาจจะถูกตีตราจากโรงเรียนและสังคม เป็นการเพิ่มความกดดันที่ส่งผลร้ายต่อเด็ก ลูกชายในวัย 9 ขวบของไวท์ ที่ผ่านมา รูปแบบการตีตราที่ได้รับจากเพื่อนในโรงเรียน มักเป็นการล้อเลียนด้วยคำพูดหรือการตั้งคำถามจากกลุ่มเพื่อนช่วงเวลาแม่ไปรับส่งที่โรงเรียน เช่น “มีแม่เป็นกะเทย เสียงเหมือนกะเทยในละครโทรทัศน์” ทำไมแม่ตัวสูงใหญ่เหมือนผู้ชาย” ความเดียงสาของลูกชายที่ยังไม่เข้าใจว่ากะเทยคืออะไร เพียงแต่รู้ว่ากะเทยในละครโทรทัศน์มีลักษณะน้ำเสียงเหมือนแม่ และยอมรับว่า มีแม่เป็นกะเทย ในเย็นวันที่กลับมาจากโรงเรียนแล้วรีบบอกกับแม่ว่า “แม่ แม่ งานเข้าแล้ว เพื่อนที่โรงเรียนรู้แล้วว่า แม่เป็นกะเทย ทำงัยกันดี” จากนั้น ใช้ชีวิตตามประสาเด็กปกติไม่ทุกข์ใจไม่อับอาย ด้วยความที่ไม่เคยพบผู้เป็นแม่ที่แท้จริง รู้เพียงว่า แม่คือ “ไวท์” แต่สำหรับผู้เป็นแม่ มีวิธีการคิด และการปกป้องสิทธิไม่ให้ลูกรู้สึกว่า ได้รับการดูถูกเหยียดหยามด้วยคำพูดล้อเลียนหรือคำถามตอกย้ำและผลิตซ้ำอคติที่สร้างความอึดอัดคับข้องใจ สร้างความอับอาย ด้วยการให้พ่อเป็นฝ่ายไปรับส่งลูกที่โรงเรียนแทน ไวท์คิดไว้แล้วว่า ในภายภาคหน้าเมื่อลูกชายเติบโตเจริญวัยขึ้นจะอธิบายให้ลูกมีความเข้าใจในเพศสรีระ เพศภาวะและเพศวิถีของผู้เป็นแม่

อีกทั้งอุปสรรคอันเกิดจากข้อจำกัดในทางกฎหมายเรื่องการรับบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตข้ามเพศ ทำให้ไวท์และคนรักมีสถานะเป็นเพียงผู้ปกครองของลูก โดยมีสำเนาสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไว้สำหรับแสดงตัวตนของลูกในการติดต่อราชการ การเข้าโรงเรียน และได้ปรึกษาศูนย์ประชาบดีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาสังคมและการดำรงชีวิตครอบครัวของประชาชนถึงการรับเลี้ยงบุตร โดยให้คำแนะนำว่าควรมีบันทึกการแจ้งความ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการลักพาตัวเด็ก ถ้าผู้เป็นแม่ทำการฟ้องร้องในภายหลัง เพราะหญิงที่คลอดบุตรมีสิทธิในความเป็นแม่ตามกฎหมาย แม่ย่อมชัดแจ้งเสมอ ไวท์คิดว่า ถือเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่กับการได้ให้ชีวิตแก่เด็กคนหนึ่ง อบรมเลี้ยงดูอุ้มชูอย่างใกล้ชิดให้เติบโตทั้งทางร่างกาย จิตใจ และมีพัฒนาการได้รับการปกป้องและคุ้มครองดูแลอย่างอบอุ่นท่ามกลาง ตา ยาย ลุง ให้ได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรี และประสบความสำเร็จในเรื่องเรียน หน้าที่การงาน หาเลี้ยงตนเองได้ อนาคตถ้าผู้เป็นแม่ที่แท้จริงต้องการเด็กคือนก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกชาย

จากการศึกษาของเฉลิมขวัญ เมฆสุข และพิทักษ์ ศิริวงศ์ ได้ศึกษาคนข้ามเพศ : การใช้ชีวิตคู่ การสร้างครอบครัว และการเลี้ยงดูบุตร ได้อธิบายผลการศึกษาว่า

  1. การใช้ชีวิตคู่ของคนข้ามเพศ จากปรากฎการณ์การใช้ชีวิตครอบครัวของไวท์ แสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งของการอยู่ร่วมกันแบบคู่ชีวิต ซึ่งมีรากฐานมาจากความรักที่แท้จริง และความห่วงในดูแลซึ่งกันและกัน สามารถเอาชนะกฎจารีตประเพณีที่ถูกกะเกณฑ์โดยสังคม กล่าวคือ เริ่มได้รับการยอมรับจากสังคม มีความสามารถในการเลี้ยงชีพที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตและไม่ได้ต้องการสร้างปัญหาเรียกร้องการสนับสนุนจากทางภาครัฐในรูปของสวัสดิการ แต่อย่างไรก็ตาม ในด้านการปฏิบัติแล้ว แสร้างทำเหมือนกับว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นและไม่เห็นความสำคัญของกฎหมายที่เป็นอุสรรคขวางกั้น และส่งผลถึงวิถีชีวิตอีกด้านหนึ่งที่ต้องมีส่วนพัวพันกับกฎหมายในเรื่องความคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการสังคม การสยบยอมต่อกรอบความคิดของสังคมที่ว่า การรักเพศเดียวกันนั้นไม่สามารถเป็น “ความปกติ” ไม่เชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริงที่คู่ชีวิตเพศเดียวกันต้องสามารถมีสิทธิในกฎหมาย ได้รับสิทธิและหน้าที่จากการจดทะเบียน ถ้าการมองว่า การจดทะเบียนคู่ชีวิตเพื่อบุคคลหลากหลายทางเพศเป็นสิทธิของบุคคล สามารถทได้เป็นเรื่อง “ปกติ” จะเป็นการขยายขอบเขตของคำว่า “ครอบครัว” ของคู่ชีวิตเพศเดียวกันให้มีความยั่งยืน เข้าถึงสิทธิและหน้าที่จากการจดทะเบียน เข่น สิทธิการกู้ร่วม สิทธิสวัสดิการคู่ชีวิต สิทธิการให้คำยินยอมการรักษาพยาบาล สิทธิการรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการฟ้องร้องค่าเลี้ยงดู เหมือนกับพลเมืองคนอื่น ๆ
  2. การสร้างครอบครัวของคนข้ามเพศ มนุษย์มีสิทธิกำหนดเจตจำนงเสรี (free will) ในวิถีชีวิต และเป็นสิทธิของมนุษย์ที่จะใช้วิถีชีวิตทางเพศที่ตนเองต้องการ การที่คนเกิดมา และเลือกทางเดินชีวิตทางเพศที่แตกต่างจากความคาดหวังของสังคม จึงถือเป็นอิสรภาพเสรีภาพในการดำเนินชีวิต คนรักเพศเดียวกันมีตัวตน และดำรงอยู่ในสังคมเป็นสถาบันครอบครัว แต่กรอบความคิดที่แคบ และมืดบอด เชื่อว่า ครอบครัวคนข้ามเพศไม่ใช่ของแท้ เพราะหากมองตามเพศสรีระ มนุษย์ก็มีเพียงสองเพศ คือ ชายกับหญิง และเมื่อมาผนวกเข้ากับความคิดที่ว่า มนุษย์มีหน้าที่ต้องสืบพันธ์ทำให้มองเห็นเพียงว่า ชายและหญิงต้องสืบพันธ์ทำให้มองเห็นเพียงว่า ชายและหญิงต้องเกิดมาคู่กันเพื่อผลิตทายาทให้สังคม ความคิดนี้ได้กลายเป็นความเชื่อกระแสหลักในสังคม และได้กลบความจริงข้ออื่น ๆ ไป การทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดในสังคม จะพบว่า มนุษย์ในสังคมมีความหลากหลาย และมีมากกว่าความเป็นเพศหญิงและเพศชาย หากยังมีชีวิตครอบครัวคนข้ามเพศของไวท์ที่เมื่อเริ่มต้นแล้วก็มีการดำเนินไปตามครรลอง เช่นเดียวกับปรากฎการณ์ทางธรรมชาติทั่วไปเหมือนกับชีวิตครอบครัวของคนต่างเพศ คู่ชีวิตที่มาเริ่มต้นใช้ชีวิตร่วมกันดำเนินชีวิตไปด้วยกันจวบจนตายจากกันไปหรือจากลากันตามวาระอันควรอันเป็นวัฏจักรชีวิตครอบครัว (family life cycle) มีความสัมพันธ์กันอย่างดี มีความรักใคร่ห่วงใย เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในยามที่เกิดปัญหา ยามที่มีความทุกข์ ความเจ็บป่วยการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การดูแลทั้งยามสุขและยามทุกข์ การทำความรู้เข้าใจวัฏจักรชีวิตครอบครัว จะทำให้เตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงของวัฏจักรชีวิตครอบครัว ปรับตัวที่จะมีชีวิตได้อย่างมีความสุข รักษาความสมดุลในครอบครัวให้เกิดขึ้นได้ และนำพาครอบครัวพัฒนาไปตามขั้นตอนของชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข
  3. การเลี้ยงดูบุตรของคนข้ามเพศ คำว่า ครอบครัวนั้นตามความเข้าใจแต่เดิมจะ “สมบูรณ์” พร้อมต้องประกอบด้วย อย่างน้อยสามบุคคล คือ พ่อ แม่และลูก ซึ่งความเป็นจริงแล้วครอบครัวมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว หลานอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย และครอบครัวแบบพ่อแม่เพศเดียวกัน ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผานมาสังคมไทยมีการเรียนรู้ปรับเปลี่ยน และยอมรับในความแตกต่างมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงบริบทโลก และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างค่านิยมในสังคมไทยเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมวัฒนธรรมความคิด ความเชื่อในหลายประการ ทำให้สังคมไทยเริ่ม “มองเห็น” ในความหลากหลาย หรือความเป็นอื่นในสังคมมากขึ้น ทั้งความหลากหลายในด้านมิติทางเพศ หรือการนิยามรูปแบบใหม่ของคำว่า “ครอบครัว”[12] ความสัมพันธ์เพศเดียวกันอาจมองเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ยั่งยืน และเป็นเพียงแค่ระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังถูกสังคมมองว่า เป็นความสัมพันธ์ที่ผิวเผิน และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพัฒนาไปให้ยั่งยืนได้ การแต่งงานของบุคคลรักเพศเดียวกัน และการมีครอบครัว รวมถึงการรับเลี้ยงเด็กเป็นลูกบุญธรรม โดยคู่ที่เป็นเพศเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่ขัดกับจารีตทั่วไปนั้น ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในสังคมไทยภายใต้กฎหมายที่ไม่ได้มีระบุไว้ และไม่ได้รับการยอมรับจากขนบธรรมเนียมตามมาตรฐานของครอบครัวไทยดั้งเดิม[13]

ซึ่ง สรุปไว้ว่า ข้อมูลทั่วไปของผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ คนข้ามเพศจากชายเป็นหญิงที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว และเปิดเผยตนเองว่า เป็นคนข้ามเพศ ด้วยการเข้าถึงเรื่องราวชีวิตคนข้ามเพศในประเด็นการใช้ชีวิตคู่ การสร้างครอบครัว และการเลี้ยงดูบุตรของคนข้ามเพศ การดำรงชีวิตทางสังคมของครอบครัวคนข้ามเพศที่ไม่ได้มีชีวิตสอดคล้องกับต้นแบบที่ถูกเรียกว่า ครอบครัวปกติ จากการทำความเข้าใจความหมายของครอบครัวให้ทันสถานการณ์ปัจจุบันโดยไม่ต้องยึดติดกับคำว่า “สมบูรณ์ มากเกินไป เพราะส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ถูกยกมาอ้างว่า เป็นที่มาของต้นแบบให้เด็กสับสนเรื่องเพศภาวะ คือ เรื่องครอบครัวไม่สมบูรณ์จากแนวคิด และแนวปฏิบัติในเชิงขั้วตรงข้ามที่ถูกสร้างขึ้นมาในสังคม ไม่ว่าจะเป็นระหว่าง “ธรรมชาติ” “ไม่เป็นธรรมชาติ” “ปกติ” “วิปริต” “เหมาะสม” “ไม่เหมาะสม” ด้วยการอ้างถึงครอบครัวที่มีพ่อ – แม่ที่ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก อันจะส่งผลให้ลูกเบี่ยงเบนทางเพศเป็นการตีตรา ผลิตซ้ำ ตอกย้ำสร้างความเป็นอื่นให้กับครอบครัวคนข้ามเพศครอบครัวมีพ่อแม่แบบไหนก็อบอุ่นได้ และไม่ว่าครอบครัวแบบไหนลูกหลานก็มีโอกาสที่จะรับรู้ตัวตนของตนเองว่า เป็น “กะเทย” ได้เช่นกัน จึงมิใช่พฤติกรรมการเลียนแบบจากการที่มีพ่อแม่เพศเดียวกัน แต่อย่างใด ดังนั้น ความเป็นแม่และการเลี้ยงดูลูกนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ หากแต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบ และการทำบทบาทหน้าที่ในการดูแลครอบครัว การมีพ่อแม่เพศไหนก็ไม่ต่างกัน เด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่รักเพศเดียวกัน คุณภาพชีวิต สุขภาวะ และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก เป็นผลจากความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความเป็นพ่อแม่ ความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงบทบาททางสังคม และวิธีการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวมากกว่าเงื่อนไขขากเพศสถานะ หรือเพศวิถีของพ่อแม่เพศเดียวกัน อีกทั้งยังต้องพบกับปัญหาสถานภาพของคู่ชีวิตที่ไม่มีกฎหมายรับรอง ส่งผลให้ครอบครัวคนข้ามเพศไม่ได้รับสิทธิพื้นฐาน และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่สามารถดำรงชีวิตให้มีคุณภาพ และไม่สามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การเปิดโลกทัศน์ในการรับรู้ เรียนรู้ และสร้างความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางสังคมที่เรียกว่า ครอบครัวคนข้ามเพศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับการเป็น พ่อ – แม่ และการเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวคนข้ามเพศได้ใช้ชีวิต ร่วมกับครอบครัวที่หลากหลายในสังคมได้อย่างมีความสุข

ซึ่งเฉลิมขวัญ เมฆสุข และพิทักษ์ ศิริวงศ์ ได้ศึกษาคนข้ามเพศ : การใช้ชีวิตคู่ การสร้างครอบครัว และการเลี้ยงดูบุตร ได้เสนอแนะไว้ดังนี้

  1. ทางด้านนโยบายและกฎหมาย รัฐบาลควรมีการตรากฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศของกลุ่มคนข้ามเพศ และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ปัจจุบันมีคู่ชีวิตเพศเดียวกันจำนวนมากที่ใช้ชีวิตร่วมกันดั่งครอบครัวคู่รักชายหญิงทั่วไป แต่สถานภาพของคู่ชีวิตกลับไม่มีกฎหมายรับรองไว้ ทำให้บุคคลข้ามเพศไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทั้งในเรื่องสิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีพึงได้ เกิดความไม่เท่าเทียมกันเพราะความแตกต่างทางเพศ หรือการเลือกปฏิบัติโดยเหตุผลเรื่องเพศ การผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข นโยบาย และกฎหมายโดยขยายให้มีการคุ้มครองสิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจากการเลือกปฏิบัติ ด้วยการรับรองสิทธิ และสถานะของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ หมายรวมถึง การกำหนดนิยามของความหลากหลายทางเพศ การเปลี่ยนคำนำหน้านาม การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ การรับรองสถานะของบุคคลผู้แปลงเพศ การรับรองการจัดตั้งครอบครัวของบุคคลเพศเดียวกัน สิทธิในการมีบุตร การรับบุตรบุญธรรม และการห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุในความแตกต่างทางเพศควบคู่ไปกับกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน เพื่อขจัดการตีดตราการเลือกปฏิบัติความไม่เท่าเทียมในสังคม ความรุนแรง และการลิดรอนสิทธิของคนข้ามเพศ
  2. ทางด้านสังคมถึงแม้ว่า การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมให้ยอมรับตัวตนในความหลากหลายทางเพศ หรือการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้รับรองสิทธิของบุคคลข้ามเพศนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาก็ตาม องค์กรภาครัฐภาคประชาสังคมควรเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายเพื่อให้สาธารณชนรับรู้ถึงความชอบธรรม และความปกติของครอบครัวของคู่ชีวิตคนข้ามเพศ ส่งเสริมการยอมรับ ความตระหนักรู้ และความเข้าใจ เกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ และความหลากหลายทางเพศ รวมถึงจัดให้มีศูนย์ให้คำปรึกษา และบริการเพื่อสนับสนุนการสร้างครอบครัวของคู่ชีวิตคนข้ามเพศ[14]

[1][1] มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน, 2552. แม่รับได้ : การยอมรับของครอบครัวที่มีลูกเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายเพศ.

[2] รณภูมิ สามัคคีคารมย์ และเจษฎา แต้สมบัติ, 2556. เรื่องเล่าชีวิตสีรุ้ง. มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ, กรุงเทพฯ.

[3] รัตนวัฒน์ จันทร์อำนวยสุข, คาร์สเทน บาลเซิล และคาร์ลา ลากาตาร์. 2558. การเคารพคนข้ามเพศเปรียบเทียบกับการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ ประสบการณ์ทางสังคมของคนข้ามเพศในประเทศไทย. เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย, กรุงเทพฯ.

[4] วราภรณ์ แช่มสนิท, 2551. รายงานการวิจัยวิธีคิดเรื่อง เพศวิถีของรัฐไทย : ในชุดโครงการวิจัยการสร้าง และจัดการความรู้ด้านเพศวิถีเพศภาวะและสุขภาพทางเพศ. มหาวิทยาลัยมหิดล.

[5] รณภูมิ สามัคคีคารมย์ และเจษฎา แต้สมบัติ, 2556. เรื่องเล่าชีวิตสีรุ้ง. มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ, กรุงเทพฯ.

[6] เพิ่มศักดิ์ วรรลยางกูรและจิตต์ระพี จั่นแก้ว, 2554. ครอบครัวศึกษาและความปลอดภัยในชีวิตฉบับปรับปรุง. สำนักพิมพ์วังอักษร, กรุงเทพฯ.

[7] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2547. ฐานคติเรื่องเพศวิถีในนโยบายเรื่องโรคเอดส์ของรัฐไทย, รัฐศาสตร์สาร 25(3) : 3 – 4.

[8] สิทธิพันธ์ บุญญาภิสมภาร, รณภูมิ สามัคคีคารมย์ และพิมพวัลย์บุญมงคล, 2551. รายงานการวิจัยชีวิต ตัวตน และเรื่องเพศองสาวประเภทสอง : ในชุดโครงการวิจัยการสร้างและจัดการความรู้ด้านเพศวิถี เพศภาวะ และสุขภาพทางเพศ. มหาวิทยาลัยมหิดล.

[9] สิทธิพันธ์ บุญญาภิสมภาร, รณภูมิ สามัคคีคารมย์ และพิมพวัลย์บุญมงคล, 2551. รายงานการวิจัยชีวิต ตัวตน และเรื่องเพศองสาวประเภทสอง : ในชุดโครงการวิจัยการสร้างและจัดการความรู้ด้านเพศวิถี เพศภาวะ และสุขภาพทางเพศ. มหาวิทยาลัยมหิดล.

[10][10] บุษกร สุริยสาร, 2557. อัตลักษณ์และวิถีทางเพศในประเทศไทย (โครงการส่งเสริมสิทธิความหลากหลาย และความเท่าเทียมในลโลกของการทำงาน (PRIDE)). องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, กรุงเทพฯ.

[11] สุกฤตยา จักรปิง, 2559. การเป็นแม่พ่อและการรับบุตรบุญธรรมของคู่รักร่วมเพศ อุดมการณ์ครอบครัวและมลทินสังคม : อคติของสังคมต่อคู่รักร่วมเพศ.

[12] รณภูมิ สามัคคีคารมย์และเจษฎา แต้สมบัติ, 2556.เรื่องเล่าชีวิตสีรุ้ง. มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ. กรุงเทพฯ.

[13] สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID), 2557. Being LGBT in Asia : รายงานในบริบทของประเทศไทยเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ.

[14] ขอขอบคุณที่มาบทความ คนข้ามเพศ : การใช้ชีวิตคู่ การสร้างครอบครัว และการเลี้ยงดูบุตร โดยเฉลิมขวัญ เมฆสุข และพิทักษ์ ศิริวงศ์ วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย http://rdi.rmutsv.ac.th/rmutsvrj/download/year10-issue1-2561/37.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *